ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พาทัวร์พื้นที่ Ground Zero ก่อน-หลังเกิดเหตุ 9/11


USA, A postcard of the Twin Towers is seen at the 9/11 Memorial ahead of the 20th anniversary of the September 11 attacks in Manhattan, New York City, U.S., September 10, 2021.
USA, A postcard of the Twin Towers is seen at the 9/11 Memorial ahead of the 20th anniversary of the September 11 attacks in Manhattan, New York City, U.S., September 10, 2021.

เหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 นอกจากจะทำลายอาคารแฝดของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์แล้ว ยังทำลายอาคารอีกแปดหลัง ซึ่งรวมถึงกลุ่มอาคารทั้งเจ็ดหลังในเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และลานกว้างในย่านกลุ่มอาคารดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นลานกราวนด์ซีโร่ในย่านโลเวอร์ แมนฮัตตัน

หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าวมา 20 ปี บริเวณดังกล่าวก็ถูกปรับปรุงใหม่จนเกือบเสร็จสิ้น กลุ่มอาคารถูกแทนที่ด้วยอนุสรณ์สถานรำลึกถึงผู้วายชนม์และอาคารใหม่ๆ ที่เปิดพื้นที่สำหรับธุรกิจ ร้านค้า การคมนาคมและพื้นที่รำลึกถึงเหตุสะเทือนขวัญครั้งประวัติศาสตร์นี้

วีโอเอรวบรวมภาพและเรื่องราวของกราวนด์ซีโร่ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ground zero infographic 1
ground zero infographic 1

อาคาร 1 WTC (เดิม)

อาคาร 1 WTC ตึกเดิมมีความสูง 110 ชั้น เป็นหนึ่งในอาคารแฝดที่ออกแบบโดยนายมิโนรุ ยามาซากิ สถาปนิกชาวอเมริกัน และก่อสร้างโดยการท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐร่วมกันระหว่างทั้งสองรัฐ อาคารทั้งสองแห่งตั้งอยู่บนพื้นที่ย่าน Radio Row ในโลเวอร์ แมนฮัตตัน ซึ่งเคยเป็นย่านที่ตั้งของบรรดาร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า

อาคารทั้งสองเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1966 โดยใช้นวัตกรรมเทคนิคใหม่ในสมัยนั้นเพื่อก่อสร้างอาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีลักษณะกลวงข้างใน มีเสาเหล็กเรียงใกล้ชิดกันล้อมอยู่ด้านนอก และยึดกับแกนเหล็กตรงกลางอาคารด้วยโครงถัก

อาคาร 1 WTC ก่อสร้างเสร็จเมื่อปีค.ศ. 1972 เป็นอาคารที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้นด้วยความสูง 417 เมตร แทนที่ตึกเอ็มไพร์สเตท มีพิธีเปิดตึกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1973 อย่างไรก็ตาม อาคารแห่งนี้ก็เสียตำแหน่งอาคารที่สูงในโลกให้แก่อาคารเซียส์ ทาวเวอร์ ในนครชิคาโก ที่สูง 443 เมตร ในปีค.ศ. 1974

อาคาร 1 WTC มีจุดชมวิวชื่อ “หน้าต่างบนโลก” (Windows on the World) บนชั้นที่ 106 และ 107 เปิดทำการเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1976 และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม

เสาโทรคมนาคมสูง 110 เมตรถูกติดตั้งบนอาคารแห่งนี้เมื่อค.ศ. 1979 ทำให้อาคารมีความสูงทั้งสิ้น 527 เมตร อย่างไรก็ตาม เสาอากาศไม่ถูกนับรวมในความสูงอย่างเป็นทางการของอาคาร เนื่องจากเสาอากาศไม่ได้รับการยอมรับในเวทีสากลว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมอาคาร

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2001 การท่าเรือตกลงทำสัญญาเช่าอาคารแฝดของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารโดยรอบเป็นเวลา 99 ปี ให้กับแลร์รี่ ซิลเวอร์สไตน์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นเงิน 3,200 ล้านดอลลาร์

อาคาร1 WTC หรืออาคารเหนือนี้ เป็นอาคารแรกที่ถูกเครื่องบินพุ่งชนเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 เมื่อเวลา 8.46 น. และถล่มลงมาเมื่อเวลา 10.28 น. หลังอาคาร 2 WTC หรือ อาคารใต้ ถล่มลงไปก่อนหน้านี้

อาคาร 1 WTC แห่งใหม่

อาคารแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า “ตึกเสรีภาพ” (Freedom Tower) การท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์เริ่มสร้างอาคารนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ.2006 หลังอนุมัติแบบอาคารที่ออกแบบโดยนายเดวิด ไชลส์ แห่งบริษัทสกิดมอร์ โอวิงส์ แอนด์ เมอร์ริล โดยเป็นแบบอาคารที่แตกต่างจากแบบของนายแดเนียล ลิเบสกินด์ เมื่อปีค.ศ.2002 และได้รับการอนุมัติจากบริษัทโลเวอร์ แมนฮัตตัน เดเวลอปเมนท์ คอร์เปอเรชั่น เมื่อปีค.ศ.2003 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูพื้นที่ของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

อย่างไรก็ตาม นายไชลส์ยังคงความสูงของตึกไว้ที่ 542 เมตร หรือ 1,776 ฟุต ตามแบบอาคารดิมของนายลิเบสกินด์ ซึ่งตรงกับปีค.ศ. ที่สหรัฐฯ ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ

