ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: โครงการปล่อยกู้จีน คือ กับดักหนี้ระดับโลก ใช่หรือไม่


ประชาชนในกรุงลูซากา ประเทศแซมเบีย รวมตัวกันมาซื้อถ่านที่ตลาดแห่งหนึ่ง เมื่อ 5 ก.ค. 2564 (AP Photo/Tsvangirayi Mukwazhi)
ประชาชนในกรุงลูซากา ประเทศแซมเบีย รวมตัวกันมาซื้อถ่านที่ตลาดแห่งหนึ่ง เมื่อ 5 ก.ค. 2564 (AP Photo/Tsvangirayi Mukwazhi)
หลิน หมิง

หลิน หมิง

โฆษกหน่วยงานพัฒนาและความร่วมมือระหว่างประเทศของจีน

“ไม่มีประเทศใดตกอยู่ในภาวะปัญหาหนี้เพราะความร่วมมือกับจีน”

เป็นความเท็จ

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้บริหารของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) แจ้งต่อสมาชิกสภาคองเกรสว่า กรุงวอชิงตันกำลังเร่งพยายามช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาเรื่องหนี้สินอยู่ และว่า จีนก็คือส่วนหนึ่งของปัญหาที่ว่า

ในระหว่างการให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร ซาแมนธา พาวเวอร์ ผู้บริหารของ USAID กล่าวว่า “การตระเวนปล่อยกู้ไปทั่วโลกของจีนทำให้(จีน)กลายมาเป็นผู้ทวงหนี้รายใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว

พาวเวอร์ ระบุในการขึ้นให้ข้อมูลต่อสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 10 เมษายน ว่า “เงินช่วยเหลือทุก ๆ 1 ดอลลาร์ที่(จีน) จัดหาให้กับประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ จีนได้สร้างหนี้เป็นจำนวน 9 ดอลลาร์ไปด้วย” และว่า “และนี่คือสิ่งที่ตรงข้ามกับความจริงของสหรัฐฯ ... ที่หนี้ทุก 1 ดอลลาร์ที่เราสร้าง เราได้ให้ความช่วยเหลือเป็นมูลค่าอย่างน้อย 9 ดอลลาร์”

หน่วยงานด้านการพัฒนาและความร่วมมือระหว่างประเทศของจีนปฏิเสธคำกล่าวหาข้างต้นว่า เป็นเรื่องไม่มีมูล

หลิน หมิง โฆษกของหน่วยงานนี้กล่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายนว่า “ไม่มีประเทศใดตกอยู่ในภาวะปัญหาหนี้เพราะความร่วมมือกับจีน”

นั่นเป็นความเท็จ

มีอย่างน้อย 2 ประเทศซึ่งก็คือ แซมเบียและศรีลังกา ที่ต้องผิดชำระหนี้และประกาศภาวะล้มละลาย โดยหลัก ๆ นั้นมีสาเหตุมาจากการที่ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนโตสำหรับหนี้ที่ติดจีนอยู่ ขณะที่ มีประเทศกำลังพัฒนาอีกราว 12 ประเทศที่ติดหนี้จีนเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่า 10% ของจีดีพีของตน

สำหรับ 12 ประเทศที่ติดหนี้จีนอย่างหนักนั้น การชำระคืน “ใช้รายได้ภาษีจำนวนมหาศาลที่ควรนำไปใช้ในการบริหารโรงเรียนให้เปิดทำการสอน จัดหาไฟฟ้าและชำระค่าอาหารและเชื้อเพลิง” ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

จีนนั้นได้กลายมาเป็นผู้ให้กู้ภายใต้สัญญาระดับทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2017 และสิ่งที่ทำให้หนี้จากจีนแตกต่างจากหนี้ของประเทศอื่น ๆ ก็คือ เงินให้กู้นั้นไม่ได้มาจากภาคเอกชน แต่มาจากรัฐบาลจีน ธนาคารที่เป็นของรัฐและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ทั้งนั้น

จีนให้ข้อเสนอที่มีรายละเอียดดูคล้าย ๆ กับการปล่อยกู้เชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่ แต่มีการระบุอายุเงินกู้ที่สั้นกว่าและมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศมักอนุมัติเงินกู้ให้กับประเทศกำลังพัฒนาพร้อมคิดดอกเบี้ยในอัตรา 0% ถึง 1.5% แต่ดอกเบี้ยของจีนนั้นมักจะอยู่ที่ระดับ 2% ถึง 3%

โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของจีน มีบทบาทสำคัญในการสร้างกับดักหนี้ที่ว่านี้ และหลังเปิดตัวมาได้ 8 ปี (ตั้งแต่ปี 2013) จีนก็ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสำหรับการชำระหนี้ล่าช้าขั้นสูงสุดขึ้นถึง 3 เท่า จากระดับที่เคยเรียกเก็บที่ 3% ในช่วงปี 2014-2017 เป็น 8.7% ในช่วงปี 2018-2021 ตามข้อมูลจาก Aid Data research lab ที่มหาวิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี ในรัฐเวอร์จิเนีย

แซมเบียกู้เงินจากธนาคารของรัฐบาลจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพื่อทำการปรับปรุงเขื่อนหลายแห่ง และระบบรถไฟใต้ดินและถนนหลายสายด้วย โดยเงินทุนดังกล่าวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของกรุงลูซากาได้ แต่ก็ทำให้ระดับการชำระดอกเบี้ยต่างประเทศของแซมเบียพุ่งสูงขึ้นด้วย จนกระทั่งทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ และรัฐบาลถูกบีบให้ต้องตัดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและบริการทางสังคมรวมทั้งเงินอุดหนุนต่าง ๆ

