ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: รัสเซียร่วมโจมตีอิสราเอล จริงหรือไม่?


ภาพจากคลิปวิดีโอที่บันทึกเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2023 แต่มีผู้นำมาโพสต์ทางติ๊กตอกแล้วอ้างว่าเป็นคลิปจากปี 2017 ที่เป็นกรณีการทดสอบยิงขีปนาวุธของกองทัพเรืออินเดีย แต่ถูกระบุว่า เป็นภาพการโจมตีอิสราเอลโดยรัสเซีย
ภาพจากคลิปวิดีโอที่บันทึกเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2023 แต่มีผู้นำมาโพสต์ทางติ๊กตอกแล้วอ้างว่าเป็นคลิปจากปี 2017 ที่เป็นกรณีการทดสอบยิงขีปนาวุธของกองทัพเรืออินเดีย แต่ถูกระบุว่า เป็นภาพการโจมตีอิสราเอลโดยรัสเซีย
news_fast2

news_fast2

ผู้ใช้งานติ๊กตอก

"รัสเซียโจมตีอิสราเอลวันนี้ เพื่อช่วยปาเลสไตน์ : 25 ตุลาคม 2023"

เท็จ

การแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังคงเป็นประเด็นที่พบเห็นได้อย่างมากมายตามสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายซึ่งมีผู้ใช้งานที่มีอายุไม่มากนำไปกล่าวอ้างว่าเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้งานแอปติ๊กตอก (TikTok) รายหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า news_fast2 นำคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งออกมาแชร์และมีเนื้อหาเป็นภาพของเรือรบลำหนึ่งขณะยิงขีปนาวุธออกมา โดยโพสต์นี้มีผู้ชมไปถึง 4 ล้านครั้งและมีผู้กดไลค์ (Like) 53,700 ครั้งภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์

คำบรรยายของคลิปนี้มีเนื้อความว่า:

“รัสเซียโจมตีอิสราเอลวันนี้ เพื่อช่วยปาเลสไตน์ : 25 ตุลาคม 2023”

นั่นเป็นความเท็จ

คลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นภาพเรือฟริเกตติดขีปนาวุธนำวิถี ที่ใช้เทคโนโลยี Stealth ทำให้ถูกตรวจจับยาก ซึ่งรัสเซียออกแบบและประกอบให้กับกองทัพเรืออินเดีย โดยเป็นภาพขณะทำการทดสอบการยิงขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียง Indo-Russian Brahmos ในพื้นที่อ่าวเบงกอล เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2017

ทั้งนี้ คลิปวิดีโอที่ว่าเป็นคลิปที่หาได้ไม่ยากทางแพลตฟอร์มยูทูบ

การใช้งานคลิปวิดีโอเก่า ๆ อย่างไม่สุจริต (misuse) และการระบุแหล่งที่มาอย่างไม่ถูกต้อง (misattribution) กลายมาเป็นวิธีการบิดเบือนข้อมูลที่ใช้กันอย่างชัดเจนในภาวะสงครามอิสราเอล-ฮามาส

ฝ่าย Polygraph ของวีโอเอ ได้เก็บบันทึกตัวอย่างการกระทำดังว่าไว้หลายรายการ อาทิ การใช้คลิปวิดีโอจากสงครามในซีเรีย และกิจกรรมทางทหารในฟิลิปปินส์ มาหลอกให้ผู้อื่นเชื่อว่า เป็นภาพเหตุการณ์ภาวะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายยังนำเสนอแรงจูงใจต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้งานประจำของตนในการทำการดังกล่าว โดยไม่ได้มีการเชื่อมโยงอันชัดเจนกับตัวแสดงรัฐ (state actor) ที่มุ่งทำการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนใด ๆ

สื่อฟอร์จูน (Fortune) รายงานเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ว่า ผู้ใช้งานแอปติ๊กตอกนั้นสามารถเลือกจ่ายเงินก้อนเล็ก ๆ เพียง 7 ดอลลาร์เพื่อโปรโมทโพสต์ของตนให้มีผู้เข้ามาชมเพิ่มอีกหลายพันครั้งได้อย่างไม่ยาก

ฟอร์จูนระบุว่า ประเด็นนี้ยังเป็นการเปิด “ช่องทางต้นทุนต่ำเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับประเด็นร้อนทั้งหลาย” อีกด้วย

และเมื่อมีผู้แจ้งให้กับติ๊กตอกทราบเกี่ยวกับบทความที่ว่าซึ่งฟอร์จูนเตรียมตีพิมพ์ออกมา แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมนี้ก็รีบถอดเนื้อหาที่มีผู้จ่ายเงินซื้อพื้นที่เผยแพร่ออกจากระบบค้นหาเกี่ยวกับ “อิสราเอล” และ “อิสราเอลปาเลสไตน์” ทันที ตามการเปิดเผยของสื่อแห่งนี้

ในส่วนของโพสต์โดยผู้ใช้งานติ๊กตอกที่ชื่อ “news_fast2” นั้น เป็นหนึ่งในผลลัพธ์การค้นหาโดยใช้คำว่า “กาซ่า” บนติ๊กตอก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม โดยการตรวจสอบพบว่า ผู้ใช้งานติ๊กตอกรายนี้เริ่มโพสต์ข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมและโพสต์แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาสเท่านั้น

การกล่าวอ้างที่เป็นเท็จที่ว่า รัสเซียโจมตีอิสราเอล ดึงดูดให้มีผู้คนมากดไลค์ (Like) และชมเนื้อหามากกว่าโพสต์อื่น ๆ ของผู้ใช้งานรายนี้รวมกันเสียอีก และยังไม่มีการยืนยันได้ว่า news_fast2 นั้นจ่ายเงินเพื่อโปรโมทโพสต์นี้ของตนด้วยหรือไม่

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ส่งคำร้องอย่างเป็นทางการไปยังบริษัทเมตา (Meta) และติ๊กตอก เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่มีการดำเนินงานเพื่อหยุดยั้ง “การเผยแพร่และการขยายความข้อมูลผิดกฎหมายและข้อมูลบิดเบือน” อันเกี่ยวข้องกับกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเองและฮามาสแล้วด้วย

นอกจากนั้น สหภาพยุโรป (อียู) ก็กำลังทำการสอบสวนแพลต์ฟอร์ม เอ็กซ์ (X) เกี่ยวกับกรณีการเผยแพร่เนื้อหาที่มีความรุนแรงและข้อมูลบิดเบือนบนช่องทางของตนอยู่เช่นกัน

สำหรับกรณีของติ๊กตอกนั้น หลังได้รับคำร้องขอจากคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว แพลตฟอร์มนี้เปิดเผยว่า ตนได้เปิดตัวศูนย์บัญชาการ “เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วนี้” และยังได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาซึ่งพูดภาษาอาหรับและฮีบรูได้มาทำหน้าที่เพิ่ม รวมทั้งสั่งปรับปรุงพัฒนา “ระบบตรวจสอบอัตโนมัติเชิงรุกแบบ real time” ไปด้วย

ทั้งนี้ หลังกลุ่มฮามาสทำการโจมตีแบบสายฟ้าแลบเข้าใส่อิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม กลุ่มติดอาวุธนี้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าเป็น กลุ่มก่อการร้าย ได้เล็งเป้ามายังผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายและกลุ่มก้อนต่าง ๆ พร้อมเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนไปให้ เพื่อหวังสร้างกระแสความเกลียดชังเข้าใส่อิสราเอล

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ตัวแสดงรัฐ (state actor) ซึ่งหมายถึง จีน อิหร่านและรัสเซีย ก็กำลังทำการเผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จทั้งหลายเกี่ยวกับภาวะความขัดแย้งนี้เพื่อสร้างความสับสนวุ่นวายและหาประโยชน์ใส่ตนอยู่เช่นกัน

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา รัสเซียเพิ่งเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะผู้แทนกลุ่มฮามาสที่มาเยือนกรุงมอสโก เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในฉนวนกาซ่าซึ่งเป็นดินแดนที่ฮามาสปกครองอยู่ โดยในงานนี้ อาลี บาเกรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ได้เข้าร่วมการหารือด้วย

รัสเซียเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสมาเป็นเวลานานแล้ว พร้อม ๆ กับทำตัวเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของอิหร่านซึ่งเป็นผู้ที่จัดหาอาวุธ การสนับสนุนทางการเงินและการฝึกอบรมให้กลุ่มฮามาส ขณะที่ อิหร่านยังจัดหาโดรนและการสนับสนุนอื่น ๆ ให้กับรัสเซียเพื่อใช้ในการดำเนินการทำสงครามในยูเครนมาโดยตลอด

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ

XS
SM
MD
LG