ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: ความร่วมมือทางการทหารระหว่างจีนและรัสเซียไม่มุ่งเผชิญหน้า จริงหรือไม่?


ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน (ขวา) ต้อนรับ พล.อ.หลี่ ช่างฝู รมว.กลาโหมจีน (กลาง) โดยมีเซอร์เกย์ ชอยกู รมว.กลาโหมรัสเซีย ยืนอยู่ใกล้ ๆ ที่ภายในทำเนียบเครมลิน กรุงมอสโก เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2023. (AP)
ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน (ขวา) ต้อนรับ พล.อ.หลี่ ช่างฝู รมว.กลาโหมจีน (กลาง) โดยมีเซอร์เกย์ ชอยกู รมว.กลาโหมรัสเซีย ยืนอยู่ใกล้ ๆ ที่ภายในทำเนียบเครมลิน กรุงมอสโก เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2023. (AP)
สื่อโกลบอล ไทมส์ ของจีน

สื่อโกลบอล ไทมส์ ของจีน

“ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศนั้นกำหนดแบบอย่างของความร่วมมือที่ไม่เผชิญหน้าและมีความเป็นกลางโดยไม่พุ่งเป้าไปยังบุคคลที่ 3 ฝ่ายใดทั้งสิ้น”

เท็จ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลี่ ช่างฝู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีนเดินทางเยือนรัสเซียและเบลารุสเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนสองประเทศพันธมิตรที่ตกเป็นเป้าของกลุ่มชาติตะวันตกในการโดดเดี่ยวทั้งคู่ เนื่องจากการรุกรานยูเครน แม้ว่า ตัวของรมต.หลี่เองก็ตกเป็นเป้ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2018 ต่อกรณีที่กรุงปักกิ่งสั่งซื้ออาวุธจากรัสเซียอยู่ก็ตาม

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม สื่อโกลบอล ไทมส์ (Global Times) ของรัฐบาลจีนอ้างสื่อสปุตนิก (Sputnik) ของรัสเซียในรายงานว่า รมต.หลี่ กล่าวสรรเสริญความร่วมมือทางทหารระหว่างจีนและรัสเซียว่า เปิดกว้าง โปร่งใสและเอื้ออำนวยให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพ:

“ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศนั้นกำหนดแบบอย่างของความร่วมมือที่ไม่เผชิญหน้าและมีความเป็นกลางโดยไม่พุ่งเป้าไปยังบุคคลที่ 3 ฝ่ายใดทั้งสิ้น

คำกล่าวนี้เป็นความเท็จ

ทั้งนี้ จีนและรัสเซียต่างปรับแนวทางนโยบายต่างประเทศและยุทธศาสตร์ทางทหารของตนในแบบที่มุ่งบ่อนทำลายความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโลกเสรีประชาธิปไตยที่ชาติตะวันตกเป็นผู้นำอยู่ โดยการปรับแนวทางที่ว่านั้นเป็นไปในแบบเผชิญหน้า โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการที่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนในปี 2022 และจีนก็กำลังจับตาดูไต้หวันอยู่

หน่วยงาน Center for Naval Analyses (CNA) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองด้านกลาโหมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และตั้งอยู่ในอาร์ลิงตันเคาน์ตี้ รัฐเวอร์จิเนีย ระบุในรายงานที่ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีนและรัสเซียเริ่มทับซ้อนกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ผ่านมา

รายงานของ CNA ชี้ว่า “แถลงการณ์ร่วม (วลาดิเมียร์)ปูติน-สี (จิ้นผิง) ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ที่ออกมาก่อนรัสเซียจะทำการรุกรานยูเครน แสดงให้เห็นถึงการทับซ้อนของความกังวลด้านความมั่นคงของสองฝ่ายที่เพิ่มมากขึ้น โดยผู้นำทั้งสองมุ่งเน้นประเด็นภัยคุกคามจากสหรัฐฯ และนาโต้ต่อความมั่นคงระหว่างประเทศโดยทั่วไป และต่อประเทศของตนโดยเฉพาะ”

และในระหว่างการเยือนรัสเซียครั้งแรกของรมต.หลี่ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งและกรุงมอสโกออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาประกาศคำมั่นในการเพิ่มความร่วมมือทางทหารขึ้น “สู่ระดับใหม่”

สื่อโกลบอล ไทมส์ รายงานว่า ระหว่างการพบกับรมต.หลี่เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเบลารุส กล่าวว่า ความร่วมมือทางทหารของกรุงปักกิ่งและกรุงมินสก์ “ไม่ได้มุ่งหวังที่จะพุ่งเป้าไปยังประเทศที่ 3 ใด ๆ เลย”

ภาพที่สำนักสื่อประธานาธิบดีเบลารุสเผยแพร่ออกมาแสดงให้เห็นปธน.อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส (ซ้าย) และรมว.กลาโหมหลี่ ช่างฝู ของจีน (ขวา) ขณะร่วมหารือกันที่กรุงมินสก์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2023
ภาพที่สำนักสื่อประธานาธิบดีเบลารุสเผยแพร่ออกมาแสดงให้เห็นปธน.อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส (ซ้าย) และรมว.กลาโหมหลี่ ช่างฝู ของจีน (ขวา) ขณะร่วมหารือกันที่กรุงมินสก์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2023

ประเด็นว่าด้วยยูเครน

แม้รมต.หลี่จะอ้างว่า ทั้งจีนและรัสเซีย “กำหนดแบบอย่างของความร่วมมือที่ไม่เผชิญหน้าและมีความเป็นกลางโดยไม่พุ่งเป้าไปยังบุคคลที่ 3 ฝ่ายใดทั้งสิ้น” สองประเทศพันธมิตรนี้ต่างให้การสนับสนุนกันและกันในการแสดงจุดยืนต่อประเทศที่ 3 ทั้งหลายมาโดยตลอด ซึ่งรวมถึงการที่รัสเซียนั้นทำการรุกรานและผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนเองโดยผิดกฎหมายในปี ค.ศ. 2014

และในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว สื่อหลายแห่งอ้างแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลโดยไม่ระบุชื่อ รายงานว่า ทหารยูเครนและรัสเซียเกือบครึ่งล้านนายถูกสังหารหรือไม่ก็ได้รับบาดเจ็บ นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 24 เดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2022

ขณะเดียวกัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR รายงานว่า ชาวยูเครนกว่า 11 ล้านคนได้กลายมาเป็นผู้พลัดถิ่นนับตั้งแต่สงครามครั้งนี้ปะทุขึ้น

ขณะที่ ทั่วโลกออกมาประณามรัสเซียต่อการรุกรานยูเครนอย่างมากมาย จีนกลับปฏิเสธที่จะทำการประณามรัสเซียอย่างเป็นทางการ โดยกล่าวย้ำเพียงว่า “การหารือและเจรจาคือ ทางออกทางเดียวสำหรับวิกฤตยูเครน”

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศูนย์สติมสัน (Stimson Center) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน อธิบายยุทธศาสตร์ของจีนว่า เป็นไปในลักษณะ “เป็นกลางที่สนับสนุนรัสเซีย” ซึ่งหมายความว่า กรุงปักกิ่งไม่ได้เดินหน้าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแข็งขันในกรณีของความขัดแย้งในยูเครน แต่ก็มีความชัดเจนว่า สนับสนุนรัสเซียโดยเฉพาะในกรณีแผนโฆษณาชวนเชื่อและการใช้วาทะศิลป์คุยโว

ในเดือนมีนาคม สำนักข่าวบีบีซีรายงานโดยอ้างคำพูดของ มาเรีย ชากินา ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจาก International Institute of Strategic Studies ของอังกฤษ ว่า จีนนั้นทำการหาประโยชน์จาก “พื้นที่สีเทา” ระหว่างจุดประสงค์ด้านพลเรือนและด้านการทหาร ด้วยการส่งผลิตภัณฑ์ไฮเทค ซึ่งรวมถึง เซมิคอนดักเตอร์ ไปสนับสนุนมอสโกเพื่อใช้ในการทำสงครามกับยูเครน

และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สื่อ Politico รายงานว่า จีน “กำลังเดินหน้ารุกจนเกือบแตะเส้นแดง(ที่แบ่งแยกจุดยืนของประเทศในสงครามยูเครน-รัสเซีย) ด้วยการนำส่งอุปกรณ์ที่ใช้งานทางทหารได้แต่ไม่ได้มีความรุนแรงจนถึงตายให้กับรัสเซีย เพื่อช่วยการทำสงครามยูเครนที่ดำเนินมาถึง 17 เดือนของปธน.วลาดิเมียร์ ปูตินอย่างเป็นรูปธรรม”

สื่อ Political กล่าวเสริมด้วยว่า:

“อุปกรณ์ป้องกันนั้นเพียงพอที่จะช่วยทหารจำนวนมากที่รัสเซียส่งเข้าไปรบตั้งแต่เริ่มทำการรุกรานยูเครน แล้วก็ยังมีโดรนที่สามารถถูกนำไปใช้เป็นอาวุธยิงโจมตีโดยตรงหรือเพื่อใช้ทิ้งระเบิดมือ และเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนเพื่อตรวจหาศัตรูในยามค่ำคืนก็ได้”

รายงานจากสำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ออกมาในเดือนกรกฎาคมและมีการถอดชั้นความลับแล้ว มีการสรุปความว่า การสนับสนุนจากจีนนั้น "มีความสำคัญ" ต่อความสามารถของรัสเซียในการเดินหน้าทำสงครามกับยูเครน



ประเด็นว่าด้วยไต้หวัน

ขณะเดียวกัน ใคร ๆ ก็ทราบดีว่า จีนนั้นจับตาดูไต้หวันที่อยู่ติดกับตนอยู่ตลอดเวลา

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม กรุงปักกิ่งดำเนินการซ้อมรบทางทหารรอบ ๆ เกาะแห่งนี้ หลังรองประธานาธิบดีวิลเลียม ไล แวะพักเปลี่ยนเครื่องที่นครซานฟรานซิสโกและนครนิวยอร์ก ขณะเดินทางไปและกลับจากปารากวัย

สื่อเอพีรายงานว่า กระทรวงกลาโหมจีนกล่าวว่า การซ้อมรบนั้นเป็น “คำเตือนอันรุนแรง” ต่อสิ่งที่จีนเรียกว่าเป็น การสมคบคิดระหว่าง “พวกแบ่งแยกดินแดนและกองกำลังต่างประเทศ”

จีนนั้นมองว่า ไต้หวันเป็นมณฑลที่แยกตัวออกไป และประกาศมั่นที่จะดึงกลับมารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับตนให้ได้ ไม่ว่าจะต้องใช้วิธีใดก็ตาม แม้ว่า ไต้หวันจะปกครองตนเองอย่างอิสระมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 และรัฐบาลชุดปัจจุบันมีจุดยืนสนับสนุนการประกาศอิสรภาพก็ตาม

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในปี ค.ศ. 2022 ว่า จีนจะเดินหน้าหาทางรวมชาติอย่างสันติ แต่ก็จะ “ไม่ขอสัญญาว่า จะไม่ใช้สรรพกำลังใด ๆ และขอสงวนทางเลือกในการใช้มาตรการทั้งหมดที่จำเป็นไว้ด้วย”

จีนนั้นใช้แนวทางการทหารด้วยการจัดการซ้อมรบรอบ ๆ ไต้หวันมาโดยตลอด ขณะที่ กองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน (People’s Liberation Army) ก็ส่งเครื่องบินรบเข้าไปบนในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศ (Air Defense Identification Zone) เกือบรายวันด้วย

เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว กองทัพปลดปล่อยประชาชนทำการซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารอบ ๆ ไต้หวัน หลังอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี เดินทางเยือนกรุงไทเป

จีนยังทำการซ้อมรบทางทหารด้วยการใช้กระสุนจริงรอบ ๆ ไต้หวันเป็นระยะเวลา 3 วันโดยมีการยิงขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลข้ามเกาะ โดยมีบางลูกไปตกลงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ด้วย โดยการซ้อมรบทั้งหมดเกิดขึ้นใกล้กับพื้นที่เกาะหลักของไต้หวันกว่าที่เคยมีมา และมีบางกรณีที่ลุกล้ำเข้าไปในอาณาเขตทางน้ำของไต้หวันด้วย

ในแถลงการณ์ร่วมจีน-รัสเซียที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคม กรุงมอสโกกล่าวว่า ตน “ขอยืนยันอีกครั้ง สำหรับการยึดมั่นต่อหลักการจีนเดียว ยอมรับไต้หวันในฐานะส่วนหนึ่งของอาณาเขตจีนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ คัดค้านการประกาศอิสรภาพใด ๆ ก็ตามของไต้หวัน และสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อมาตรการต่าง ๆ ที่จีนดำเนินการเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตน”

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ
XS
SM
MD
LG