เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ถูกสื่อ TASS ของทางการรัสเซียถามเกี่ยวกับความน่าจะเป็นที่จะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามในยูเครน และตอบกลับมาว่า “สหรัฐฯ และพวกชาติตะวันตก” คือ ผู้ที่ใช้ “โฆษณาชวนเชื่อ” เกี่ยวกับประเด็นการใช้อาวุธนิวเคลียร์มาโดยตลอด ดังนั้น ผู้สื่อข่าวควรไปถามประเด็นนี้กับบรรดาชาติตะวันตกมากกว่า
ลาฟรอฟ กล่าวว่า “ในด้านหนึ่ง ยังมีการคาดเดาอย่างไร้ความรับผิดชอบที่ออกมาอย่างต่อเนื่องและระบุว่า รัสเซียน่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อยูเครนในเร็ว ๆ นี้ (โดย) มีการเชื่อมโยงกับแถลงการณ์ของผู้นำทางการเมืองของรัสเซีย แต่ในความเป็นจริง ไม่เคยมีคำแถลงการณ์ที่ว่าเลย และในทางกลับกัน สัญญาณการใช้(อาวุธ)นิวเคลียร์จากฝ่ายตะวันตกนั้นกลับดูมุ่งร้ายอย่างมาก”
รมต.ต่างประเทศรัสเซียยังกล่าวด้วยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ของอังกฤษ “ประกาศว่า เธอพร้อมที่จะสั่งโจมตีด้วยนิวเคลียร์” ในระหว่างช่วงการหาเสียงเลือกตั้งด้วย พร้อมชี้ว่า “อย่างไรก็ตาม กรุงวอชิงตันทำมากกว่านั้น – โดย ‘เจ้าหน้าที่ที่ไม่ระบุตัวตน’ จากเพนตากอนออกมาขู่ว่าจะดำเนินการ ‘โจมตีแบบเด็ดหัว’ ใส่เครมลิน ... ซึ่งเป็นคำขู่ที่จะกำจัดตัวผู้นำของรัสเซียออกไป”
ลาฟรอฟยังกล่าวหาประธานาธิบดียูเครนว่า ทำการยั่วยุ “เกินปกติ” โดยระบุว่า “โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ตกลงที่จะเรียกร้องให้กลุ่มประเทศนาโต้ทำการโจมตีด้วยนิวเคลียร์เข้าใส่รัสเซียเพื่อจุดประสงค์การปกป้อง นี่มันข้ามเส้นของสิ่งที่ยอมรับได้แล้ว”
แต่คำอธิบายเกี่ยวกับคำแถลงทั้งหลายจากสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ นั้นทำให้สังคมเข้าใจผิด ทั้งยังไม่พูดถึงบริบทของแถลงการณ์ต่าง ๆ ด้วย
และในความเป็นจริง มอสโกเองก็ออกมาขู่เกี่ยวกับความน่าจะเป็นของการใช้นิวเคลียร์เมื่อพูดถึงเรื่องสงครามในยูเครนด้วย
และเมื่อวันที่ 21 กันยายน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แสดงความเต็มใจที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ด้วยการระบุว่า:
"หากบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศของเราถูกคุกคาม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราจะใช้ทุกอย่างที่มีเพื่อปกป้องรัสเซียและประชาชนของเรา --- นี่ไม่ใช่การบลัฟ ... และพวกที่พยายามแบล็คเมล์เราด้วยอาวุธนิวเคลียร์ควรรับรู้ว่า ลมอาจเปลี่ยนทิศและพัดไปหาพวกเขาก็ได้”
ดมิทรี เมดเวเดฟ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรัสเซีย และในเวลานี้ เป็นรองประธานสภาความมั่นคงของประเทศ กล่าวว่า ความเห็นของปูตินนั้น “ไม่ใช่การบลัฟอย่างแน่นอน”
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า เมดเวเดฟ ระบุในข้อความที่โพสต์ผ่านทางเทเลแกรม ด้วยว่า “ลองจินตนาการดูว่า รัสเซียถูกบีบให้ใช้อาวุธที่มีความน่ากลัวที่สุดกับยูเครน ซึ่งทำการรุกรานขนานใหญ่อันเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของประเทศเรา”
รัสเซียนั้นเดินหน้าผนวกอาณาเขตต่าง ๆ ของยูเครนเพิ่มเติมเข้ากับตนอยู่ ในช่วงที่ผู้นำมอสโกออกมาให้ความเห็นข้างต้น และรอยเตอร์รายงานว่า “มอสโกอาจสร้างภาพการโจมตีเพื่อยึดคืน [ดินแดนของยูเครน] ว่าเป็นเหมือนการโจมตีรัสเซียเอง”
เมดเวเดฟนั้นมีท่าทีสนับสนุนการตีความข้างต้นผ่านการโพสต์ข้อความทางแอปพลิเคชั่นเทเลแกรมเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน โดยออกมาแย้งว่า การที่ยูเครนทวงคืนอาณาเขตของตนนั้น “เป็นท่าทีคุกคามต่อการดำรงอยู่ของประเทศของเราและการล่มสลายของรัสเซียในยุคปัจจุบัน” และว่าเรื่องดังกล่าวจึงเป็น “เหตุผลโดยตรง” ให้รัสเซียต้องใช้ระบบป้องปรามนิวเคลียร์ของตนเอง
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ หลายรายกล่าวว่า ผู้นำกองทัพรัสเซียเคยออกมาพูดถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีในยูเครนเมื่อประสบความปราชัยทางทหาร ตามรายงานของสื่อ The New York Times เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เหล่านั้นกล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า รัสเซียกำลังเตรียมการโจมตีดังว่าจริง
และไม่กี่วันหลังจากที่ปธน.ปูติน ให้ความเห็นเรื่องนี้ออกมา เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ กล่าวว่า “รัสเซียจะเผชิญผลลัพธ์ขั้นหายนะ” ถ้าหากมอสโกใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตียูเครน โดยคำกล่าวนี้มีบริบทคล้ายกับความเห็นของเจ้าหน้าที่เพนตากอนรายหนึ่งที่ไม่มีการระบุชื่อและกล่าวว่า มีการพูดถึงทางเลือกการใช้ “การโจมตีแบบเด็ดหัว” ใส่เครมลิน ดังที่สื่อ Newsweek รายงานเมื่อวันที่ 29 กันยายน
อย่างไรก็ดี ทางเลือกการโจมตีแบบที่ว่านั้นเป็นเพียงแผนการการตอบโต้รัสเซียในกรณีที่มอสโกใช้อาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น โดยไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า “การโจมตีแบบเด็ดหัว” นั้นหมายถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์เลย ทั้งยังไม่มีเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายใดออกมาแสดงตนสนับสนุนการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ด้วย
รายงานของสื่อ Newsweek ระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ชี้ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั้นประสงค์จะใช้ “ทางเลือกที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ มากกว่าอาวุธนิวเคลียร์” หากเกิดเหตุการณ์ที่รัสเซียเป็นผู้เริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนด้วยซ้ำ
เรื่องนี้นำมาซึ่งคำกล่าวอ้างของรมต.ลาฟรอฟ ที่ว่า ประธานาธิบดียูเครนเรียกร้องให้นาโต้ดำเนินการ “โจมตีด้วยนิวเคลียร์เป็นจุดประสงค์การป้องกัน” ต่อรัสเซีย
ในระหว่างการกล่าวปราศรัยแบบออนไลน์ต่อ Lowy Institute ซึ่งตั้งอยู่ในนครซิดนีย์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ปธน.เซเลนสกี ถูกถามความเห็นเกี่ยวกับคำพูดของปธน.ปูตินที่ว่า เขาไม่ได้กำลัง “บลัฟ” เกี่ยวกับความน่าจะเป็นที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ และมีผู้ถามด้วยว่า ผู้นำยูเครนเชื่อหรือไม่ว่า โอกาสที่รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีนั้นเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการให้นาโต้ช่วยเพื่อป้องปรามรัสเซียไม่ให้ใช้อาวุธดังกล่าว
คำตอบของเซเลนสกีที่มีล่ามแปลออกมาคือ:
“เวลานี้ อะไรคือสิ่งที่นาโต้ต้องทำเพื่อป้องกันและป้องปรามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียนะหรือ? สิ่งที่สำคัญ --- และผมต้องขอขีดเส้นใต้เอาไว้ โดยนี่เป็นคำแถลงอีกครั้งของผมต่อประชาคมโลก ว่าก็คือ การโจมตีเพื่อจุดประสงค์ป้องกัน ... การดำเนินการป้องกันต่าง ๆ เพื่อว่ารัสเซียจะได้รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับตน ... และการที่ไม่รอให้มีการโจมตีโดยนิวเคลียร์เสียก่อน”
ทั้งนี้ ในการแปลการปราศรัยแบบสด ๆ นี้ ล่ามคนดังกล่าวมีการปรับแก้คำว่า “การโจมตีเพื่อจุดประสงค์ป้องกัน” เป็น “การดำเนินการป้องกันต่าง ๆ” ทันที แต่ฝ่ายรัสเซียเลือกจะจำคำแรก ซึ่งก็คื “การโจมตีเพื่อจุดประสงค์ป้องกัน” เพื่อกล่าวหายูเครนว่า เป็นพวกกระหายสงคราม
ต่อมา เซอร์ฮีย์ นีคีโฟรอฟ โฆษกของเซเลนสกี ออกมาอ้างว่า ประธานาธิบดียูเครนพูดถึงช่วงเวลาก่อนที่สงครามจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลา “ที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการป้องกันเพื่อขัดขวางไม่ให้รัสเซียเริ่มก่อสงคราม”
นีคีโฟรอฟ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “ผมขอเตือนทุกคนว่า มาตรการเดียวที่พูดถึงในเวลานั้นคือ มาตรการลงโทษเพื่อป้องกันเท่านั้น”
ในส่วนของเซเลนสกีนั้น ไม่ได้มีการลงรายละเอียดว่า คำว่า “การโจมตี” หรือ “การดำเนินการ” ที่ตนพูดในการปราศรัยนั้น หมายถึงอะไร และไม่ได้มีการพูดถึงการให้นาโต้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรือการจัดการรัสเซียด้วยการโจมตีเพื่อจุดประสงค์ป้องกันด้วย
สำหรับกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีทรัสส์ของอังกฤษ มีผู้สอบถามเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า The Letters of Last Resort ระหว่างการหาเสียงเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล
The Letters of Last Resort นั้นคือ คำแนะนำเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายกรัฐมนตรีให้กับผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของอังกฤษเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำในกรณีที่เกิดการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ต่อสหราชอาณาจักรและ/หรือรัฐบาลอังกฤษ
สำหรับกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีทรัสส์ของอังกฤษ มีผู้สอบถามเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า The Letters of Last Resort ระหว่างการหาเสียงเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล
The Letters of Last Resort นั้นคือ สิ่งที่อ้างถึงคำแนะนำเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายกรัฐมนตรีให้กับผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของอังกฤษเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำในกรณีที่เกิดการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ต่อสหราชอาณาจักรและ/หรือรัฐบาลอังกฤษ
อดีตนายกฯ ทรัสส์ ถูกถามว่า ตนรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์สมมติที่เธอมีภาระหน้าที่ที่จะสั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การโจมตีที่ว่า โดยคำถามนั้นไม่ได้มีการอ้างอิงถึงกรณีรัสเซียและสงครามในยูเครนเลย
และทรัสส์ ตอบว่า:
“ดิฉันคิดว่า นี่เป็นหน้าที่ที่สำคัญของนายกรัฐมนตรี ดิฉันพร้อมที่จะทำหน้าที่นั้น”
รายงานข่าวโดย The New York Times ระบุว่า “ความแข็งแกร่งดังเหล็กกล้า” ในประเด็นความมั่นคงของชาตินั้น “ถูกใจบรรดาผู้ที่รักและศรัทธา” ในพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ ซึ่งทรัสส์กำลังหาเสียงเพื่อขึ้นเป็นผู้นำพรรคอยู่ในเวลานั้น
แต่มอสโกก็พยายามหยิบคำพูดต่าง ๆ ที่ตนมองว่าเป็นการตอบโต้ต่อการรุกรานยูเครนและที่อื่น ๆ มาเป็นประเด็นพิสูจน์ว่า ชาติตะวันตกต่างหากที่กำลังรุกรานรัสเซียอยู่
องค์กรวิจัย RAND Corporation ในสหรัฐฯ เพิ่งตีพิมพ์รายงานฉบับใหม่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เกี่ยวกับปัจจัยที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ควรพิจารณาหาก “เผชิญการโจมตีอย่างจำกัดจากรัสเซีย ... บนผืนดิสหรัฐฯ หรือต่อเป้าหมายพันธมิตรในยุโรปหรือในอวกาศนอกโลก” ระหว่างที่สงครามในยูเครนยังดำเนินอยู่
รายงานดังกล่าวจงใจไม่พูดถึงประเด็นสถานการณ์ที่สหรัฐฯ ถูกโจมตี หรือการใช้อาวุธทำลายล้างสูง ซึ่งรวมถึง อาวุธนิวเคลียร์ ด้วย เนื่องจากการโจมตีดังกล่าวจะ “นำมาซึ่งชุดทางเลือกการตอบโต้ที่แตกต่างออกไปอย่างมากมาย”
แต่สื่อรัสเซียก็นำเรื่องภัยคุกคามจากรายงานชิ้นนี้ที่มีการจัดทำขึ้นอย่างเป็นกลาง (แม้ว่า RAND จะได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ตาม) ออกมาขยายความจนเกินจริง โดยกล่าวหาว่า นี่คือบทพิสูจน์ว่า กองทัพสหรัฐฯ มีแผนที่จะ “ยกระดับ” ความมุ่งร้ายต่อรัสเซีย
สื่อรัสเซียบางแห่งยังออกมากล่าวอย่างผิด ๆ ว่า รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ วางแผนจะโจมตีรัสเซีย “โดยไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใด ๆ” ด้วย
ทั้งนี้ รายงานของ RAND ระบุว่า “นโยบายของสหรัฐฯ ในด้านสงคราม จวบจนถึงปัจจุบัน ถูกชี้จัดทำภายใต้ข้อบังคับอันชัดเจนว่า ให้หลีกเลี่ยงการทำสงครามระหว่างนาโต้และรัสเซีย” พร้อมเสริมว่า “การโจมตีอย่างจำกัดโดยรัสเซียต่อนาโต้ ไม่ได้ทำให้จุดประสงค์นี้เป็นโมฆะเลย”
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