การท่าเรือได้เปลี่ยนชื่ออาคารจาก “ตึกเสรีภาพ” เป็น 1 WTC เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.2009 หลังจากนั้น บริษัทอสังหาริมทรัพย์พาณิชย์ เดอะ เดิร์สท์ ออร์แกไนเซชั่น ได้ร่วมมือกับการท่าเรือเป็นผู้ร่วมพัฒนาอาคารแห่งนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.2010

อาคาร1 WTC เปิดทำการเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.2014 โดยมีบริษัทสำนักพิมพ์ Condé Nast เป็นผู้เช่ารายแรกตั้งแต่ชั้น 20 ถึงชั้น 44 เป็นอาคารที่สูงที่สุดในซีกโลกตะวันตกหากนับรวมแหลมบนยอดที่สูง 124 เมตร มีงบประมาณก่อสร้าง 3,900 ล้านดอลลาร์ มีพื้นที่ 278,000 ตารางเมตร

อาคารแห่งนี้มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านข้างตึกออกแบบเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วแปดอันประกอบกันเป็นรูปแปดเหลี่ยมตรงส่วนกลางของตึก และเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงส่วนดาดฟ้าตึก ทำให้ตึกมีรูปทรงเหมือนถูกบิดตรงกลาง โดยชั้น 2 ถึงชั้น 19 และชั้น 92 ถึง 99 เป็นชั้นเครื่องยนต์และไม่มีผู้เช่าอยู่

จุดชมวิววันเวิลด์ (One World Observatory) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอาคาร เปิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.2015 ผู้เยี่ยมชมสามารถดูวิวมหานครนิวยอร์กได้ 360 องศา เป็นระยะทาง 72 กิโลเมตรจากจุดชมวิวนี้ อาคาร1 WTC ยังมีลิฟต์ 71 ตัว รวมถึงลิฟต์ด่วนห้าตัวที่สามารถนำผู้เยี่ยมชมขึ้นมายังชั้น 102 จากพื้นดินได้ในเวลา 47 วินาที

ผู้เช่าอาคารรายใหญ่ๆอื่นๆ มีทั้งสำนักงานศุลการกรและป้องกันพรมแดนสหรัฐฯ สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง สำนักบริหารงานบริการทั่วไปของสหรัฐฯ และบริษัทอื่นๆ เช่น บริษัทสื่อ DAZN Group บริษัทจัดอันดับเครดิตพันธบัตร มูดีส์อินเวสเตอส์เซอร์วิส (Moody’s Investor Service) บริษัทการตลาด สแตกเวลล์ (Stagwell) และวันเดอร์ไคนด์ (Wunderkind)

บริษัท เดิร์สท์ ออแกไนเซชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลอาคาร 1 WTC บอกกับวีโอเอว่า พื้นที่สำนักงานของอาคารแห่งนี้ถูกเช่าไปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ นับจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้

อาคาร 2 WTC (เดิม)

2 WTC มีความสูง 110 ชั้น และเคยเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโลกเป็นลำดับที่สองด้วยความสูง 415 เมตร อาคารแห่งนี้ถูกสร้างเสร็จสิ้นเมื่อปีค.ศ. 1973

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2001 การท่าเรือตกลงทำสัญญาเช่าอาคารแฝดของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารโดยรอบเป็นเวลา 99 ปี ให้กับแลร์รี่ ซิลเวอร์สไตน์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นเงิน 3,200 ล้านดอลลาร์

อาคาร 2 WTC หรืออาคารใต้นี้ เป็นอาคารที่สองที่ถูกเครื่องบินพุ่งชนเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 เมื่อเวลา 9.03 น. และเป็นอาคารแรกที่ถล่มลงมาเมื่อเวลา 9.59 น.

อาคาร 2 WTC แห่งใหม่

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 2010 บริษัทซิลเวอร์สไตน์ พร็อพเพอร์ตีส์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างอาคาร 2 WTC แห่งใหม่ โดยเช่าที่ดินจากการท่าแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์

ฟอสเตอร์ พลัส พาร์ทเนอส์ บริษัทสถาปนิกสัญชาติอังกฤษ ออกแบบอาคารแห่งนี้เมื่อปีค.ศ. 2016 โดยหากสร้างเสร็จ อาคารนี้จะมี 79 ชั้น สูง 411 เมตร และจะเป็นอาคารที่สูงที่สุดเป็นลำดับที่สองของกลุ่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

ชั้นใต้ดินและโครงสร้างส่วนบนระดับพื้นถนนของอาคารแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2012 อย่างไรก็ตาม บริษัทซิลเวอร์สไตน์ พร็อพเพอร์ตีส์ ได้ระงับการก่อสร้างไปเมื่อปีค.ศ. 2013

บริษัทซิลเวอร์สไตน์ พร็อพเพอร์ตีส์ เปิดเผยแบบใหม่ของตึก2 WTC เมื่อปีค.ศ.2015 โดยขณะนั้นมีผู้ตกลงเช่าตึกรายสำคัญคือบริษัทสื่อ นิวส์ คอร์พ (News Corp) และบริษัททเวนตีเฟิสต์เซนจูรีฟอกซ์ (21st Century Fox) โดยทั้งสองบริษัทจะเช่าพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่สำนักงานในอาคาร

อาคารแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดนบริษัทสถาปนิกสัญชาติเดนมาร์ก Bjarke Ingels Group โดยออกแบบเป็นรูปทรงคล้ายกล่องเจ็ดกล่องวางซ้อนกัน โดยมีความสูงเท่ากับตึกแบบเดิมที่บริษัทฟอสเตอร์ พลัส พาร์ทเนอส์ ออกแบบ

