ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยอเมริกันยืนยันว่าการผ่าตัดลดน้ำหนักได้ผลนานหลายปีหลังการผ่าตัด


ภาพจากวารสาร Journal of the American Medical Association เปรียบเทียบรูปร่างและน้ำหนักตัวของคุณโจดี้ สติวเบล่อร์ก่อนและหลังการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร
เธอบอกว่าการลดน้ำหนักตัวลงได้สำเร็จช่วยให้เธอรู้สึกมั่นใจในตัวเองและในความสามารถของตนเอง


คุณสติวเบล่อร์ลดน้ำหนักตัวลงไปได้ 54 กิโลกรัม ไม่มีอาการเบาหวานประเภทที่สองและระดับความดันโลหิตและคลอเรสเตอรอลในเลือดเป็นปกติดี

การผ่าตัดอวัยวะในระบบย่อยอาหารเพื่อลดน้ำหนักตัวมีหลายประเภท บางครั้งเรียกกันว่าการเย็บกระเพาะอาหาร

ด็อกเตอร์เท็ด อะดัมส์ แห่งภาควิชาการแพทย์ที่มหาวิทยาลัย University of Utah เป็นหัวหน้าทีมวิจัยที่ศึกษาผุ้ป่วยโรคอ้วนรุนแรงกว่าหนึ่งพันรายที่เข้ารับการผ่าตัดลดขนาดกระเ่พาะอาหาร คนไข้กลุ่มหนึ่งเลือกการผ่าตัดที่เรียกว่า โรเอ็นวาย (Roux-en-Y) ซึ่งเป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบมาตราฐานที่ใช้กันมากที่สุด ส่วนคนไข้ที่เหลือเลือกการผ่าตัดแบบอื่นๆ

ในการผ่าตัด ทีมแพทย์จะทำการกรีดผ่านส่วนบนของกระเพาะอาหารเพื่อสร้างให้เป็นถุงขนาดเล็กขึ้นมาขนาดเท่ากับเม็ดวอลนัท อาหารจะบายพาสกระเพาะอาหารแล้วเ้ข้าไปสู่ลำใส้เล็กส่วนกลางโดยตรง

เมื่อขนาดกระเพาะอาหารเล็กลง ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารน้อยลง ทำให้น้ำหนักตัวลดลง แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าคนไข้จะสามารถคงระดับน้ำหนักตัวให้ปกติหลังการผ่าตัดได้หรือไม่และผลดีต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัดจะถาวรหรือไม่

ด็อกเตอร์เท็ด อะดัมส์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าหกปีหลังการผ่าตัด เกือบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของคนไข้สามารถคงระดับน้ำหนักตัวให้เป็นปกติได้ และยังลดระดับความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายและอาการสมองขาดเลือดหล่อเลี้ยง

หัวหน้าทีมวิจัยอเมริกันกล่าวว่าทีมงานได้ศึกษาปัจจัยทุกข้อที่เป็นสาเหตุโรคหัวใจแล้วพบว่าคนที่เข้ารับการผ่าตัดลดน้ำหนักตัวมีความเสี่ยงลดลงต่อปัญหาสุขภาพนี้และความเสี่ยงดังกล่าวไม่เพิ่มขึ้นแม้ผ่าตัดไปแล้วหลายปี เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เ้ข้ารับการผ่าตัด

การวิจัยชิ้นนี้พบว่า ความดันโลหิต ระดับคลอเลสเตอรอลและโรคเบาหวานประเภทที่สองที่เกิดจากอาหารในผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดอยู่ในระดับต่ำกว่าคนที่ไม่เข้ารับการผ่าตัด นอกจากนี้การวิจัยยังพบด้วยการผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหารแบบมาตราฐานโรเอ็นวายสามารถแก้อาการเบาหวานประเภทที่สองได้

อย่างไรก็ดี เพื่อรักษาระดับน้ำหนักตัวหลังการผ่าตัดให้อยู่ในระดับปกติ ผู้รับการผ่าตัดต้องปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทานเสียใหม่ มีการออกกำลังกาย โดยต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
คุณโจดี้ สติวเบล่อร์ ผู้ป่วยที่เ้ขารับการผ่าตัดยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนนิสัยส่วนตัวด้านการกินและการออกกำลังกายหลังการผ่าตัดเป็นเรื่องที่ยากและผู้ป่วยต้องมีความมุ่งมั่น

เธอบอกว่าการปรับเปลี่ยนนิสัยการกินและการออกกำลังกายหลังการผ่าตัดเป็นความท้าทายอย่างมากเพราะผู้ป่วยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทุกด้านทั้งด้านสภาพจิตใจ ร่างกายและสภาวะทางอารมณ์

อย่างไรก็ตาม วงการแพทย์ยังไม่มีคำตอบแก่ข้อสงสัยอีกหลายประการเกี่ยวกับการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ด็อกเตอร์อะดัมส์ หัวหน้าทีมวิจัยวางแผนที่จะศึกษาผลของการผ่าตัดเพิ่มเติม โดยในคราวต่อไป เขาจะศึกษาสุขภาพของผู้ป่วย 10 ปีหลังการผ่าตัด
XS
SM
MD
LG