ชาวเยอรมนีจะเลือกผู้นำประเทศคนใหม่ต่อจากนางอังเกลา แมร์เคิล ในวันที่ 26 กันยายนนี้
และไม่ว่าผู้นำคนใหม่จะเป็นใครก็ตาม เยอรมนีก็มีปัญหาท้าทายทั้งในระดับโลกและในแง่ภูมิรัฐศาสตร์รออยู่หลายเรื่องด้วยกัน นับตั้งแต่ความพยายามขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนเข้าไปในยุโรป การสร้างสมดุลย์ในความสัมพันธ์กับรัสเซีย รวมทั้งเรื่องการพึ่งพาสหรัฐฯ ในแง่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้วย
อิทธิพลของจีน
ขณะนี้จีนกำลังพยายามเข้าไปลงทุนในบริษัทต่าง ๆ เพื่อควบคุมระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของยุโรป อย่างเช่น ท่าเรือและระบบทางรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ “Belt and Road “ ของจีน
และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของเรื่องนี้สำหรับเยอรมนี คือความพยายามของบริษัทชิปปิ้งชื่อ Cosco ของรัฐบาลจีนที่ต้องการซื้อหุ้นหนึ่งในสามของท่าขนส่งสินค้าที่สำคัญในเมืองฮัมเบิร์กซึ่งเป็นเมืองท่าใหญ่ที่สุดของเยอรมนี แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลจีนก็ไม่อนุญาตให้เอกชนรายใดเข้าถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของบริษัทด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานของจีนเลย
ปัญหาซึ่งรัฐบาลเยอรมนีมีอยู่ในขณะนี้ดูจะสะท้อนคำถามใหญ่ที่ว่า 'ขณะนี้จีนเป็นเพื่อนหรือศัตรู' เพราะขณะที่สหภาพยุโรประบุว่าจีนเป็นทั้งหุ้นส่วนที่จะต้องเจรจา เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจและเป็นคู่ปรับนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาจากเรื่องการปฎิบัติของทางการจีนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ การปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และการขยายอิทธิพลทางทหารในทะเลจีนใต้ ล้วนแต่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับรัฐบาลกรุงเบอร์ลินทั้งสิ้น
คุณเลียนา ฟิกซ์ นักวิเคราะห์ของมูลนิธิ Korber-Stiftung ในกรุงเบอร์ลิน ได้ชี้ว่า ไม่ว่าการตัดสินใจทางด้านธุรกิจและเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนีเกี่ยวกับจีนจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ผลการสำรวจความเห็นของคนเยอรมันเองได้แสดงว่า ชาวเยอรมันส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้มาตรการลงโทษต่อจีนแม้ว่าเรื่องนี้จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศของตนก็ตาม
ความสัมพันธ์รัสเซียกับการพึ่งพาสหรัฐฯ
นอกจากจีนแล้ว เยอรมนียังมีประเด็นความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในยุโรป คือ รัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากที่รัสเซียส่งกำลังเข้าบุกยูเครนเมื่อปี 2014 ด้วย และนโยบายบางอย่างของเยอรมนีขณะนี้ก็ดูจะสวนทางกับแรงกดดันจากสหรัฐฯ เพราะนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลได้ผลักดันโครงการท่อก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 ซึ่งได้สร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนที่แล้ว และจะเป็นผลให้เยอรมนีได้รับก๊าซธรรมชาติโดยตรงจากรัสเซียโดยไม่ต้องผ่านยูเครนเหมือนเดิมและจะทำให้ยูเครนต้องเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็คัดค้านโครงการท่อก๊าซธรรมชาติดังกล่าว รวมทั้งได้ใช้มาตรการลงโทษกับบริษัทของรัสเซียที่เกี่ยวข้องด้วย
ยิ่งกว่านั้น ขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า ”ความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์” เพื่อลดการพึ่งพาด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ และถึงแม้เยอรมนีจะคัดค้านแนวคิดเรื่องการมีกองทัพของสหภาพยุโรปด้วยตนเอง แต่กรณีเรื่องข้อตกลงสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษกับออสเตรเลียซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการเลิกสัญญาระหว่างออสเตรเลียกับฝรั่งเศส ก็อาจจะเป็นบทเรียนหรือข้อเตือนใจที่สำคัญได้
เยอรมนีจะมีการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในวันที่ 26 กันยายนนี้ และไม่ว่าผู้นำดังกล่าวจะเป็นใครหรือมาจากพรรคใดก็ตาม นายจิโร นูเกบาวเออร์ ของมหาวิทยาลัย Freie ในกรุงเบอร์ลิน ก็เชื่อว่า การจัดการกับปัญหากิจการโลกจะไม่ใช่เรื่องง่าย
และว่าขณะนี้ชาวเยอรมันส่วนใหญ่มองว่าประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตจากเรื่องต่าง ๆ นับตั้งแต่พลังความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ ภาวะโลกร้อน สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน และความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุโรป รวมทั้งการแผ่ขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของจีน เป็นต้น
โดยคุณนูเกบาวเออร์ให้ความเห็นด้วยว่ าเชื่อได้ว่าผู้ที่จะเข้ารับหน้าที่บริหารประเทศต่อจากนางอังเกลา แมร์เคิลนั้นคงจะไม่เป็นที่รู้จักกันนอกประเทศเยอรมนี และจะมีประสบการณ์ด้านกิจการระหว่างประเทศอย่างจำกัดหรืออาจจะไม่มีเลยด้วยซ้ำไป