ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อุปทานเมล็ดธัญพืช-เมล็ดพืชน้ำมันตึงตัวจ่อดันภาวะเงินเฟ้ออาหารพุ่ง


A stork walks in front of a harvester in a wheat field in the village of Zghurivka, Ukraine, Tuesday, Aug. 9, 2022
A stork walks in front of a harvester in a wheat field in the village of Zghurivka, Ukraine, Tuesday, Aug. 9, 2022

สภาพภูมิอากาศที่แล้งจัด หรือฝนที่ตกหนักเกินไป รวมทั้งวิกฤตสงครามในยูเครนและต้นทุนด้านพลังงานที่พุ่งสูงล้วนเป็นปัจจัยที่กำลังจะมีผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกหนักในปีหน้าที่นักวิเคราะห์ประเมินว่า จะเกิดภาวะอุปทานตึงตัวอีกครั้ง แม้เกษตรกรจะเร่งเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงก็ตาม อ้างอิงจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ในเวลานี้ มีการคาดการณ์ว่า ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวและข้าวสาลี น่าจะไม่ออกมามากเพียงพอที่จะเติมเต็มพื้นที่ในคลังสินค้าที่ร่อยหรอลงไปได้ อย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2023 ขณะที่ พืชผลที่ใช้ในการผลิตน้ำมันสำหรับการบริโภคก็กำลังเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจในแถบละตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่

โอเล ฮูอี ผู้อำนวยการแผนกให้คำปรึกษาจาก IKON Commodities ซึ่งเ ป็นบริษัทนายหน้าซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า ความต้องการของตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์พืชผลต่าง ๆ ยังมีอยู่สูงกว่าอุปทาน ขณะที่ สถานการณ์โดยรวมยังดูไม่ดี โดยเฉพาะในส่วนของเมล็ดธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมัน

ขณะเดียวกัน ราคาข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันปาล์ม ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว แต่ยังคงถือว่าแพงอยู่ในตลาดค้าปลีก โดยภาวการณ์อุปทานตึงตัวในปีหน้าน่าจะทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ในระดับสูงต่อไปด้วย

ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญ

ราคาอาหารที่พุ่งไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อไม่นานมานี้ทำให้ประชาชนทั่วโลกต้องประสบปัญหาความทุกข์ยากถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศยากจนในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียที่เผชิญภาวะอดอยากและภาวะทุพโภชนาการอยู่แล้ว

ในปีนี้ ต้นทุนการนำเข้าอาหารทั่วโลกยังปรับขึ้นจนใกล้ถึงระดับสูงสุดที่เกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ จนทำให้ประเทศที่มีฐานะยากจนต้องลดการบริโภคลงอย่างมากด้วย

Farm Ministers Call for Commodity Market Regulation
Farm Ministers Call for Commodity Market Regulation

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาข้าวสาลีที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโกปรับขึ้นไปถึง 13.64 ดอลลาร์ต่อ 1 บุชเชล (bushel) ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา หลังรัสเซียส่งกองทัพรุกรานยูเครนซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกธัญพืชหลักรายหนึ่งของโลก และส่งผลให้ปริมาณผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในตลาดหดตัวลงจากที่หดหายไปก่อนหน้าเพราะปัญหาสภาพอากาศไม่เป็นใจและผลกระทบจากมาตรการจำกัดต่าง ๆ หลังการผ่อนคลายการควบคุมการระบาดของโควิด-19

นอกจากนั้น ราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองก็ไต่ขึ้นมาถึงระดับสูงที่สุดในรอบทศวรรษด้วย ขณะที่ ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดอ้างอิงของมาเลเซียปรับขึ้นไปถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคมเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ราคาข้าวสาลีได้ลดลงมาจนถึงระดับเดียวกับที่มีการซื้อขายก่อนเกิดสงครามในยูเครน และราคาน้ำมันปาล์มก็ลดลงไปถึงราว 40% ท่ามกลางความกลัวเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย รวมทั้งผลกระทบจากมาตรการจำกัดเนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน และการยืดระยะเวลาของข้อตกลงระเบียงทะเลดำ (Black Sea corridor) เพื่อเปิดทางให้ยูเครนกลับมาส่งออกธัญพืชได้อีกครั้ง