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา บริษัทสื่อทั้งสองขอไม่เช่าพื้นที่ตึกดังกล่าว บริษัทซิลเวอร์สไตน์ พร็อพเพอร์ตีส์ จึงขอให้บริษัทฟอสเตอร์ พลัส พาร์ทเนอส์ ปรับแบบอาคารที่เคยออกแบบไว้เมื่อปีค.ศ. 2006 ซึ่งเป็นแบบที่อาคารมีหลังคาเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสี่รูป เอียงลงมาทางสระน้ำในลานอนุสรณ์สถาน 9/11 ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งขอตึกแฝดมาก่อน

บริษัทซิลเวอร์สไตน์ พร็อพเพอร์ตีส์ บอกกับวีโอเอว่า บริษัทบริษัทฟอสเตอร์ พลัส พาร์ทเนอส์ ยังคงดำเนินการออกแบบอาคารแบบใหม่อยู่ และยังไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะเผยแพร่แบบอาคารใหม่ต่อสาธารณะเมื่อใด

บริเวณโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างอาคาร 2 WTC แห่งใหม่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากศิลปะฝาผนังที่อยู่รอบบริเวณ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 บริษัทซิลเวอร์สไตน์ พร็อพเพอร์ตีส์และการท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้ให้ศิลปินฝากผลงานบนท้องถนนบริเวณดังกล่าว ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ.2020 ก็มีการเปิดลานเบียร์โอคูลัสบนพื้นที่ก่อสร้างบริเวณถนนเชิร์ช

อาคาร 3 WTC (เดิม) หรือ แมริออท

อาคาร 3 WTC เปิดทำการในปีค.ศ. 1981 อาคารสูง 22 ชั้น ประกอบด้วยห้อง 800 ห้องนี้ เป็นที่ตั้งของโรงแรมวิสตา อินเตอร์เนชันแนล และเป็นโรงแรมใหญ่แห่งแรกในย่านโลเวอร์ แมนฮัตตัน ก่อนโรงแรมจะเผชิญเหตุระเบิดก่อนการร้ายที่ลานจอดรถชั้นใต้ดินของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหกคน และทำให้พื้นที่ใต้โรงแรมได้รับความเสียหาย โรงแรมกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งหลังซ่อมแซมในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1994 ต่อมาในปีค.ศ. 1995 บริษัทแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าถือกิจการโรงแรมแห่งนี้และเปลี่ยนชื่อเป็น แมริออท เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

หลังเครื่องบินพุ่งชนตึกแฝดเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 พนักงานของแมริออทอพยพแขกในโรงแรมหลายร้อยคน รวมถึงช่วยผู้คนที่หนีจากอาคารเหนือมาทางห้องโถงของโรงแรม และมุ่งหน้าไปยังทางออกทิศใต้ของโรงแรมที่อยู่ติดกับถนนลิเบอร์ตี้

ซากอาคารใต้ที่ถล่มลงเมื่อเวลา 9.59 น. ตัดแบงอาคารโรงแรมเป็นสองส่วน จากภาพถ่ายของนายบิล แบกการ์ท ผู้สื่อข่าวช่างภาพอิสระชาวอเมริกัน อาคารเหนือที่ถล่มลงมาเมื่อเวลา 10.28 น. คร่าชีวิตนายแบกการ์ทเพียงไม่กี่วินาทีหลังจากที่เขาถ่ายภาพได้ ซากของอาคารเหนือยังทำลายอาคารโรงแรมที่เหลือ ยกเว้นบริเวณริมตึกทางตอนใต้ ทั้งนี้ นายแบกการ์ทเป็นช่างภาพมืออาชีพเพียงคนเดียวที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

บทวิเคราะห์ของสื่อนิวยอร์ก ไทมส์ เมื่อปีค.ศ. 2002 ระบุว่า พนักงานของแมริออทสองคนและนักดับเพลิงอีกอย่างน้อย 41 คน เสียชีวิตในโรงแรม สื่อดังกล่าวยังอ้างคำพูดของโฆษกหญิงของแมริออทที่ระบุว่า แขกของโรงแรม 11 คนสูญหายในเหตุการณ์นี้

อาคาร 3 WTC แห่งใหม่

อาคาร 3 WTC แห่งใหม่ได้รับการออกแบบโดยโรเจอส์ เสติร์ค ฮาร์เบอร์ พลัส พาร์ทเนอส์ บริษัทสถาปนิกสัญชาติอังกฤษ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพื้นที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของนายแดเนียล ลิเบสกินด์ สถาปนิกชาวอเมริกัน เมื่อปีค.ศ. 2003

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 2010 บริษัทซิลเวอร์สไตน์ พร็อพเพอร์ตีส์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างอาคาร 3 WTC แห่งใหม่ โดยเช่าที่ดินจากการท่าแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์
อาคาร 3 WTC แห่งใหม่เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 2018 มี 80 ชั้น สูง 328 เมตร และจะเป็นอาคารที่สูงที่สุดเป็นลำดับสามในกลุ่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์หากทุกอาคารสร้างเสร็จแล้ว

