นักวิทยาศาสตร์รู้จักโรค Laron Syndrome มานานแล้ว และรู้ว่ามีผู้เป็นโรคนี้ทั่วโลกอยู่ราว 250 คนเท่านั้น Laron Syndrome ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตอย่างผิดปกติซึ่งเป็นผลจากการกลายพันธุ์ของยีนควบคุมการเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีร่างกายแคระแกร็นผิดปกติ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าคนแคระในเอกวาดอร์ซึ่งเป็นโรค Laron Syndrome ร่างกายจะผลิตสารชนิดหนึ่งที่คล้ายสารอินซูลินเรียกว่า IGF1 ออกมาในระดับต่ำกว่าคนปกติ สารดังกล่าวทำหน้าที่ควบคุมการเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ทำให้ร่างกายเติบโตได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม รายงานชี้ว่าการมีระดับสาร IGF1 ในร่างกายสูงเกินไปอาจมีผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหรือโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
การศึกษาพบว่าสิ่งมีชีวิตที่มีระดับสาร IGF1 ต่ำจะมีโอกาสมีอายุยืนยาวกว่า และอาจมีภูมิต้านทานโรคมะเร็งหรือโรคเบาหวานสูงกว่า ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะเป็นเชื้อรา หนอน หนูหรือแม้แต่คน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คนแคระในเอกวาดอร์กลุ่มนี้แทบไม่มีใครเป็นโรคมะเร็งหรือโรคเบาหวานเลย
ที่ผ่านมามีรายงานหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า การที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนกระตุ้นการเติบโตสูงเกินไป จะมีผลให้เกิดโรคร้ายต่างๆได้ง่ายและมีอายุสั้นกว่าคนปกติ และรายงานบางชิ้นทำการทดลองกับหนูพบว่าเมื่อหนูมีระดับฮอร์โมนดังกล่าวน้อย หนูทดลองนั้นจะมีอายุยืนยาวกว่าเดิมราว 40%
นักวิจัยเชื่อว่าหากสมมติฐานดังกล่าวเป็นจริง ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์น่าจะสามารถพัฒนาวิธีลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหรือโรคเบาหวานได้ อย่างไรก็ตามนักวิจัยเรื่องนี้เตือนว่าระบบสร้างฮอร์โมนและอินซูลินในร่างกายมนุษย์นั้นมีความสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง แต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กับส่วนอื่นอย่างลึกซึ้งมหัศจรรย์ การปรับเปลี่ยนระบบใดระบบหนึ่งในร่างกายจึงอาจหมายถึงความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น อีกทั้งประเด็นสำคัญคือขณะนี้นักวิจัยยังไม่พร้อมที่จะทำการทดลองเรื่องนี้อย่างจริงจังกับมนุษย์
งานวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science Translational Medicine ชิ้นนี้ระบุด้วยว่า แม้กลุ่มคนแคระในเอกวาดอร์ผู้เป็นโรค Laron Syndrome จะไม่มีใครเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหรือโรคเบาหวานเลย แต่คนกลุ่มนี้ก็มิได้มีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าคนปกติแต่อย่างใด โดยสาเหตุการตายส่วนใหญ่ของคนแคระกลุ่มนี้เกิดจากอุบัติเหตุต่างๆรวมทั้งสาเหตุที่มาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สรุปคือเสียชีวิตจากพฤติกรรมมากกว่าพันธุกรรมนั่นเอง