มองไปข้างหน้า ปี 2023

ปัญหาน้ำท่วมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อพืชผลซึ่งกำลังพร้อมที่จะมีการเก็บเกี่ยวพอดี ขณะที่ มีการคาดการณ์ว่า ภาวะแล้งจัดในอาร์เจนตินาจะทำให้ผลผลิตข้าวสาลีของประเทศหดหายได้ถึงเกือบ 40% ด้วย

สถานการณ์ทั้งหมดที่ว่านี้น่าจะทำให้ปริมาณข้าวสาลีในตลาดโลกลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2023

FILE PHOTO: A combine harvests wheat in Corn
FILE PHOTO: A combine harvests wheat in Corn

ยิ่งไปกว่านั้น สภาพฝนขาดช่วงในพื้นที่ลุ่มของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังมีปัญหาอัตราการเพาะปลูกพืชฤดูหนาวลดถึงระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 มา อาจทำให้อุปทานข้าวสาลีในช่วงครึ่งหลังของปีหน้ามีปัญหาหนักขึ้นอีกได้

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ข้าวนั้น ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ราคาน่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป ตราบเท่าที่ภาษีส่งออกที่อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ประกาศเรียกเก็บเมื่อต้นปีนี้ยังคงมีผลใช้งานต่อไป

ตัวแทนจากบริษัทผู้ค้าผลิตภัณฑ์การเกษตรแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ให้ความเห็นว่า “ปริมาณข้าวจากประเทศผู้ส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ยกเว้นเฉพาะอินเดียซึ่งเรียกเก็บภาษีส่งออกเพื่อลดปริมาณการจำหน่ายลง” และว่า “หากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในส่วนการผลิตของประเทศผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าลำดับต้น ๆ ขึ้น ทิศทางของราคาตลาดก็อาจมีการเหวี่ยงขึ้นได้”

สำหรับข้าวโพดและถั่วเหลืองนั้น ภาพรวมในอเมริกาใต้ยังดูสดใสสำหรับฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงต้นปี 2023 แม้ว่า ภาวะอากาศแห้งในบางพื้นที่ของบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกถั่วอันดับต้นของโลก อาจทำให้มีผู้รู้สึกกังวลอยู่บ้าง

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ปริมาณอุปทานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลัก ๆ ซึ่งรวมถึง ข้าวโพด ถั่วเหลือง และข้าวสาลี น่าจะคงตึงตัวอยู่ตลอดปีหน้า โดยมีการคาดว่า อุปทานข้าวโพดจะลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบทศวรรษก่อนฤดูการเก็บเกี่ยวปี 2023 ขณะที่ สต็อคของถั่วเหลืองปรับลงไปถึงจุดต่ำสุดในรอบ 7 ปีแล้ว และกระทรวงฯ ประเมินว่า สต็อคของข้าวสาลีในช่วงสิ้นปีน่าจะลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 15 ปี

ส่วนน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นน้ำมันสำหรับบริโภคที่มีผู้บริโภคมากที่สุดในโลก ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนหลายลูกที่พัดผ่านเข้าพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีปัญหาต้นทุนสูงจนเกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยลงไปแล้ว

และถึงแม้ราคาธัญพืชและเมล็ดธัญพืชที่สูงอยู่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรในบางประเทศ เช่น อินเดีย จีน และบราซิล หันมาปลูกพืชกลุ่มนี้มากขึ้น โอเล ฮูอี ผู้อำนวยการแผนกให้คำปรึกษาจาก IKON Commodities เชื่อว่า ปริมาณผลผลิตยังไม่น่าจะปรับขึ้นมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้อและปัจจัยกดดันอื่น ๆ และชี้ว่า “การผลิตนั้นยังไม่น่าจะสูงเพียงพอที่จะมาเติมเต็มอุปทานที่หดหายไปได้”

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG