ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ธุรกิจไทยในอเมริกา ผ่านวิกฤต ‘ล็อคดาวน์’โควิด-19 มาได้อย่างไร?


Los Angeles Business
Los Angeles Business

ภาคธุรกิจในสหรัฐฯกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติแล้วในหลายรัฐ หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส โดยเฉพาะการ ‘ล็อคดาวน์’  เพื่อควบคุมการระบาดของโรคในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา แม้บางกิจการที่ต้องล้มเลิกไป แต่กลับพบว่ากิจการส่วนใหญ่สามารถยืนหยัดและฟื้นตัวกลับมาเปิดทำการได้

“แต่ก่อนขอเพอร์มิต (ใบอนุญาต) เผลอๆ จะไม่ได้เสียด้วยซ้ำ บางซิตี้ (เมือง) ไม่ยอมแต่ตอนนี้ทั้งลอส แอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย ยอมแล้ว เพื่อให้ร้านเได้พยุงตัวเองมากขึ้น ได้มีโอกาสในการขายมากขึ้น เพิ่มความจุในการนั่ง”

อรวรรณ กิจจาพิพัฒน์ เลขานุการสภาหอการค้าไทย แห่งแคลิฟอร์เนีย บอกกับ ‘วีโอเอ ไทย’ ถึงนโยบายการเสริมพื้นที่บริการรับประทานอาหารด้านนอกร้าน ซึ่งเคยเป็นเรื่องยากที่จะได้รับอนุมัติจากหน่วยงานท้องถิ่น กลับกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในย่านร้านอาหารสำคัญใจกลางนครลอส แอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ในปัจจุบัน

ผ่อนปรนกฎช่วยพยุงภาคธุรกิจ

นี่คือส่วนหนึ่งของมาตรการลดหย่อน และผ่อนผันกฎระเบียบ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าได้ปรับตัวและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้สภาวะปกติใหม่ ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดเพื่อการคุมเข้มการระบาด ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

“ปกติร้านข้างในจะนั่งได้ 20 คนใช่ไหมคะ สมมติว่าอย่างนี้ พอมาเปิดเอาท์ดอร์ ไดนิ่ง (รับประทานอาหารข้างนอก) ข้างนอกไม่ต้องจ่ายค่าเพอร์มิต (ใบอนุญาต) เพิ่มด้วย แต่ก่อนเราต้องขอเพอร์มิตเพิ่มอีกกว่าจะได้เพอร์มิต เพื่อมาเสิร์ฟเบียร์ไวน์เนี่ย จ่ายเงินตั้งเยอะนะคะ ตอนนี้ก็เท่ากับว่าเหมือนกับเป็นอีกเท่าหนึ่งของความจุที่นั่งเดิม ที่ได้เสริมก็ทุกคนมีความสุขมากขึ้น แต่ว่าก็เขาฉีดวัคซีนกันหมดแล้วแล้วก็อย่างว่าเราก็ยังต้องคอยระวังตัวอยู่ดี” เลขานุการสภาหอการค้าไทย แห่งแคลิฟอร์เนีย กล่าว

Restaurant
Restaurant

ธุรกิจไทยในอเมริกา กับผลกระทบ 'ล็อคดาวน์'

ตัวแทนจากสภาหอการค้าไทยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในฐานะหน่วยงานช่วยเหลือและดูแลภาคธุรกิจชาวไทยในรัฐแคลิฟอร์เนีย มองย้อนไปถึงช่วงวิกฤตการการระบาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างของภาคธุรกิจจากคำสั่งปิดทำการภาคธุรกิจและบริการ และมาตรการควบคุมหรือ ‘ล็อคดาวน์’ ในหลายระดับ

แต่สิ่งที่ดำเนินการควบคู่กันไปก็ คือ มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ทั้งในเรื่องเงินช่วยเหลือภาคธุรกิจจากรัฐบาลกลาง กองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากทางการท้องถิ่น หรือ การอุดหนุดเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ ในหลายโครงการ ล้วนมีส่วนสำคัญที่ช่วยต่ออายุพยุงธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้

“ตอนนั้นร้านอาหารก็ช๊อคเหมือนกัน เพราะว่าแต่ละร้านก็เตรียมของไว้ สั่งของไว้ แต่พวกเราก็ต้องผ่านกันมาให้ได้แล้วเราก็ผ่านมันมาได้ด้วยการปรับตัวนะคะ ก็เริ่มจากการหลายร้านก็ไม่ให้นั่งในร้านเลย แรกๆไม่ให้เสิร์ฟอะไรเลยด้วยซ้ำ ซึ่งมันก็ตกใจกันทุกคนซึ่งก็เข้าใจแล้วก็เห็นใจกับนักธุรกิจทุกคนนะคะตอนนี้ที่ประสบปัญหาตรงนั้น..

..แต่ว่าตอนนั้นรัฐบาลที่อเมริกาเนี่ยก็เริ่มมีโปรแกรมการช่วยเหลือออกมาทั้งระดับรัฐบาลกลาง แล้วก็มาระดับรัฐ แล้วก็มาระดับท้องถิ่นด้วยมันก็เลยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ การช่วยเหลือเงินตกงานนะคะซึ่งต้องบอกว่าด้วยความที่อเมริกาก็เก็บภาษีหนักก็เลยเขาก็เลยมีเงินตรงนี้ที่จะมาสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือที่อกกลุ้มธุรกิจขนาดเล็ก ก็หวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ดีสำหรับธุรกิจที่เมืองไทย..” อรวรรณ กิจจาพิพัฒน์ เลขานุการสภาหอการค้าไทย แห่งแคลิฟอร์เนีย บอกกับ ‘วีโอเอ ไทย’