อาคา ร3 WTC มีจุดเด่นที่โครงสร้างเหล็กรูปตัว K ขนาบข้างตึก และระเบียงบนชั้นที่ 17 ชั้นที่ 60 และชั้นที่ 76 อาคารนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทซอฟท์แวร์ อาซานา (Asana), บริษัทที่นอน แคสเปอร์ สลีป (Casper Sleep), บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศ โคเซน โอ คอนเนอร์ (Cozen O’Connor), บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดิอาจิโอ (Diageo), บริษัทลงทุนสื่อ กรุ๊ปเอ็ม (GroupM), บริษัทการเงิน ฮัดสัน ริเวอร์ เทรดดิ้ง (Hudson River Trading), บริษัทตลาดหลักทรัพย์ ไออีเอ็กซ์ กรุ๊ป (IEX Group), บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศ เคลลีย์ ดราย แอนด์ วาร์เรน (Kelly Drye & Warren), บริษัทที่ปรึกษา แม็คคินซีย์ แอนด์ คอมปานี (McKinsey & Company) และบริษัทให้บริการเรียกรถรับส่ง อูเบอร์ (Uber)

นอกจากนี้ อาคารแห่งนี้ยังมีชั้นสำหรับร้านค้าจำนวนห้าชั้นด้วย

อาคาร 4 WTC (เดิม)

อาคาร 4 WTC เป็นอาคารสูงเก้าชั้น เปิดทำการครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1977 เป็นที่ตั้งของสำนักงานที่สำคัญต่างๆ เช่น ดอยช์แบงก์ และตลาดซื้อขายล่วงหน้านิวยอร์ก

พื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคาร 4 WTC ถูกซากอาคารใต้ถล่มใส่ลงมาในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ซากที่เหลือของอาคารถูกรื้อถอนออกเพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้างอนุสรณ์สถานกราวนด์ซีโร่

อาคาร 4 WTC แห่งใหม่

อาคาร 4 WTC แห่งใหม่ได้รับการออกแบบโดยมากิ แอนด์ แอสโซชิเอตส์ บริษัทสถาปนิกสัญชาติญี่ปุ่น และเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพื้นที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของนายแดเนียล ลิเบสกินด์ สถาปนิกชาวอเมริกัน เมื่อปีค.ศ. 2003

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 2010 บริษัทซิลเวอร์สไตน์ พร็อพเพอร์ตีส์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างอาคาร 4 WTC แห่งใหม่ โดยเช่าที่ดินจากการท่าแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์

อาคาร 4 WTC แห่งใหม่เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 มี 72 ชั้น สูง 297 เมตร และจะเป็นอาคารที่สูงที่สุดเป็นลำดับสี่ในกลุ่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์หากทุกอาคารสร้างเสร็จแล้ว นายฟูมิฮิโกะ มากิ สถาปนิกผู้ออกแบบ ระบุว่าอาคารนี้เป็น “อาคารมินิมอลที่ปรากฎตนอย่างเหมาะสม มีความเงียบสงบแต่ก็มีความสง่างาม”

พื้นที่หนึ่งในสามของอาคารเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของการท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานอื่นๆ เช่น สำนักงานมหานครนิวยอร์ก, บริษัทเทคโนโลยีโฆษณา มีเดียแมธ (Mediamath), บริษัทการเงิน มอร์นิงสตาร์ (Morningstar), สถานีโทรทัศน์ด้านกีฬา สปอร์ตส์เน็ต นิวยอร์ก (SportsNet New York), บริษัทให้บริการสตรีมเพลง สปอติฟาย (Spotify), บริษัทด้านบันเทิง สเตอร์ลิง เอนเตอร์เทนเมนท์ (Sterling Entertainment) และบริษัทประกัน ซูริค อเมริกัน อินชัวแรนซ์ คัมปานี (Zurich American Insurance Company)

อาคาร 4 WTC แห่งใหม่ยังมีชั้นสำหรับร้านค้าเหนือพื้นดินสามชั้น และชั้นใต้ดินสองชั้นอีกด้วย

อาคาร 5 WTC (เดิม)

อาคาร 5 WTC อาคารเดิม เป็นอาคารสูงเก้าชั้น เปิดทำการวันแรกเมื่อปีค.ศ. 1972 เป็นที่ตั้งของสำนักงานต่างๆ เช่น บริษัทธนาคารลงทุน เครดิตสวิส เฟิตส์ บอสตัน (Credit Suisse First Boston) และบริษัทให้บริการทางการเงิน มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley)

อาคารแห่งนี้ถูกเพลิงไหม้และซากถล่มทับหลังอาคารแฝดถล่มเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ซากอาคารถูกรื้อถอนเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับสร้างอนุสรณ์สถานกราวนด์ซีโร่

อาคาร 6 WTC (เดิม)

อาคาร 6 WTC แห่งเดิมเคยเป็นอาคารศุลกากรสหรัฐฯ เปิดทำการเมื่อปีค.ศ. 1974 อาคารแห่งนี้เป็นที่ทำการของหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯ รวมทั้งกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และอาวุธปืน

อาคารเหนือที่ถล่มลงมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 ทำให้เกิดหลุมลึกในอาคาร 6 WTC ซึ่งต่อมาถูกรื้อถอนออกเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างอนุสรณ์สถานกราวนด์ซีโร่

อาคาร 7 WTC (เดิม)

อาคาร 7 WTC แห่งเดิมเป็นอาคารสำนักงานทรงสี่เหลี่ยมคางหมูสูง 47 ชั้น เปิดทำการเมื่อปีค.ศ. 1987 ก่อสร้างโดยนายแลร์รี ซิลเวอร์สไตน์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวอเมริกัน บนที่ดินที่เช่าจากการท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่ฐานของอาคารแห่งนี้เป็นสถานีพลังงานที่จ่ายไฟฟ้าให้ทั้งย่านโลเวอร์ แมนฮัตตัน

ธนาคารเพื่อการลงทุน ซาโลมอน สมิธ บาร์นีย์ (Salomon Smith Barney) เป็นผู้เช่าอาคารรายหลัก นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่เช่าอาคารแห่งนี้ เช่น ธนาคารอเมริกัน เอ็กซ์เพรส (American Express) บริษัทประกันภัย ไอทีที ฮาร์ดฟอร์ด (ITT Hartford) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ และธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (Standard Chartered)

เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 ซากของอาคารเหนือถล่มลงมาทับบริเวณด้านหน้าทางตอนใต้ของอาคาร 7 WTC จนเกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ ซากของอาคารแฝดยังทำลายระบบน้ำประปา ทำให้ระบบพ่นน้ำในอาคารเสียหาย เกิดเพลิงไหม้เป็นเวลาเกือบเจ็ดชั่วโมงจนอาคารแห่งนี้ถล่มเมื่อเวลา 17.20 น. ในวันเดียวกัน โดยไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว

รายงานโดยสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐฯ เมื่อปีค.ศ. 2008 ระบุว่า เหตุถล่มของอาคารแห่งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุตึกถล่มจากเพลิงไหม้เป็นหลัก สถาบันดังกล่าวระบุว่า ความร้อนจากเพลิงไหม้ทำให้คานรับน้ำหนักพื้นเหล็กขยายตัว ทำให้เสาหลักของอาคารรับโครงสร้างไม่ไหวและถล่มลงมาในที่สุด

อาคาร 7 WTC แห่งใหม่

อาคาร 7 WTC แห่งใหม่เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002 และเปิดทำการเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ.2006

นายแลร์รี ซิลเวอร์สไตน์ ผู้สร้างอาคาร7 WTC แห่งเดิม มอบหมายให้นายเดวิด ไชลด์ สถาปนิกชาวอเมริกันจากบริษัทสกิดมอร์ โอวอิงส์ แอนด์ เมอร์ริลล์ ให้เป็นผู้ออกแบบอาคารแห่งใหม่ โดยนายซิลเวอร์สไตน์กล่าวกับนิตยสารนิวยอร์กเกอร์ว่า อาคารแห่งใหม่จะมีลักษณะที่ดู “เบา” กว่าอาคารเดิม

นายไชลด์ออกแบบอาคารใหม่เป็นอาคารแก้ว สูง 52 ชั้น มีสถานีจ่ายไฟขนาดเล็กอยู่ที่ฐานตึกทรงสี่เหลี่ยมด้านขนาน อาคารแห่งนี้ยังเป็นอาคารแห่งแรกของมหานครนิวยอร์กที่ได้รับการรับรองความเป็นผู้นำด้านการออกแบบที่อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยสภาอาคารเขียวสหรัฐฯ (U.S. Green Building Council) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

บริษัทที่เช่าพื้นที่ในอาคารนี้ มีทั้งบริษัทดนตรี Broadcast Music, Inc. บริษัทสถาปนิก เจฟฟรีย์ เบียส์ อินเตอร์แนชันแนล (Jeffrey Beers International) สำนักพิมพ์มันซูเอโต เวนเจอส์ (Mansueto Ventures) บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โมเอท์ เฮนเนสซี ยูเอสเอ (Moet Hennessy USA) บริษัทด้านการเงิน มูดีส์ คอร์ปอเรชั่น (Moody’s Corporation) สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งนิวยอร์ก บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซิลเวอร์สไตน์ พร็อพเพอร์ตีส์ (Silverstien Properties) บริษัทกฎหมาย วิลเมอร์เฮล (WilmerHale) และบริษัทจัดงานแต่งงาน โซลา (Zola)

โบสถ์นักบุญนิโคลัสกรีกออร์ธอดอกซ์

โบสถ์นักบุญนิโคลัสกรีกออร์ธอดอกซ์หลังเดิมเปิดทำการเมื่อปีค.ศ. 1916 โดยผู้อพยพชาวกรีกที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณย่านโลเวอร์ แมนฮัตตัน หลังเดินทางมาถึงเกาะเอลลิสที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน

ผู้อพยพกลุ่มนี้ซื้อบ้านแถวมาหลังหนึ่งด้วยราคา 25,000 ดอลลาร์ โดยบ้านดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อราวปีค.ศ. 1830 ผู้ก่อตั้งโบสถ์แห่งนี้ส่วนใหญ่ทำงานในเรือ และสร้างโบสถ์แห่งนี้เพื่ออุทิศแด่นักบุญนิโคลัส ซึ่งเป็นนักบุญคุ้มครองลูกเรือ

โบสถ์แห่งนี้ถูกซากอาคารใต้ถล่มลงใส่เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 โดยไม่มีผู้อยู่ในอาคารดังกล่าว เจ้าหน้าที่สามารถนำศาสนวัตถุบางส่วนออกมาจากซากโบสถ์ได้ขณะทำการขนย้ายซากอาคารออกจากบริเวณดังกล่าว

สวนสาธารณะลิเบอร์ตี้

สวนสาธารณะลิเบอร์ตี้ เป็นสวนพักผ่อนขนาด 4,000 ตารางเมตร ยกระดับจากสวนลิเบอร์ตี้ขึ้นมาเจ็ดเมตร เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.2016 สวนรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้อยู่ด้านบนของศูนย์ความปลอดภัยยานพาหนะ

