ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: จีนอ้างว่า สหรัฐฯ ขายอาวุธ 'ตกยุค-โก่งราคา' ให้ไต้หวัน -- อะไรคือความจริง?


Military personnel stand next to U.S. Harpoon A-84, anti-ship missiles and AIM-120 and AIM-9 air-to-air missiles prepared for a weapon loading drills in front of a U.S. F-16V fighter jet at the Hualien Airbase in Taiwan's southeastern Hualien county, Aug.17, 2022.(AP/Johnson Lai)
Military personnel stand next to U.S. Harpoon A-84, anti-ship missiles and AIM-120 and AIM-9 air-to-air missiles prepared for a weapon loading drills in front of a U.S. F-16V fighter jet at the Hualien Airbase in Taiwan's southeastern Hualien county, Aug.17, 2022.(AP/Johnson Lai)
หนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทมส์ (Global Times)

หนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทมส์ (Global Times)

"การเปลี่ยนเกาะไต้หวันให้กลายมาเป็น 'เม่น' คือ แผนการที่มีแต่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และการขายอาวุธตกยุคและมีการโก่งราคามากมายขนาดนั้นก็ยังทำกำไรให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมทางทหารของสหรัฐฯ ด้วย"

เท็จ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศอนุมัติความช่วยเหลือทางทหารรอบใหม่มูลค่า 345 ล้านดอลลาร์ให้กับไต้หวัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้อำนาจของประธานาธิบดีเพื่อเดินหน้าแผนงานนี้ให้กับเกาะซึ่งปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตย

และเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม หนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษ โกลบอลไทมส์ (Global Times) ของรัฐบาลจีนเปิดประเด็นให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการขายอาวุธของสหรัฐฯ ให้กับไต้หวัน ดังนี้:

"การเปลี่ยนเกาะไต้หวันให้กลายมาเป็น 'เม่น' คือ แผนการที่มีแต่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และการขายอาวุธตกยุคและมีการโก่งราคามากมายขนาดนั้นก็ยังทำกำไรให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมทางทหารของสหรัฐฯ ด้วย"

นี่คือความเท็จ

ผู้เชี่ยวชาญทางทหารบอกกับผู้สื่อข่าวของฝ่าย Polygraph ของวีโอเอ ว่า สหรัฐฯ ส่งยุทโธปกรณ์ชั้นยอดให้กับไต้หวันเป็นเวลาหลายปีแล้ว ซึ่งมีทั้ง เครื่องบินรบ เอฟ-16 รุ่นใหม่ จรวด HIMARS และอื่น ๆ โดยโครงการ Foreign Military Sales (FMS) ซึ่งเป็นโครงการขายอาวุธให้กับประเทศพันธมิตรโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ไต้หวันใช้เพื่อจัดซื้ออาวุธส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ นั้นเป็นระบบที่ปฏิบัติต่อลูกค้าต่างชาติทุกประเทศเหมือนกัน แม้แต่ในเรื่องของราคา

อาวุธเหล่านี้ไม่ได้มีการโก่งราคาขายเลย แต่สะท้อนภาพความจริงของต้นทุนแรงงานในสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง และเรื่องของเทคโนโลยีที่มีความล้ำสมัยมากกว่าและสมรรถนะที่สูงกว่าของระบบที่สหรัฐฯ เป็นผู้พัฒนาขึ้นมามากกว่า

In this Sept. 16, 2014 file photo, a Taiwan Air Force F-16 fighter jet takes off from a closed section of highway during the annual Han Kuang military exercises in Chiayi, central Taiwan.(AP/Wally Santana)
In this Sept. 16, 2014 file photo, a Taiwan Air Force F-16 fighter jet takes off from a closed section of highway during the annual Han Kuang military exercises in Chiayi, central Taiwan.(AP/Wally Santana)

ในเวลานี้ ไต้หวันกำลังดำเนิน “ยุทธศาสตร์เม่น” ซึ่งหลายคนรู้จักกันในฐานะสงครามอสมมาตรที่เป็นยุทธศาสตร์หลักทางทหารเพื่อรับมือกับจีนที่ ลี ชี-หมิน อดีตหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่แห่งกองทัพไต้หวันเป็นผู้ริเริ่มในปี 2017 และเน้นย้ำการใช้ “สิ่งเล็กสิ่งน้อยเป็นจำนวนมาก” อันทำให้ไต้หวันต้องมุ่งสั่งสมอาวุธขนาดเล็กเพื่อการต่อต้านเรือรบ รถถัง และการโจมตีทางอากาศ มากกว่าการสรรหาระบบอาวุธขนาดใหญ่เพื่อเตรียมป้องกันการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นจากฝีมือของจีน

นับตั้งแต่สภาคองเกรสผ่านกฎหมายที่ชื่อ Taiwan Relations Act ในปี 1979 รัฐบาลกรุงวอชิงตันได้อนุมัติการขายอาวุธให้กับไต้หวันเพื่อช่วยรักษาระดับความสามารถในการป้องกันตนเองให้เพียงพอมาโดยตลอด

อาวุธที่สหรัฐฯ ขายไปนั้นตกรุ่นจริงหรือไม่

ความเป็นจริงขัดแย้งกับสิ่งที่ Global Times อ้าง เพราะอาวุธหลายประเภทที่สหรัฐฯ ขายให้กับไต้หวันมีความล้ำสมัยพอสมควร ในแง่ของทั้งเทคโนโลยีและสมรรถนะ อาทิ ขีปนาวุธจาเวลิน (Javelin) และสติงเกอร์ (Stinger) ที่ขายให้ไต้หวันในปี 2015 ขีปนาวุธสติงเกอร์ที่ขายให้กรุงไทเปในปี 2019 รวมทั้งขีปนาวุธฮาร์ปูนและระบบ HIMARS ที่ขายให้ในปี 2020

มาร์ค แคนเชียน นายทหารระดับยศพันเอกของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่เกษียณไปแล้วและปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาอาวุโสที่ Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน บอกกับผู้สื่อข่าว Polygraph ว่า “เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สหรัฐฯ ส่งยุทโธปกรณ์ชั้นยอดให้กับไต้หวัน ส่วนคำขอในเวลานี้จากไต้หวันก็มีทั้งเครื่องบินเอฟ-16 จรวด HIMARS และขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ‘จาเวลิน’ โดยทั้งหมดนี้คือระบบแบบเดียวกับที่เรามอบให้ หรือคิดว่าจะมอบให้ยูเครน”

ทั้งนี้ ในปี 2019 รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติการขายเครื่องบินรบเอฟ-16 ใหม่จำนวน 66 ลำให้กับไต้หวันแล้ว

ข้อมูลจากหน้าเพจสมุดรายนาม World Air Forces ของเว็บไซต์ข่าวแวดวงอุตสาหกรรมการบิน Flightglobal ระบุว่า ปัจจุบัน มีเครื่องบินเอฟ-16 ที่ใช้งานอยู่ทั่วโลกถึง 2,184 ลำ ทำให้เครื่องบินรุ่นนี้เป็นเครื่องบินรบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยสัดส่วนถึง 15% ของเครื่องบินในกองบินทั่วโลก

สำหรับออเดอร์สั่งซื้อเครื่องเอฟ-16 ของไต้หวันในปี 2019 ซึ่งยังรอนำส่งอยู่ เป็นรุ่นที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ประกอบอากาศยานที่มีการยกระดับความสามารถเพิ่มขึ้นแล้ว และระบบเรดาร์และขีปนาวุธเพื่อใช้รับมือกับเครื่องบินรบของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People’s Liberation Army – PLA) รวมทั้งเครื่องบินล่องหนรุ่นเจ-20 (J-20) และเครื่องบินรุ่นเจ-16 (J-16) ซึ่งมักส่งบินข้ามเข้ามาในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศ (Air Defense Identification Zone) ของไต้หวันเป็นประจำ

12 F-16V fighter jets perform an elephant walk during an annual New Year's drill in Chiayi, Taiwan, January 5, 2022. (REUTERS/Ann Wang)
12 F-16V fighter jets perform an elephant walk during an annual New Year's drill in Chiayi, Taiwan, January 5, 2022. (REUTERS/Ann Wang)

อีกหนึ่งตัวอย่างของยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐฯ พัฒนาและส่งให้กับไต้หวันก็คือ ขีปนาวุธเอฟจีเอ็ม-148 (FGM-148) ซึ่งกรุงไทเปต้องการมาใช้เสริมสรรพกำลังด้านการป้องกันตนเอง

