ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทย์พบ สารเคมีสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอาจมาจากอวกาศ


SCIENCE-METEORITES/
SCIENCE-METEORITES/

การศึกษาเกี่ยวกับอุกกาบาตที่ตกลงมาในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐฯ ทำให้นักวิจัยได้พบหลักฐานเพิ่มเติมว่า หินจากอวกาศอาจนำพาสารเคมีหลายชนิดมายังโลก ซึ่งช่วยให้กำเนิดชีวิตบนโลกมนุษย์

การศึกษาวิจัยอุกกาบาตในอดีตที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าหินจากอวกาศมีองค์ประกอบทางเคมีสามในห้าชนิดที่จำเป็นต่อการสร้าง DNA ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ควบคุมชุดคำสั่งทางพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต และ RNA ซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีความสำคัญต่อการทำงานของยีน

นักวิจัยกล่าวว่า พวกเขาสามารถระบุสารเคมีสองชนิดสุดท้ายได้แล้วเมื่อไม่นานมานี้

ข้อมูลดังกล่าวมาจาก ยาสุฮิโระ โอบะ (Yasuhiro Oba) จากสถาบัน Institute of Low Temperature Science ที่ศึกษาปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ภายใต้อุณหภูมิต่ำแห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหัวหน้าการเขียนงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications

แดนนี่ แกลวิน (Danny Glavin) ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษานี้จากศูนย์การบินอวกาศ Goddard ขององค์การอวกาศนาซาในรัฐแมริแลนด์ กล่าวว่า ผลของการวิจัยดังกล่าวได้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าอุกกาบาตอาจเป็นแหล่งสารประกอบอินทรีย์ที่สำคัญ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตชนิดแรกๆ บนโลก

นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่าสารประกอบทางเคมีนั้น รวมตัวกันเพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตที่สามารถสืบพันธุ์ได้เองได้อย่างไร และการก่อตัวของ DNA และ RNA จะเป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากโมเลกุลเหล่านี้ประกอบไปด้วยชุดคำสั่งในการสร้างและการทำงานของสิ่งมีชีวิต

แกลวินกล่าวต่อไปว่า ยังต้องมีการเรียนรู้อีกมากมายเกี่ยวกับขั้นตอนทางเคมีที่นำไปสู่ต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก และว่างานวิจัยฉบับนี้ได้เพิ่มรายชื่อสารประกอบเคมีที่น่าจะมีอยู่แล้วบนโลกก่อนที่จะมีการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

นักวิจัยตรวจสอบวัตถุจากอุกกาบาตสามลูก โดยลูกแรกตกที่ใกล้ๆ กับเมืองเมอร์เรย์ (Murray) ในรัฐเคนตักกี้ของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 1950 ส่วนอีกลูกตกที่ใกล้ ๆ กับเมืองเมอร์ชิสัน (Murchison) ในรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลีย ในปี ค.ศ. 1969 และอุกกาบาตลูกสุดท้ายตกลงมาในปี ค.ศ. 2000 ใกล้ๆ กับทะเลสาบแทกิช (Tagish) ในบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา

อุกกาบาตทั้งสามลูกนี้มีลักษณะที่เป็นหินที่อุดมไปด้วยคาร์บอน ซึ่งคาดว่าจะก่อตัวขึ้นในช่วงเริ่มต้นของระบบสุริยะ โดยอุกกาบาตที่เมอร์ชิสันและเมอร์เรย์ประกอบไปด้วยคาร์บอนอินทรีย์ราว 2% ของน้ำหนักมวลรวม และอุกกาบาตที่ทะเลสาปแทกิชมีคาร์บอนอินทรีย์อยู่ประมาณ 4% ซึ่งคาร์บอนเป็นส่วนประกอบหลักของสิ่งมีชีวิตบนโลก

นอกจากนี้แล้ว อุกกาบาตทั้งสามลูกยังมีส่วนผสมของโมเลกุลอินทรีย์ที่ซับซ้อนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการระบุชนิดของสารเคมีเหล่านั้นแต่อย่างใด

โลกของเราก่อตัวขึ้นมาเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีก่อน ในช่วงแรกๆ โลกถูกอุกกาบาต ดาวหาง และวัตถุอื่น ๆ จากอวกาศพุ่งเข้าชน ขณะที่สิ่งมีชีวิตชนิดแรก ๆ ที่ถือกำเนิดบนโลกก็คือจุลินทรีย์ธรรมดา ๆ ในท้องทะเล อ้างอิงจากซากฟอสซิลเก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบ คือ จุลินทรีย์ในทะเลที่มีอายุประมาณ 3,500 ล้านปีก่อน

สำหรับส่วนประกอบทางเคมีสองชนิดที่ค้นพบในการศึกษาครั้งล่าสุดนั้น มีชื่อเรียกว่าไซโตซีน (cytosine) และไทมีน (thymine)

อย่างไรก็ตาม สารประกอบทั้งห้าไม่ใช่สารเคมีเพียงกลุ่มเดียวที่มีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ ทีมีความจำเป็น ซึ่งได้แก่ น้ำตาล กรดไขมัน และกรดอะมิโน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโปรตีนและเอนไซม์ต่าง ๆ

โอบะแห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโดกล่าวทิ้งท้ายว่า ผลการศึกษาในปัจจุบันอาจจะช่วยอธิบายจุดเริ่มต้นของชีวิตบนโลกได้ไม่ตรงเป้านัก แต่ก็ช่วยให้เข้าใจว่าโมเลกุลอินทรีย์บนโลกคืออะไรในยุคแรกก่อนที่ชีวิตจะก่อกำเนิดขึ้นมา

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG