นาย สตีฟ มาร์แชล เจ้าหน้าที่ฝ่ายการติดต่อประสานงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO ในพม่ากล่าวว่า ในช่วงสามปีที่ผ่านมา มีการดำเนินงานขั้นที่ทรงความสำคัญอย่างเป็นแก่นเป็นสารไปในทางที่จะช่วยกำจัดการบังคับใช้แรงงานในพม่า การดำเนินงานที่ก้าวหน้าไปมากที่สุดคือในด้านองค์การภาคเอกชนและหน่วยบริหารงานพลเรือน
เขากล่าวว่า รัฐบาลพม่าตรากฎหมายซึ่งระบุว่าการใช้แรงงานเยี่ยงทาสผิดกฎหมาย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการดำเนินงานขั้นที่สำคัญขั้นแรก รัฐบาลดำเนินการอบรมในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ทหารเพื่อให้ทราบกฎหมายและความรับผิดชอบตามตัวบทกฎหมาย
รัฐบาลทหารพม่าบังคับใช้แรงงานมาช้านานตั้งแต่การสร้างถนนผ่านป่าดงเพื่อใช้เป็นเส้นทางสำหรับส่งยุทโธปกรณ์ของทหาร ที่ร้ายที่สุด มีรายงานว่ามีการบังคับให้คนทำตัวเป็นเครื่องกวาดทุ่นระเบิดบกโดยให้เดินผ่านทุ่งระเบิดบก
กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต่างๆรายงานว่าชาวพม่านับพันๆคนโดนบังคับใช้แรงงานโดยที่เจ้าตัวไม่สมัครใจซึ่งมีเด็กๆและผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย มีการกระทำที่มิชอบต่อคนเหล่านั้นรวมถึงการรุมข่มขืนและการฆ่าฟันพวกเขาด้วย
ในวันพฤหัสบดี นาย สตีฟ มาร์แชล กล่าวที่กรุงเทพมหานครว่า ทางฝ่ายบริหารงานภาคพลเรือนนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวคืบหน้าไปอย่างดีทีเดียว แต่ทางฝ่ายทหารนั้นยังไม่มีเครื่องบ่งชี้ว่าว่าลดการบังคับใช้แรงงานลงแต่อย่างใด
เรื่องหนึ่งที่แสดงว่าการแก้ปัญหาข้างต้นก้าวหน้าไปก็คือการมีระบบที่อนุญาตให้พลเมืองร้องเรียนต่อ ILO ได้ รายงานฉบับใหม่ของ ILO ระบุว่า ขณะนี้ รัฐบาลพม่าปลดทหารผู้มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ออกจากประจำการอยู่เป็นประจำถ้ามีการยื่นหนังสือร้องเรียน
กลุ่มชนเผ่าต่างๆที่ติดอาวุธบางกลุ่มก็เกณฑ์เด็กมาเป็นทหาร และรัฐบาลพม่ายอมให้ ILO ไปเจรจาเพื่อจูงใจให้กลุ่มชนเผ่าดังกล่าวพยายามเลิกทำแบบนั้น
นาย สตีฟ มาร์แชล กล่าวว่ามีการเคลื่อนไหวที่จะร่างกฎหมายแรงงานใหม่ๆเพื่อให้มีการตั้งสหบาลแรงงานหลังจากรัฐสภาใหม่ประชุมกันหลังการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในระยะหลังของปีนี้
นักวิเคราะห์การเมืองทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า รัฐบาลพม่าดูท่าว่าจะใช้แนวพินิจอย่างระมัดระวังในการจัดการกับประเด็นปัญหาแรงงานและเศรษฐกิจก่อนถึงช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง การออกเสียงเลือกตั้งจะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปี และคาดว่านานาประเทศจะเพ่งความสนใจไปที่รัฐบาลพม่า