ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คณะวิทยาศาสตร์ต่างชาติในสหรัฐวิจัยว่า ความร้อนจากการใส่อนุภาคแม่เหล็กนาโนในเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งจะฆ่าเซลล์มะเร็งได้ไหม?


คณะวิทยาศาสตร์ต่างชาติในสหรัฐวิจัยว่า ความร้อนจากการใส่อนุภาคแม่เหล็กนาโนในเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งจะฆ่าเซลล์มะเร็งได้ไหม?
คณะวิทยาศาสตร์ต่างชาติในสหรัฐวิจัยว่า ความร้อนจากการใส่อนุภาคแม่เหล็กนาโนในเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งจะฆ่าเซลล์มะเร็งได้ไหม?

นักวิทยาศาสตร์นานาชาติคณะหนึ่งซึ่งมีนักศึกษาไทยผู้กำลังทำปริญญาเอกคนหนึ่งรวมอยู่ด้วยกำลังวิจัยค้นคว้าอยู่ที่มหาวิทยาลัย Virginia Tech รัฐ Virginia เพื่อให้ทราบว่า การใช้อนุภาคนาโนในสนามแม่เหล็กเพื่อทำลายเนื้องอกที่เป็นมะเร็งอาจเป็นวิธีบำบัดรักษาที่มีประโยชน์และทรงประสิทธิภาพหรือไม่?

การใช้ความร้อนทำลายเซลล์เป็นๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การนำความคิดดังกล่าวมาใช้ในทางการแพทย์มีเรื่องที่ท้าทายอยู่ประการหนึ่งคือ การทำลายเซลล์ที่เป็นมะเร็งโดยไม่ไปทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ใกล้เคียง

ศาสตราจารย์ อิชวา ปูรี (Ishwar Puri) ที่มหาวิทยาลัย Virginia Tech อธิบายให้ฟังว่า ใครก็ตามที่พยายามต้มน้ำร้อนจะรู้ดีว่า เมื่อกาต้มน้ำร้อนขึ้นมา น้ำในกาก็จะร้อนด้วย ดังนั้น ถ้าเราทำให้เนื้อเยื่อร้อนขึ้นมา เรื่องที่ท้าทายก็คือว่าเนื้อเยื่อที่อยู่รายรอบก็จะพลอยร้อนตามไปด้วยเช่นกัน วิธีขจัดเรื่องที่ท้าทายอยู่นั้นมีอยู่หลายวิธี

อาจารย์ อิชวา ปูรี กล่าวว่า แนวทางที่เขาใช้ในการขจัดเรื่องที่ท้าทายอยู่นั้นก็คือ เอาอนุภาคนาโนแม่เหล็กใส่เข้าไปในเซลล์ที่เป็นมะเร็ง และว่าการใส่อนุภาคเล็กระจิ๋วหลิวเข้าในเนื้องอกทำได้หลายวิธี แต่จะต้องไม่ให้เข้าไปในเซลล์ที่อยู่รายรอบ

อาจารย์ อิชวา ปูรี กล่าวว่า วิธีที่ว่านี้ทำให้เกิดเขตสองเขต เขตหนึ่งคือเขตที่จะสนองรับสนามแม่เหล็ก และอีกเขตหนึ่งจะไม่สนองรับ ตามหลักฟิสิกส์ ถ้าเราเอาสนามแม่เหล็กใส่ในอนุภาคแม่เหล็ก เราจะทำให้อนุภาคเหล่านั้นร้อนขึ้น ดังนั้น เมื่อเรามีเขตสองเขตอย่างนี้ เราสามารถทำให้เขตหนึ่งร้อนโดยไม่ทำให้อีกเขตหนึ่งร้อนไปด้วย

ตามทฤษฎีนั้น ความร้อนที่เกิดจากอนุภาคนาโนจะทำลายเซลล์มะเร็ง แต่จะไม่กระทบเซลล์ปกติที่อยู่รายรอบ

ในการเสนอผลของการวิจัยค้นคว้าดังกล่าวต่อที่ประชุมของสมาคม American Physical Society ซึ่งจัดขึ้นใกล้ๆ กับนครลอส แอนเจลิส เมื่อไม่กี่วันมานี้ และลงเป็นบทความในวารสารสองฉบับเมื่อเร็วนี้ คณะนักวิจัยซึ่งมีอาจารย์ อิชวา ปูรี เป็นหัวหน้าบรรยายถึงความเพียรพยายามในด้านคณิตศาสตร์และการทดลองที่กำลังทำอยู่ เพื่อกำหนดว่าวัตถุอะไรดีที่สุดสำหรับอนุภาคนาโนและควรเล็กซักขนาดไหน คำตอบก็คือ ควรมีขนาดเล็กราวๆ 10 นาโนมิเตอร์ (nanometer)

อาจารย์ อิชวา ปูรี กล่าวว่า ถ้าการทดลองประสบความสำเร็จ การบำบัดรักษาด้วยวิธีดังกล่าวจะเหมาะที่สุดกับโรคเนื้องอกบางชนิดที่เข้าถึงเนื้องอกได้อย่างเช่น มะเร็งในสมอง ที่เต้านม และมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก อาจารย์ อิชวา ปูรี กล่าวเสริมว่า ถึงแม้การบำบัดรักษาด้วยความร้อนนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้นำมาใช้ในฐานะเป็นวิธีการหลักสำหรับบำบัดโรคมะเร็งในอนาคตอันใกล้ก็ตาม แต่แพทย์คงจะใช้วิธีบำบัดที่ว่านี้ควบคู่กันไปกับวิธีบำบัดรักษาที่ใช้กันอยู่ ซึ่งรวมถึงการผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด

ทีมนักวิจัยของอาจารย์ อิชวา ปูรี รวมถึงนักวิจัยของมหาวิทยาลัยจาดาฟปุระ เมืองโกลกาตา ประเทศอินเดียและนักศึกษาขั้นปริญญาเอกจากประเทศไทย

XS
SM
MD
LG