ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: สหรัฐฯ 'ยืนยัน' ไม่ได้พัฒนาโคโรนาไวรัสเป็นอาวุธ อย่างที่รัสเซียกล่าวหา


A colorized electron microscope image made available by the U.S. National Institutes of Health in February 2020 shows the novel Coronavirus SARS-CoV-2, indicated in yellow, cultured in the lab. (NIAID-RML/AP)
A colorized electron microscope image made available by the U.S. National Institutes of Health in February 2020 shows the novel Coronavirus SARS-CoV-2, indicated in yellow, cultured in the lab. (NIAID-RML/AP)
เกนนาดี โอนิเชนโก

เกนนาดี โอนิเชนโก

นักวิชาการและอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขรัสเซีย

“ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ... มีการคิดค้นสูตร [โคโรนาไวรัส] เพื่อเป็นอาวุธขึ้นมา”

เท็จ

นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้ารายหนึ่งของรัสเซียออกมากล่าวอ้างเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา ทำการ “พัฒนาอาวุธ” จากเชื้อโคโรนาไวรัสซึ่งเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ในระหว่างจัดรายการวิทยุทางสถานี เรดิโอ สปุตนิก ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลมอสโก เกนนาดี โอนิเชนโก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของรัสเซีย และปัจจุบันเป็นสมาชิกของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซีย พูดถึงการศึกษาชิ้นหนึ่งที่สร้างลูกผสมของเชื้อโคโรไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมและเชื้อโอมิครอน ซึ่งเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่ติดต่อกันอย่างง่ายดาย โดยระบุว่า:

“ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ... มีการคิดค้นสูตร [โคโรนาไวรัส] เพื่อเป็นอาวุธขึ้นมา นี่คือข้อพิสูจน์อันยอดเยี่ยม ... ซึ่งเราต้องเรียกร้องให้มีการออกมาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับกรอบกติกาการพัฒนาอาวุธชีวภาพและอาวุธเคมี เราควรใช้ประโยชน์จากจุดนี้ในการถามพวกอเมริกันว่า จริง ๆ แล้วพวกเขาไปทำอะไรกันในยูเครน”

คำกล่าวหาที่อ้างว่าสหรัฐฯ มีห้องปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในยูเครนเพื่อใช้พัฒนาอาวุธชีวภาพนั้น ปรากฏขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ในกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย และหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงแผนก Polygraph ของวีโอเอ ก็ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนจะมาหักล้างคำกล่าวอ้างที่ว่านี้ไปหลายครั้งแล้ว

ถึงกระนั้น ทีมนักโฆษณาชวนเชื่อของเครมลินก็ไม่เคยหยุดที่จะพยายามนำเสนอประเด็นนี้ในรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาเมื่อมีโอกาส โดยล่าสุดก็มาจากการเผยแพร่ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ทางอินเตอร์เน็ต เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งออกมาก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการและก่อนจะเสนอให้คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาตรวจสอบและตัดสินว่า รายงานนี้เป็นผลงานที่ยอมรับได้หรือไม่

วารสารวิทยาศาสตร์ Nature พูดถึงรายงานการศึกษานี้ว่า มีจุดประสงค์เพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไมไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนถึงมีความร้ายแรงต่อผู้ป่วยในระดับที่ไม่ทำให้ถึงตายต่ำกว่า แต่แพร่กระจายได้ง่ายกว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยมีเนื้อหาดังนี้:

“เมื่อผู้ทำการวิจัยที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สอดแทรกยีนจากไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์โอมิครอน เข้าไปในสายพันธุ์ดั้งเดิมของ(โคโรนา)ไวรัสที่พบเมื่อช่วงเริ่มต้นการระบาดใหญ่ พวกเขาพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมโอมิครอนถึงทำให้เกิดอาการป่วยอ่อน ๆ”

แต่ปัญหาก็คือ การจะทำให้ผลการศึกษากลายมาเป็นประเด็นตื่นเต้นน่าติดตามนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย และในที่สุด หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ เดอะ เดลิเมล์ (The Daily Mail) ของอังกฤษ ก็ตีพิมพ์เรื่องราวตามแนวทางของสื่อแห่งนี้ พร้อมหัวข้อข่าวยาวสั่นประสาท ว่า

“รายงานพิเศษ: ‘นี่คือการเล่นกับไฟ – ที่อาจก่อให้เกิดภาวะระบาดใหญ่เป็นวงกว้างโดยมีกำเนิดมาจากห้องแล็บ’ : ผู้เชี่ยวชาญรุมยำห้องแล็บในบอสตัน ที่นักวิทยาศาสตร์ผลิตไวรัสโควิดสายพันธุ์ร้ายแรงถึงตายตัวใหม่ ซึ่งมีอัตราการตายถึง 80%”