สวนดังกล่าวออกแบบโดยนายโจเซฟ อี บราวน์ สถาปนิกภูมิทัศน์ชาวอเมริกัน โดยมีการท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์เป็นเจ้าของ เริ่มก่อสร้างเมื่อปีค.ศ. 2014 และใช้งบประมาณก่อสร้าง 50 ล้านดอลลาร์

สวนแห่งนี้ประดับด้วยผลงานประติมากรรมสองชิ้น ชิ้นแรกคือเดอะ สเฟียร์ (The Sphere) ผลงานของนายฟริตซ์ โคนิก ศิลปินชาวเยอรมัน ซึ่งเคยอยู่ในลานเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เดินจนเกิดเหตุวินาศกรรมขึ้น ผลงานประติมากรรมสูง 7 เมตรชิ้นนี้ถูกจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่ใกล้สวนสาธารณะแบตเตอรี่ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.2002 และถูกเก็บในปีค.ศ. 2012 เนื่องจากีการซ่อมแซมสวนจนมีการเรียกร้องให้มีการนำผลงานชิ้นนี้กลับมาจัดแสดงอีกครั้ง

หลังนายโคนิกเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2017 ผลงานชิ้นนี้ก็ถูกย้ายมาที่สวนสาธารณะลิเบอร์ตี้เมื่อวันที่ 6 กันยายนในปีเดียวกัน

ผลงานประติมากรรมในส่วนแห่งนี้อีกชิ้นคือ อนุสาวรีย์ America’s Response Monument โดยศิลปินชาวอเมริกัน นายโดเว บลุมเบิร์ก

ประติมากรรมทองสัมฤทธิ์สูงสี่เมตรนี้เป็นรูปของทหารกองกำลังปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ บนหลังม้า เพื่อระลึกถึงกองกำลังสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติการในอัฟกานิสถานหลังเกิดเหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 โดยพวกเขาขี่บนหลังม้าระหว่างการสู้รบกับกลุ่มตาลิบันในระยะแรก

นายบลุมเบิร์กได้แรงบันดาลใจในการผลิตงานชิ้นนี้จากภาพของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เผยให้เห็นนายทหารอเมริกันขี่ม้าไปร่วมกับพันธมิตรชาวอัฟกันฝ่าภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยขุนเขา

America’s Response Monument ถูกจัดแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2011 ในศูนย์การเงินวันเวิลด์ ติดกับกราวด์ซีโร่ ต่อมาผลงานชิ้นนี้ถูกย้ายไปที่ถนนวีเซย์ ใกล้กับทางเข้าสถานีรถไฟชั่วคราวและสถานที่ก่อสร้างอาคาร 1 WTC ผลงานชิ้นนี้ถูกขนย้ายครั้งสุดท้ายมายังสวนลิเบอร์ตี้เมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.2016

ลานอนุสรณ์สถานแห่งใหม่

บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงแรมแมริออทกลายเป็นส่วนหนึ่งของลานอนุสรณ์สถาน 9/11 ออกแบบโดยนายไมเคิล อาราด สถาปนิกชาวอิสราเอล-อเมริกัน และนายปีเตอร์ วอล์กเกอร์ สถาปนิกภูมิทัศน์ชาวอเมริกัน ลานแห่งนี้เป็นสถานที่จัดพิธีรำลึกสำหรับครอบครัวของเหยื่อจากเหตุวินาศกรรม เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2011 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในวันถัดไป
เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2003 การท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เคยเป็นโรงแรม ตกลงยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่บริษัทโฮสท์ แมริออท คอร์เปอเรชัน ซึ่งแต่เดิมมีสัญญาเช่าถึงปีค.ศ. 2094 เพื่อเปิดทางให้มีการสร้างอนุสรณ์สถานในพื้นที่ดังกล่าว การยกเลิกสัญญานี้ยังทำให้บริษัทโฮสท์ แมริออท ไม่ต้องสร้างโรงแรมใหม่ขึ้นแทนที่โรงแรมแห่งเดิมด้วย

ลานอนุสรณ์สถานนี้ประกอบด้วยสระน้ำสองสระ มีต้นโอ๊คขาว 400 ต้นล้อมรอบ นอกจากนี้ ยังมีอาคารขนาดเล็กสองอาคารบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงแรม บริษัทของนายวอล์กเกอร์ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบลานนี้ ระบุว่า อาคารทั้งสองหลังนี้มีเพื่อติดตั้งระบบระบายอากาศให้สิ่งก่อสร้างใต้ลาน นอกจากนี้ ในอาคารยังมีพื้นที่สำหรับประกอบพิธีและพื้นที่ประจำการสำหรับหน่วยรักษาความปลอดภัยด้วย

สระน้ำอนุสรณ์ฝั่งเหนือแห่งใหม่

สระน้ำที่สร้างบนฐานของอาคารเหนือเดิมนี้ถูกออกแบบโดยนายไมเคิล อาราด สถาปนิกชาวอิสราเอล-อเมริกัน และนายปีเตอร์ วอล์กเกอร์ สถาปนิกภูมิทัศน์ชาวอเมริกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของอนุสรณ์สถานแห่งชาติ 11 กันยายน สระน้ำแห่งนี้เป็นสถานที่จัดพิธีรำลึกสำหรับครอบครัวของเหยื่อจากเหตุวินาศกรรม เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2011 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในวันถัดไป

สระน้ำที่สร้างบนบริเวณอาคารเหนือและอาคารใต้เดิมของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์นี้ มีน้ำตกที่สร้างด้วยมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ โดยเป็นน้ำตกสูงเก้าเมตรเหนืออ่างเก็บน้ำทรงสี่หลี่ยมจัตุรัส นายอาราดระบุว่า สระน้ำนี้สื่อถึง “การทำให้สิ่งที่หายให้ถูกมองเห็น” จากการออกแบบให้น้ำตกตกในช่องว่างที่ไม่มีวันถูกเติมเต็ม

กำแพงทองแดงที่ล้อมรอบสระเหนือนี้ แสดงชื่อของเหยื่อเหตุวินาศกรรมทั้งที่อยู่ในอาคารวันเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และผู้โดยสารสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบิน 11 ที่พุ่งชนอาคารเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 รวมถึงเหยื่อจากเหตุระเบิดใต้อาคารเหนือเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 ด้วย

สระน้ำอนุสรณ์ฝั่งใต้แห่งใหม่

สระน้ำที่สร้างบนฐานของอาคารใต้เดิมนี้ถูกออกแบบโดยนายไมเคิล อาราด สถาปนิกชาวอิสราเอล-อเมริกัน และนายปีเตอร์ วอล์กเกอร์ สถาปนิกภูมิทัศน์ชาวอเมริกัน โดยเป็นส่วนหนึงของอนุสรณ์สถานแห่งชาติ 11 กันยายน สระน้ำแห่งนี้เป็นสถานที่จัดพิธีรำลึกสำหรับครอบครัวของเหยื่อจากเหตุวินาศกรรม เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2011 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในวันถัดไป

กำแพงทองแดงที่ล้อมรอบสระใต้นี้ แสดงชื่อของเหยื่อเหตุวินาศกรรมทั้งที่อยู่ในอาคารทูเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และผู้โดยสารสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบิน 175 ที่พุ่งชนอาคารเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 บุคลากรด่านหน้า เหยื่อในอาคารเพนตากอนที่กรุงวอชิงตัน ผู้โดยสารสานการบินอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 77 ที่พุ่งชนอาคารดังกล่าว รวมถึงผู้โดยสารบนสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 93 ที่เครื่องบินตกที่เมืองแชงส์วิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย

สถานีรถไฟโอคูลัส

สถานีรถไฟนี้เป็นสถานีของเครือข่ายรถไฟฟ้าสายทรานส์-ฮัดซัน หรือ PATH ที่เชื่อมต่อเขตแมนฮัตตันในมหานครนิวยอร์กกับพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐนิวเจอร์ซีย์ สถานีรถไฟนี้ถูกสร้างขึ้นมาแทนสถานีชั่วคราวที่เปิดทำการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2003

เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.2004 การท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์อนุมัติแบบก่อสร้างสถานีแห่งใหม่โดยนายซานเตียโก กาลาตราบา โดยเดิมมีแผนเปิดใช้งานในปีค.ศ. 2009 อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมีการปรับเปลี่ยนการออกแบบจนเริ่มการก่อสร้างได้จริงเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2008 และเปิดทำการเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2016

สถานีรถไฟนี้มีจุดเด่นที่ซี่โครงหลังคาสีขาวประกบกันเป็นรูปร่างคล้ายปีกนก โดยนายกาลาตราบาอธิบายว่า โครงสร้างตึกนี้สื่อถึงนกพิราบที่ถูกปล่อยออกจากมือของเด็ก นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างแคบระหว่างหลังคาทั้งสองด้านเพื่อเปิดให้แสงธรรมชาติเข้าในวันที่อากาศดีและในวันที่ 11 กันยายนของทุกปี

สถานีรถไฟนี้ใช้งบประมาณก่อสร้าง 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นงบสร้างสถานีรถไฟฟ้าที่แพงที่สุดในสหรัฐฯ และเป็นจำนวนมากกว่างบเดิมที่ตั้งไว้ที่ 2,200 ล้านดอลลาร์เกือบสองเท่า สถานีรถไฟแห่งนี้ยังใช้เวลาก่อสร้างนานกว่ากำหนดเดิมถึงเจ็ดปี

สถานีรถไฟแห่งนี้มีชั้นใต้ดินสองชั้น เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าเวสต์ฟิลด์ เวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ โดยบริษัทยูนิเบล-โรแดมโค-เวสท์ฟิลด์ (Unibail-Rodamco-Westfield) บริษัทอสังหาริมทรัพย์พาณิชย์สัญชาติฝรั่งเศส โดยศูนย์การค้าแห่งนี้สร้างขึ้นแทนที่ศูนย์การค้าใต้ดินที่ถูกทำลายไปจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001

ศูนย์ศิลปะการแสดง โรนัลด์ โอ เพเรลแมน แห่งใหม่

การก่อสร้างศูนย์ศิลปะการแสดงชั้นใต้ดินเริ่มขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2018 หลังปิดสถานีรถไฟชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.2016 และเริ่มมีการรื้อถอนสถานีรถไฟชั่วคราวและเริ่มก่อสร้างที่จอดรถใต้ดินเมื่อปีค.ศ. 2017

บริษัทสถาปนิก เร็กซ์ โดยนายโจชัว พรินซ์ รามัส ได้รับเลือกให้เป็นผู้ออกแบบอาคารดังกล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2015 หลังแบบอาคารเดิมของบริษัท Gehry Partners and Snøhetta ถูกยกเลิกไป

ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2016 นายโรนัลด์ โอ เพเรลเมน มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน บริจาคเงินจำนวน 75 ล้านดอลลาร์ และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2018 การท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ให้ทางศูนย์เช่าพื้นที่เป็นเวลา 99 ปี

อาคารศูนย์ศิลปะการแสดงชั้นบนเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ.2019 โดยการท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ระบุว่า อาคารแห่งนี้จะเปิดอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 2023

อาคารแห่งนี้จะมีรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ สูง 42 เมตร และจะเป็นที่ตั้งของโรงละคร โรงภาพยนตร์ และโรงอุปรากร มีพื้นที่จัดการแสดงสามส่วน สามารถจุผู้ชมได้ตั้งแต่ 99 – 1,200 คน

สวนสาธารณะครอบครัวซิลเวอร์สไตน์แห่งใหม่

สวนสาธารณะครอบครัวซิลเวอร์สไตน์ เป็นสวนรูปร่างสามเหลี่ยม ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของที่ตั้งเดิมของอาคาร 7 WTC แห่งเดิม สวนแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อปีค.ศ. 2004

สวนสาธารณะนี้มีพื้นที่ 1,390 ตารางเมตร ออกแบบโดยนายเคน สมิธ ภูมิสถาปนิกชาวนิวยอร์ก ประกอบด้วยน้ำพุทรงกลมห้อมล้อมด้วยต้นไม้และพุ่มไม้ ออกแบบเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของพนักงานออฟฟิศ ผู้พักอาศัยบริเวณนั้นและผู้มาเยี่ยมเยือน

งานประติมากรรม “ดอกไม้ลูกโป่ง” (Balloon Flower) โดยนายเจฟฟ์ คูนส์ ศิลปินชาวอเมริกัน เคยถูกติดตั้งอยู่ตรงกลางน้ำพุก่อนที่จะถูกถอดออกไปเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 เพื่อนำไปตกแต่งใหม่ โดยบริษัทซิลเวอรสไตน์ พรอพเพอร์ตีส์ บอกกับวีโอเอว่า งานประติมากรรมชิ้นนี้ยังคงถูกตกแต่งใหม่ที่ยุโรปเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้

สถานีรถไฟชั่วคราว

สถานีรถไฟชั่วคราวของเครือข่ายรถไฟฟ้าสายทรานส์-ฮัดซัน หรือ PATH เชื่อมต่อเขตแมนฮัตตันในมหานครนิวยอร์กกับพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐนิวเจอร์ซีย์ สถานีชั่วคราวแห่งนี้เปิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ.2003 ทำให้ระบบรถไฟในย่านโลเวอร์ แมนฮัตตัน กลับมาทำการได้อีกครั้งหลังระงับไปตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001

สถานีรถไฟชั่วคราวแห่งนี้ถูกรื้อถอนไปเพื่อเตรียมพื้นที่สร้างศูนย์ศิลปะการแสดง ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ.2004 บริษัทโลเวอร์ แมนฮัตตัน เดเวลอปเมนท์ คอร์เปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐนิวยอร์กและมหานครนิวยอร์ก ประกาศว่าจะจ้างบริษัท Gehry Partners and Snøhetta ให้ออกแบบก่อสร้างบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อปีค.ศ. 2011 ผู้ก่อสร้างไม่สามาถสรุปแบบอาคารได้เนื่องจากไม่สามารถหาข้อตกลงได้ว่า อาคารดังกล่าวจะจัดการแสดงแบบใดกันแน่ รวมถึงงบประมาณก่อสร้างที่สูง

ศูนย์ความปลอดภัยยานพาหนะ

เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2008 หน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานระดับรัฐทำข้อตกลงกับคริสตจักรกรีกออร์ธอดอกซ์ว่าจะมีการสร้างโบสถ์แห่งใหม่ถัดจากบริเวณเดิมไปทางตะวันออกหนึ่งช่วงถนน โดยข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้คริสตจักรโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมของโบสถ์ให้การท่าเรือแห่งรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวขุดพื้นดินเพื่อก่อสร้างศูนย์รักษาความปลอดภัยยานพาหนะสำหรับเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์แห่งใหม่

การท่าเรือมอบเงิน 20 ล้านดอลลาร์ให้คริสตจักรเป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อให้ทางคริสตจักรนำไปเป็นทุนสร้างโบสถ์ใหม่บนพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเดิม รวมทั้งจะใช้งบอีกราว 20-40 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโครงสร้างรองรับอาคารใหม่เหนือศูนย์รักษาความปลอดภัยยานพาหนะ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2009 ข้อตกลงดังกล่าวกลับไม่บรรลุผล การท่าเรือเดินหน้าขุดที่ดินบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งโบสถ์ต่อไป โดยให้เหตุผลว่าขั้นตอนการก่อสร้างศูนย์รักษาความปลอดภัยยานพาหนะไม่สามารถรอต่อไปได้แล้ว เนื่องจากเป็นอาคารสำคัญของกลุ่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ใหม่ ทำให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2011 คริสตจักรฟ้องการท่าเรือด้วยข้อหารุกล้ำที่ดินและละเมิดข้อตกลงเบื้องต้น

แอนดริว คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กในขณะนั้น ไกล่เกลี่ยจนทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.2011 ทำให้ทางคริสตจักรสามารถออกแบบโบสถ์ใหม่ต่อไปได้

XS
SM
MD
LG