ณ สิ้นปี 2020 แซมเบียประกาศภาวะล้มละลาย และหลังจากมีการประกาศเรื่องนี้ออกมา อัตราเงินเฟ้อของประเทศก็พุ่งถึง 50% ขณะที่ อัตราว่างงานก็ทะยานแตะระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี และค่าเงินควาชาก็อ่อนค่าถึง 30% ภายในเวลา 7 เดือน

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 2022 ระบุว่า แซมเบียติดหนี้ต่างประเทศเป็นจำนวนเกือบ 16,800 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นส่วนที่ติดหนี้จีนถึง 6,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ เมื่อลงรายละเอียดดูแล้วจะพบว่า แซมเบียติดหนี้ธนาคารเพื่อการส่งออก-นำเข้าจีน 4,100 ล้านดอลลาร์ และติดหนี้หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ของจีนรวมกันเป็นมูลค่าราว 1,800 ล้านดอลลาร์

ประเทศแซมเบียที่ไม่มีอาณาเขตติดทะเลนี้พร้อมจะก้าวข้ามการเป็น “ตัวอย่างของการพัฒนาเศรษฐกิจอันล้มเหลว จากการกู้ยืมเงินนับพันล้านดอลลาร์จากเจ้าหนี้ อย่าง จีน” แล้ว อ้างอิงคำพูดของ ซิทุมเบโก มูโซโคทวาเน รัฐมนตรีคลังแซมเบียที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล

มูโซโคทวาเน กล่าวด้วยว่า “ระดับของหนี้ที่แซมเบียได้รับจากจีนนั้นสูงเกินไปอย่างมาก”

ส่วนศรีลังกาก็กลายมาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ผิดชำระหนี้ในศตวรรษที่ 21

ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2022 รัฐบาลโคลัมโบประกาศล้มละลาย เนื่องจากไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ได้ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เกิดปัญหาไฟดับทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ราคาอาหารก็พุ่งสูง และประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศก็เข้าสู่ภาวะยากจน

จีนนั้นเป็นเจ้าหนี้ในระดับทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของศรีลังกา โดยหนี้ของประเทศนี้ที่กู้ยืมจากจีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 43% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ตามข้อมูลในเดือนกันยายน ปี 2023 โดยเจ้าหนี้อันดับสองและสามก็คือ ญี่ปุ่น (22%) และอินเดีย (15%) ตามลำดับ

ทั้งนี้ จีนได้ลงทุนในโครงการระดับเมกะโปรเจคมากมายในศรีลังกา ทั้งทางหลวง สนามบินนานาชาติและท่าเรือต่าง ๆ โดยโครงการท่าเรือนานาชาติฮัมบันโตตา (Hambantota International Port) และท่าอากาศยานนานาชาติมัตตาลา ราชปักษา (Mattala Rajapaksa International Airport) ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารเพื่อการส่งออก-นำเข้าของจีน ถือเป็น โครงการช้างเผือก ซึ่งหมายความว่า เป็นโครงการที่บำรุงรักษายาก ไม่ทำกำไรและขายต่อก็ยากด้วย

ท่าเรือนานาชาติฮัมบันโตตานั้นเป็นท่าเรือน้ำลึกและเดิมทีถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางน้ำของศตวรรษที่ 21 และได้รับการสนับสนุนจากจีน แต่เมื่อศรีลังกาไม่สามารถชำระหนี้ได้ รัฐบาลโคลัมโบก็ทำข้อตกลงกับจีนในปี 2019 ให้กรุงปักกิ่งเช่าท่าเรือนี้เป็นเวลา 99 ปี และนักวิเคราะห์หลายคนกังวลว่า ท่าเรือนี้อาจกลายมาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการสำหรับกองทัพเรือจีนแทนแล้ว

สื่อซินหัวของรัฐบาลจีนเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นกับท่าเรือนี้ว่าเป็น “หลักไมล์อีกจุดตามแนวทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

ในส่วนของท่าอากาศยานนานาชาติมัตตาลา ราชปักษา นั้น การก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี 2021 ด้วยเงินสนับสนุนส่วนใหญ่จากจีนที่ 190 ล้านดอลลาร์จากงบโครงการ 209 ล้านดอลลาร์

โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่โอ่อ่าอลังการมาก ด้วยอาคารผู้โดยสารที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 12,000 ตารางเมตร เคาน์เตอร์สำหรับการเช็คอิน 12 เคาน์เตอร์ ประตู (gate) ขึ้น-ลงเครื่อง 2 แห่ง รันเวย์ที่ยาวพอจะรองรับเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดที่ใช้งานกันอยู่ในเวลาได้ และความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 1 ล้านคนต่อปี

แต่ปัญหาก็คือ สนามบินแห่งนี้ไม่ได้สามารถดึงดูดสายการบินต่าง ๆ ให้จัดเที่ยวบินมาลงได้ โดยในปี 2018 สายการบินทั้งหมดตัดสินใจระดับการดำเนินงานที่สนามบินแห่งนี้ที่ปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็น สนามบินนานาชาติที่ว่างเปล่าที่สุดในโลกไปแล้ว

แต่แม้จะมีประวัติความล้มเหลวอย่างที่อธิบายมาทั้งหมด ศรีลังกาก็ยังอนุมัติให้บริษัทน้ำมันซิโนเปค (Sinopec) ของรัฐบาลจีนทำการสร้างโรงกลั่นน้ำมันมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์ที่บริเวณท่าเรือนานาชาติฮัมบันโตตา เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา โดยโครงการนี้ถือเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในศรีลังกานับตั้งแต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2022 มา

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ
XS
SM
MD
LG