ร้านก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็ก สาขานครลอส แอนเจลิส ไม่ไกลจากย่านไทยทาวน์ เป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่

ถ้าเราไม่ได้เงินกู้ พีพีพี เงินช่วยแกรนท์ หรือเงินกู้ที่รัฐบาลให้ ก็คือร้านคงต้องปิดไปแล้ว ...
สมใจ สีตถาวร เจ้าของร้านอาหารก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็ก

“พูดตรงๆ ยอดขายมันก็ตกลงไปช่วงแรกนี่ 60 เปอร์เซ็นต์เลย แล้วก็มันก็ค่อยเหมือนกับ ทุกคนก็อยู่ในช่วงช็อคสเตจ (ภาวะตกใจ) เหมือนเราเองก็ช็อคลูกค้าก็ช็อค พนักงานเราเองเรามาทำงานแล้วก็กลัวโควิคไม่ใช่ไม่กลัว ลูกค้าก็กลัวโควิดใช่ไหมคะก็ต่างคนต่างกลัว ก็เราก็ต้องป้องกันพนักงานเราด้วยว่าไม่ให้พนักงานติดหรือว่าอะไรอย่างนี้แล้ว ก็มีเฟสชีลด์ มีหน้ากากมีทุกอย่างอำนวยให้เขา ถุงมือป้องกันอะไรแบบนี้” สมใจ สีตถาวร เจ้าของร้านอาหารก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็ก บอกกับ ‘วีโอเอ ไทย’

ภาคภูมิ ชลานุเคราะห์ (ขวา) และสมใจ สีตถาวร - เจ้าของร้านอาหารก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็ก
ภาคภูมิ ชลานุเคราะห์ (ขวา) และสมใจ สีตถาวร - เจ้าของร้านอาหารก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็ก

ล็อคดาวน์ ช่วยชีวิต แต่ มาตรการเยียวยา ต่อลมหายใจธุรกิจ

การสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าในมาตรการความปลอดภัยคือสิ่งจำเป็นอันดับแรก เช่นเดียวกับการปรับรูปแบบธุรกิจที่ต้องเน้นบริการส่งอาหารตามบ้านให้มากขึ้น แต่สิ่งที่ช่วยต่อลมหายใจให้ดำเนินกิจการได้คือมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ

“เริ่มเลยก็มีกองทุนช่วยเหลือ (แกรนท์) แบบให้เปล่าให้ภาคธุรกิจทุกร้านเลย เป็นเงินฟรี อันที่สองคือเงินกู้ พีพีพี (PPP- Paycheck Protection Program เป็นโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ให้องค์การธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Administration: SBA) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก)

..เงินกู้โครงการ พีพีพี จะขึ้นอยู่กับ เงินค่าจ้าง Payroll ที่เราจ่ายพนักงานไปในปีก่อนหน้านี้ สมมุติว่าเหตุการณ์มันเกิดขี้นในปี ค.ศ. 2019 เขาก็จะเอาข้อมูลในปี ค.ศ.2018 ว่าเราเสียยอด (Payroll) การจ้างพนักงานเราจ่ายไปเท่าไหร่ เขาก็จะให้เรามาเป็น 2.5 เท่า เพื่อที่จะจ่ายพนักงานในปีต่อไป ซึ่งก็ช่วยได้มากเลย ถ้าเราไม่ได้เงินกู้ พีพีพี เงินช่วยแกรนท์ หรือว่าเงินกู้ที่รัฐบาลให้ ก็คือร้านคงต้องปิดไปแล้วค่ะ”

ผู้ประกอบการชาวไทย ย้ำด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาสุขภาพให้รอดพ้นจากโรคระบาด และก้าวผ่านวิกฤตการณ์ด้วยทัศนคติและกำลังใจที่ดี

“คนที่อยู่ที่ทำมาหากินอย่างพวกเราเนี่ยที่เปิดธุรกิจ ก็อยากจะให้กำลังใจ คือสู้ๆอย่าไปท้อยังไงมันท้ายที่สุดเราก็ต้องได้วัคซีนได้แล้วก็ช่วยกันฟันฝ่าไป” ภาคภูมิ ชลานุเคราะห์

ร้านอาหารก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็ก
ร้านอาหารก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็ก

“ก็อยากจะฝากทางคนที่เมืองไทยนะคะว่า คือรักษาตัวเองอย่าให้ไปติดนั่นคือเรื่องที่หนึ่งสำคัญที่สุดใช่ไหมคะ รักษาตัวเองให้ดีๆป้องกันตัวเองให้ดีๆ แล้วก็พยายามอย่าออกไปไหนเพื่อที่จะไม่ต้องติดเชื้อโควิด-19 แล้วก็เรารู้ว่าลำบากแต่ว่าขอให้ทุกคนได้ฉีดวัคซีนกันเร็วๆ แล้วก็จะได้กลับมาแข็งแรงแล้วก็ใช้ชีวิตแล้วจะได้ทำมาหากินได้อาชีพกลับคืนมาให้เป็นปกติแล้วก็ขอเป็นกำลังใจนะคะเห็นใจที่สุด ไม่รู้ว่าจะพูดว่าอะไรแต่ว่าก็ให้กำลังใจค่ะ…" สมใจ สีตถาวร เจ้าของร้านอาหารก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็ก กล่าว

หลายรัฐในอเมริกาเริ่มประกาศเปิดทำการด้านธุรกิจและบริการอย่างเต็มที่อีกครั้งเมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโรค หรือ ล็อคดาวน์ ที่เข้มงวดกับความปลอดภัยด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ยาวนานเกือบ 2 ปี

XS
SM
MD
LG