หลังจากนั้น สื่ออื่น ๆ ซึ่งรวมถึง ฟ็อกซ์ นิวส์ (Fox News) นำไปขยายความต่อ

ในรัสเซีย สถานีโทรทัศน์ Rossia-24 TV ซึ่งเป็นของรัฐบาลรายงานว่า สหรัฐฯ คิดค้นอาวุธชีวภาพตัวใหม่ โดยอ้างว่าเป็นการวิจัยทางการแพทย์

จากนั้น สื่อรัฐบาลรัสเซียแห่งอื่น ๆ และสถานีโทรทัศน์หลายแห่งก็นำรายงานดังกล่าวออกไปเผยแพร่ต่อทันที โดยสถานีโทรทัศน์ channel TV ซึ่งเป็นช่องที่ได้รับความนิยมอย่างมากนำเสนอทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดใหม่เกี่ยวกับผลพลอยได้ทางการเงินซึ่งสหรัฐฯ จะได้รับจากเชื้อโคโรนาไวรัส “อีกสายพันธุ์ที่น่ากลัวยิ่งกว่าเก่า” ด้วย

ส่วนที่สหรัฐฯ นั้น มหาวิทยาลัยบอสตันออกมา ปกป้องผลการศึกษาของตน และกล่าวว่า ผู้ทบทวนเนื้อหาด้านความปลอดภัยทางชีวภาพได้ตรวจสอบผลงานวิจัยนี้ ในพื้นที่ปฏิบัติการที่มีการกักกั้นในระดับความปลอดภัยทางชีวภาพสูงถึง BSL-3 ที่ห้องทดลอง National Emerging Infectious Diseases Laboratories (NEIDL) ของมหาวิทยาลัย ก่อนจะยืนยันความถูกต้องออกมาก

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังเน้นย้ำด้วยว่า การศึกษาดังกล่าวไม่เป็นงานวิจัยที่พยายามสร้างซูเปอร์ไวรัส ซึ่งเป็นประเด็นที่นำมาซึ่งเรื่องถกเถียงกันกันอย่างมาก และมีผู้แย้งว่า จะเป็นวิธีทำให้ไวรัสกลายสภาพมาเป็นเชื้อโรคที่จะช่วยเปิดทางให้มีการคิดค้นการป้องกันก่อนที่จะเกิดการระบาดจริง

ทั้งนี้การทดลองของมหาวิทยาลัยแห่งนี้แสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสลูกผสมนั้นทำให้หนูที่ติดเชื้อแล้ว 8 ตัวจากทั้งหมด 10 ตัวตายไป ขณะที่ เชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมฆ่าหนูที่ติดเชื้อไป 8 ตัว แต่หนูที่ติดเชื้อโอมิครอนไม่ตายเลยสักตัว

โรนัลด์ บี คอร์ลีย์ ผู้อำนวยการของ NEIDL กล่าวว่า รายงานข่าวเรื่องนี้จับแต่ประเด็นอัตราการตาย 80% ของหนูที่ร่วมทดลอง และว่า “นี่เป็นการนำข้อมูลส่วนหนึ่งออกมาเสนอโดยไม่มีการอธิบายหรือให้บริบท ด้วยจุดประสงค์เพียงเพื่อทำให้ข่าวฟังน่าตื่นเต้นน่าตกใจ และนี่ไม่เป็นการบิดเบือนเพียงผลการทดลอง แต่ยัง(บิดเบือน)จุดประสงค์ของการศึกษาด้วย”

อย่างไรก็ตาม การที่มหาวิทยาลัยบอสตันออกมาหักล้างข่าวที่ถูกเสนอออกมานี้ไม่สามารถช่วยสกัดไม่ให้คนในวงการวิทยาศาสตร์ออกมาอภิปรายถกเถียงกันเลย โดยมีบางรายตั้งคำถามเกี่ยวกับทั้งตัวการศึกษาและวิธีการเผยแพร่ผลการศึกษาก่อนที่จะเสนอให้คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาตรวจสอบและตัดสินว่า รายงานนี้เป็นผลงานที่ยอมรับได้หรือไม่ และบางรายชี้ว่า งานการศึกษาชิ้นก่อน ๆ และธรรมชาติก็ได้ก่อกำเนิดสายพันธุ์ไวรัสคล้าย ๆ กันนี้มาไว้แล้ว

นิตยสาร Science รายงานว่า “โฟลเรียน แครมเมอร์ นักไวรัสวิทยาจาก วิทยาลัยแพทย์ Icahn ที่โรงพยาบาล Mount Sinai เชื่อว่า การทดลองนี้ไม่น่ากังวลมาก เพราะไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ลูกผสมที่มีลักษณะคล้าย ๆ นั้นปรากฏขึ้นมาตามธรรมชาติและค่อย ๆ เลือนหายไปเองอยู่แล้ว” และแครมเมอร์ยังทวีตข้อความออกมาด้วยว่า พระแม่ธรณีได้จัดการเรื่องนี้ใส่ในตัวมนุษย์สักพักแล้ว และไม่มีใครสนใจเลย”

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ

XS
SM
MD
LG