ส่วนขีปนาวุธจาเวลินที่เป็นหนึ่งในระบบต่อต้านรถถังชั้นนำของโลกเพราะความสามารถในการทำลายรถถังรุ่นใหม่จากด้านบนซึ่งส่วนที่บอบบางที่สุดได้อย่างง่ายดาย สหรัฐฯ อนุมัติการขายให้กับไต้หวันเป็นจำนวน 200 ลูกและมีกำหนดนำส่งระหว่างปี 2023 และปี 2024

และในปี 2019 เช่นกัน ไต้หวันสั่งซื้อรถถังเอบรัมส์ รุ่น M1A2T จำนวน 108 คันจากสหรัฐฯ โดยรถถังรุ่น M1 นี้ซึ่งกองทัพสหรัฐฯ เริ่มนำมาใช้งานในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ได้รับการพิสูจน์มาหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า เชื่อถือไว้วางใจได้และมีประสิทธิภาพสูงในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียและสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน รวมทั้งในสถานการณ์ความขัดแย้งอื่น ๆ ด้วย

นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ประเทศอื่น ๆ ที่ใช้รถถังเอบรัมส์มีอาทิ คูเวต ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์และออสเตรเลีย โดยรถถังรุ่นนี้ในกลุ่ม M1A2 นั้นเป็นกลุ่มที่มีการปรับปรุงสมรรถนะมาแล้วทั้งในส่วนระบบตรวจจับด้วยความร้อนและความสามารถในการยิงเป้าหมาย 2 จุดพร้อมกันได้ในครั้งเดียว

จุดนี้จึงพิสูจน์ได้ว่า สหรัฐฯ นำส่งอาวุธชั้นยอดให้กับไต้หวันมาโดยตลอด และ มาร์ค แคนเชียน ที่ปรึกษาอาวุโสที่ Center for Strategic and International Studies ระบุว่า ไต้หวันนั้นมักใช้ระบบอาวุธต่าง ๆ เป็นระยะเวลานานจนทำให้อาวุธบางระบบของตน โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ในกองทัพ ตกรุ่นไปบ่อย ๆ

อาวุธที่สหรัฐฯ ส่งให้ไต้หวันเป็นผลิตภัณฑ์โก่งราคาหรือไม่

หนังสือพิมพ์ Global Times ยังอ้างด้วยว่า อาวุธที่สหรัฐฯ ขายให้ไต้หวันนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการโก่งราคา

ในความเป็นจริง ระบบอาวุธของสหรัฐฯ นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่แพงกว่าระบบคล้าย ๆ กันที่ผลิตในประเทศอื่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะของจีน

มาร์ค แคนเชียน ระบุว่า จุดนี้ “ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นภาพต้นทุนแรงงานในสหรัฐฯ ที่สูงกว่า แต่อีกส่วนก็สะท้อนให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่าและมีสมรรถนะสูงกว่าของระบบที่สหรัฐฯ พัฒนาด้วย”

ลี ชี-มิน อดีต อดีตหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่แห่งกองทัพไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสที่สถาบัน Project 2049 Institute ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองในรัฐเวอร์จิเนีย บอกกับ Polygraph ว่า ขณะที่ โครงการ Foreign Military Sales (FMS) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ไต้หวันใช้เพื่อการจัดหาอาวุธของตนนั้น มีเงื่อนไขการดูแลลูกค้าต่างชาติคล้าย ๆ กัน แต่เพราะรายละเอียดของการซื้อขายรวมความถึงระบบย่อยต่าง ๆ ชิ้นส่วนอะไหล่ การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์และการฝึกอบรม รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ด้วย การจะมาเปรียบเทียบราคาแบบตรง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

ขณะเดียวกัน ปัจจัยหลายอย่างก็อาจกระทบต่อต้นทุนของอาวุธแบบหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้ เช่น กำลังของสายการผลิตและความสามารถของผู้ผลิตในการนำเสนอส่วนลด เป็นต้น

ลี กล่าวว่า “ปัจจัยผันแปรที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อประเทศลูกค้าของโครงการ FMS ซึ่งรวมถึง ไต้หวัน ด้วย” และว่า “ดังนั้น อาวุธของสหรัฐฯ ที่ขายให้กับไต้หวันก็ไม่ได้มีการโก่งราคาเลย”

แผนการช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯ ให้กับไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของงบที่มาจากการใช้อำนาจของประธานาธิบดีเพื่อดึงอาวุธมาจากคลังของสหรัฐฯ เอง ซึ่งหมายความว่า ไต้หวันจะได้รับอาวุธต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ
XS
SM
MD
LG