ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลการวิจัยล่าสุดสร้างความหวังในการรักษาอัลไซม์เม่อร์ส


รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ได้อนุมัติเงินทุนห้าสิบล้านดอลล่าสหรัฐเมื่อเร็วๆนี้ เพื่ออัดฉีดโครงการวิจัยเกี่ยวกับโรคความจำเสื่อมแบบอัลไซมเม่อร์ส ทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่ออกมาเมื่อเร็วนี้ช่วยสร้างความเข้าใจใหม่ถึงสาเหตุและการแพร่กระจายของเซลสมองเสื่อมในคนไข้อัลไซม์เม่อร์ส สร้างความหวังว่าอาจจะสามารถค้นพบวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพได้ในอนาคต

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐที่กำลังพยายามไขปริศนาของสาเหตุโรคความจำเสื่อมแบบอัลไซม์เม่อร์ส ต่างตื่นเต้นกับผลการวิจัยล่าสุดสองชิ้นที่ค้นพบสาเหตุของโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซม์เม่อร์และการแพร่กระจายของเซลสมองเสื่อม


กาย เอคิน ผู้อำนวยการฝ่ายของมูลนิธิ American Health Assistance Foundation ที่ช่วยสนับสนุนโครงการวิจัยหนึ่งในสองโครงการ ที่ค้นพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม กล่าวว่า การวิจัยพบว่าความก้าวหน้าของโรคสมองเสื่อมอัลไซม์เม่อร์เกิดจากแพร่กระจายของโปรตีนผิดปกติชนิดหนึ่งระหว่างเซลสมอง โปรตีนตัวนี้เรียกว่า โปรตีนเทา

คุณกาย เอคิน กล่าวว่า ในสมองของคนเรา เซลสมองที่มีโปรตีนผิดปกติ จะส่งต่อโปรตีนเชื้อโรคนี้ไปสู่เซลสมองเซลอื่นๆเป็นทอดๆต่อไปเรื่อยๆ ทำให้ภาวะสมองเสื่อมแบบอัลไซม์เม่อร์สทรุดลง

เขาบอกว่าในผู้ป่วยโรคสมองเสื่ิอมอัลไซม์เม่อร์ส เนื้อเยื่อสมองจะถูกทำลายต่อกันเป็นทอดๆ ลุกลามในลักษณะก้นหอยที่วนเป็นวงกว้างออกไปเรื่อยๆ กินเข้าไปในสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ตลอดจนสมองส่วนที่ควบคุมระบบประสาทสัมผัส และในท้ายที่สุด ความสามารถทางสมองทั้งหมดจะถูกทำลาย

ส่วนการวิจัยชิ้นที่สอง ที่ค้นพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมอัลไซม์เม่อร์สเช่นกัน ชี้ว่า คนที่ต้องใช้สมองครุ่นคิดเป็นประจำทุกวัน ไม่ว่า จะอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ หรือเล่นเกมส์ฝึกสมอง มีโอกาสสร้างคราบโปรตีนเอ็มมีลอยด์ในสมองน้อยลง โปรตีนนี้เป็นตัวก่อโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซม์เม่อร์ส

ด็อกเตอร์ วิลเลี่ยม เจกัสท์ หัวหน้าทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย University of California ที่Berkeley กล่าวว่า ยิ่งมีการใช้ความคิดมากเท่าไหร่ โอกาสสร้างคราบโปรตีนในสมองสาเหตุของอัลไซม์เม่อร์สก็จะยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าคราบโปรตีนเอ็มมีลอยด์ในสมองเริ่มก่อตัวในสมองของคนตั้งแต่ยังอยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ไม่ได้เกิดกับเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น ต่างจากความเชื่อเดิมๆก่อนหน้านี้

นายแพทย์ไบรอัน แอ็ปโพลบี้ แพทย์รักษาคนไข้โรคสมองเสื่อมแบบไดเม็นเทียแห่งคลีนิค Cleveland และไม่มีส่วนร่วมในงานวิจัย กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าน่าจะสามารถป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมอัลไซม์เมอร์สได้แต่เนิ่นๆ

ส่วนด็อกเตอร์ ฟรานซิส คอลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ เชื่อว่า การวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซม์เม่อร์ค้นพบข้อมูลใหม่ๆที่มีน้ำหนัก แต่วงการแพทย์ต้องใช้เวลาศึกษาอีกนานกว่าจะสามารถเข้าใจโรคสมองเสื่อมอัลไ่ซม์เม่อร์สได้อย่างถ่องแท้

ด็อกเตอร์ ฟรานซิส คอลินกล่าวว่า ผลการวิจัยล่าสุดนี้ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมอัลไซม์เม่อร์สได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีปริศนาเกี่ยวกับโรคนี้อีกมากมายที่ต้องการคำตอบ

วงการแพทย์กำลังตั้งความหวังว่า คำตอบเพิ่มเติมที่กำลังค้นหากันอยู่นี้ อาจจะออกมาหลังเสร็จสิ้นการทดลองใช้ตัวยาห้าสิบถึงแปดสิบตัวในรักษาคนไข้โรคสมองเสื่อมอัลไซม์เม่อร์ส ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างหวังว่ายาหลายตัวที่อยู่ระหว่างการทดลองรักษาน่าจะมีผลช่วยหยุดยั้งหรือชลอการกำเริบของอาการสมองเสื่อม และหากประสบความสำเร็จ คนไข้โรคอัลไซม์เม่อร์สก็จะไม่สิ้นหวังอีกต่อไป

XS
SM
MD
LG