ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฟีฟ่าเริ่มนำเทคโนโลยี Goal-Line มาใช้ในการแข่งขันฟุตบอล Confederations Cup ที่บราซิล วันที่ 15-30 มิ.ย นี้


ข้อถกเถียงเรื่องการนำเทคโนโลยี Goal-Line มาใช้ในการแข่งขันฟุตบอลนั้นมีมานานแล้ว ล่าสุดสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือ FIFA กำลังจะนำเทคโนโลยี Goal-Line มาใช้ในการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกเป็นครั้งแรกในรายการ Confederations Cup ที่บราซิล ระหว่างวันที่ 15-30 มิ.ย

หลายคนบอกว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของฟุตบอลคือการตัดสินใจในเสี้ยววินาทีของผู้ตัดสินในสนาม ไม่ว่าคำตัดสินนั้นจะค้านสายตาผู้เล่นหรือผู้ชมมากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมานั้นมีตัวอย่างมากมายในการแข่งขันนัดใหญ่ๆ เช่นในฟุตบอลโลกหรือ World Cup ที่ผู้ตัดสินมักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในกรณีที่ว่าลูกฟุตบอลข้ามเส้นประตูไปแล้วหรือยัง

ในการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อ 3 ปีก่อนระหว่างทีมชาติอังกฤษกับเยอรมนี ผู้ตัดสินและผู้กำกับเส้นในเกมนั้นไม่ให้ประตูแก่ทีมอังกฤษทั้งที่ลูกบอลที่แฟร้งค์ แลมพาร์ดยิงไปนั้นผ่านเส้นประตูไปแล้วอย่างชัดเจนก็ตาม หลังจบเกมดังกล่าว FIFA ยิ่งถูกกดดันหนักขึ้นให้นำเทคโนโลยีจับความเคลื่อนไหวตรงเส้นประตูหรือ Goal-Line มาใช้ ซึ่งในที่สุด FIFA ก็ยอมนำเทคโนโลยีนี้มาทดลองใช้ในการแข่งขันฟุตบอล Confederations Cup ที่บราซิล ระหว่างวันที่ 15-30 มิ.ย

คุณ Bjorn Linder ประธานบริษัท GoalControl ผู้ได้รับสัญญาจาก FIFA ให้พัฒนาและติดตั้งเทคโนโลยี Goal-Line อธิบายถึงเทคโนโลยีนี้ว่าจะมีกล้องติดตั้งอยู่ที่ประตูของทั้งสองทีมฝั่งละ 7 ตัว โดยคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมกับกล้องทั้ง 14 ตัวนั้นสามารถถ่ายภาพได้ด้วยความเร็ว 500 ภาพต่อหนึ่งวินาที คอมพิวเตอร์จะคอบจับทิศทางของลูกบอลแล้วนำมาสร้างเป็นภาพกราฟฟิคเหมือนที่เห็นในการแข่งขันเทนนิส
ประธานบริษัท GoalControl อธิบายว่าเมื่อลูกฟุตบอลข้ามเส้นประตูไปแล้ว คอมพิวเตอร์จะส่งสัญญาณไปยังนาฬิกาข้อมือของผู้ตัดสิน ผู้ตัดสินจึงทราบในทันทีว่าลูกบอลน่าจะเข้าประตูหรือไม่ คุณ Linder ระบุว่าเทคโนโลยี Goal-Line นี้มีความคลาดเคลื่อนเพียง +-5 มิลลิเมตร ซึ่งเที่ยงตรงกว่าตัวเลขที่ FIFA กำหนดไว้ที่ระดับความคลาดเคลื่อน +-3 ซม.

อย่างไรก็ตาม คุณ Nic Fleming นักเขียนบทความด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชาวอังกฤษ ได้ให้ความเห็นไว้ในวารสาร Nature เมื่อเร็วๆนี้ว่า แม้เทคโนโลยี Goal-Line อาจช่วยให้ข้อถกเถียงเรื่องลูกบอลข้ามเส้นประตูหรือไม่นั้น เงียบสงบลงได้จริง แต่ก็ควรตระหนักไว้ด้วยว่าในความเป็นจริงแล้ว วิทยาศาสตร์ก็มีความไม่แน่นอนเช่นกัน

คุณ Nic Fleming ชี้ว่า เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์คือการคำนวณโอกาสและความน่าจะเป็นที่ใกล้เคียงที่สุด แต่ไม่ใช่การให้คำตอบแบบระบุชัดเจนแบบขาวหรือดำ ใช่หรือไม่ใช่ เพราะในที่สุดแล้วคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็คือมนุษย์ ซึ่งในกรณีนี้ก็หมายถึงเสียงนกหวีดของผู้ตัดสินในสนามนั่นเอง
XS
SM
MD
LG