หน่วยงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ ระบุในรายงานประจำปี พ.ศ. 2561 ล่าสุดว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมรุนแรงในสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง
จากรายงาน ในปีที่แล้ว สหรัฐฯ มีกรณีอาชญากรรมรุนแรงประมาณ 369 ครั้งต่อประชากร 1 แสนคน ลดลงราว 3.9% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2560 ถ้าเทียบกับสิบปีก่อนจะลดลงเกือบ 15% แต่ถ้าย้อนกลับไปเทียบกับช่วงราว 30 ปีที่แล้วซึ่งเป็นยุคที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาอาชญากรรมรุนแรงบ่อยครั้ง ตัวเลขดังกล่าวปรับลดมากกว่า 50%
สำหรับกรณีฆาตกรรม ในจำนวนประชากรสหรัฐฯ 1 แสนคนมีเหตุ 5 ครั้ง ลดลง 6% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2560 แต่ถ้าเทียบกับยุค พ.ศ. 2533 มีเหตุประมาณ 10 ครั้ง ถือว่าตัวเลขล่าสุดลดลงเกือบครึ่งเลยทีเดียว
การขยับขึ้นลงของจำนวนกรณีอาชญากรรม ยังเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายและนักอาชญาวิทยาในสหรัฐฯ
ทางด้านฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เชื่อว่าตัวเลขอาชญากรรมที่สูงในช่วง พ.ศ. 2558 - 2559 เป็นผลพวงมาจากนโนบายด้านคนเข้าเมืองของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา และตัวเลขที่ปรับลดในช่วงนี้ เชื่อว่ามาจากการเอาจริงกับอาชญากรรมและนโยบายการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลปัจจุบัน
แต่ทางด้านนายเอเมส กราเวิร์ท (Ames Grawert) นักอาชญาวิทยาจาก ศูนย์ Brennan Center for Justice จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้เขียนในรายงานว่า “จำนวนฆาตกรรม จำนวนอาชญากรรมรุนแรง และ จำนวนอาชญากรรมโดยรวมทั้งหมด เมื่อวัดจากทั้งสามดัชนีนี้ จะพบว่าจำนวนอาชญากรรมในสหรัฐฯ อยู่ในช่วงใกล้จุดต่ำสุดของแนวโน้มขาลงที่ดำเนินมามากกว่า 25 ปีแล้ว” ในรายงานของนายกราเวิร์ท ยังบ่งชี้ว่าแนวโน้มอาชญากรรมที่ลดลงอาจจะไม่ได้ครอบคลุมไปในทุกเมือง ฉะนั้นยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับแนวทางใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยให้กับประชาชน
เอฟบีไอรายงานตัวเลขนี้ไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เผยสถิติการสำรวจว่าเหยื่ออาชญากรรมรุนแรงในสหรัฐฯมีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 22% ในช่วงสามปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การสำรวจทั้งสองนี้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งที่ต่างกัน ตัวเลขของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อ้างอิงจากยอดอาชญากรรมทั้งที่รายงานและไม่ได้รายงานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะทีเอฟบีไอนั้น สรุปมาจากยอดการแจ้งอาชญากรรมตามความสมัครใจของสำนักงานตำรวจหลายพันแห่งทั่วสหรัฐฯ
รายงานจากเอฟบีไอฉบับนี้ยังระบุถึงอาชญากรรมรูปแบบอื่นๆ เช่น ในประชากร 1 แสนคนมีจำนวนการปล้นอยู่ที่ 86.2 กรณี ลดลงราว 12% แต่เหตุข่มขืนกลับมีตัวเลขสูงขึ้น 42.6 กรณีเพิ่มขึ้นราว 2.1%
สำหรับเมืองขนาดใหญ่ที่มีผู้อาศัยเกิน 1 ล้านคน จำนวนกรณีฆาตกรรมปรับตัวลดลง เช่น ในประชากร 1 แสนคน เมืองชิคาโก้มีเหตุ 21 ครั้ง ลดลงราว 14% เมืองบัลติมอร์มี 51 ครั้ง ลดลงประมาณ 9% ในขณะที่เมืองนิวยอร์ก เมืองใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ สถิติในปีที่แล้วดีขึ้นเล็กน้อย มีจำนวนกรณีฆาตกรรมทั้งสิ้น 287 ครั้ง ถ้าเทียบตัวเลขนี้กับช่วงยุค พ.ศ. 2533 ถือว่าลดลงมากถึง 87%