ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: จีนปฏิเสธว่า 'ติ๊กตอก' ไม่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง คือ คำลวงกันเห็น ๆ จริงหรือไม่


หวัง เหวินปิน

หวัง เหวินปิน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน

“…สหรัฐฯ ไม่เคยพบหลักฐานใด ๆ ที่ชี้ว่า ติ๊กตอก เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ…”

เท็จ
China’s Denial of TikTok Security Threat is Patently False.
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:07 0:00

เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคอย่างล้นหลามให้เวลาบริษัท ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอปพลิเคชันยอดนิยม ‘ติ๊กตอก’ (TikTok) 6 เดือนในการขายแอปนี้ให้กับเจ้าของใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจสัญชาติจีน และหากทำตามไม่ได้ สหรัฐฯ จะสั่งแบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมนี้จากร้านค้าแอปออนไลน์ทั้งหลายและจะไม่อนุญาตให้บริการ web hosting (บริการช่วยสร้างเว็บไซต์และเซิร์ฟเวอร์) ในสหรัฐฯ ทำงานร่วมกับ TikTok เป็นการถาวร

สมาชิกสภาคองเกรสกล่าวว่า บ.ไบต์แดนซ์ อาจใช้แอปนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลของชาวอเมริกันและส่งต่อให้กับรัฐบาลจีน อัลกอริทึมของแอปนี้ยังมีความสามารถสร้างอิทธิพลต่อความคิดเห็นของประชาชนในสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้ใช้งานอยู่ราว 170 ล้านคน

ไบต์แดนซ์ ซึ่งเพิ่งควักเงินถึง 21.3 ล้านดอลลาร์เพื่อทำการล็อบบี้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ให้ทำการใด ๆ ที่ไม่เป็นผลดีต่อตน ยังคงปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่า บริษัทมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน และส่งสัญญาณว่า จะยื่นเรื่องคัดค้านกฎหมายนี้ในชั้นศาลโดยให้เหตุผลว่า เป็นการละเมิดบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ข้อที่ 1 (ว่าด้วยเสรีภาพในการพูด) โดยหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานว่า “ชะตากรรมของร่างกฎหมายนี้ในมือของวุฒิสภายังคงไม่แน่นอนอยู่” เนื่องจากสมาชิกสภาสูงนั้นมีทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านคำสั่งแบนด้วยความกังวลที่ว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็นการเซ็นเซอร์ได้

ไมค์ แกลลาเกอร์ ส.ส.สมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐวิสคอนซิน ซึ่งเป็นผู้ร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า “กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการเซ็นเซอร์ (แต่)เป็นสิ่งตรงข้ามกับการเซ็นเซอร์ซึ่งเป็นโฆษณาชวนเชื่อและการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของต่างชาติที่ทำให้ชาวอเมริกันชนกับชาวอเมริกันกันเอง”

กรุงปักกิ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายนี้โดยกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า ทำการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม ก่อกวนภาคธุรกิจ และ “บ่อนทำลายความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการค้าและเศรษฐกิจโลก”

ทั้งนี้ จีนสั่งแบน ปิดกั้น และจำกัดการเข้าถึงเสิร์ชเอ็นจินทางเว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ และแพลตฟอร์มสตรีมมิง แอปมือถือ ผู้ให้บริการอีเมลและเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่าง ๆ ที่มีบริษัทอเมริกันเป็นเจ้าของเกือบทั้งหมดด้วย

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ให้ความเห็นระหว่างสัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ว่า:

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้สหรัฐฯ ไม่เคยพบหลักฐานใด ๆ ที่ชี้ว่า ติ๊กตอก เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (รัฐบาลวอชิงตัน)ไม่เคยหยุดตามไล่ล่าติ๊กตอก”

นั่นเป็นความเท็จ

มีหลักฐานอยู่มากมายที่ออกมาหักล้างคำปฏิเสธของไบต์แดนซ์และรัฐบาลจีนเกี่ยวกับความสามารถของ TikTok ในการสร้างอิทธิพลต่อความคิดเห็นสาธารณะและทำให้ชาวอเมริกันต้องลงมือทำการบางอย่าง

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ ไบต์แดนซ์พยายามหยุดยั้งการผ่านร่างกฎหมายของสภาคองเกรสด้วยการชี้นำผู้ใช้งานติ๊กตอกชาวอเมริกันหลายล้านคนให้ติดต่อสำนักงานสมาชิกคองเกรสของรัฐของตนเพื่อคัดค้านแผนการแบนแอปนี้ และมีชาวอเมริกันจำนวนมากทำการเช่นนั้นจริง จนทำให้สายโทรศัพท์ของสมาชิกสภาคองเกรสหลายคนเกือบไหม้เลยทีเดียว ตามรายงานของสื่อ CyberNews

ขณะเดียวกัน แอชลีย์ ฮินสัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐไอโอวา กล่าวระหว่างการอภิปรายที่สภาคองเกรสเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ว่า “การดำเนินการอันต่ำช้าของติ๊กตอกพิสูจน์สิ่งที่เราพูดถึงแล้ว” และว่า “และจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก ในวันเลือกตั้งของเรา ติ๊กตอกส่งคำเตือนออกมาว่า มีการยกเลิกการเลือกตั้ง”

ในส่วนของหลักฐานที่กระทรวงการต่างประเทศจีนอ้างว่า สหรัฐฯ “ไม่เคยหาเจอ” นั้นมีอยู่จริง เช่น:

ายงานของ Mandiant Threat Intelligence เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2019 ระบุว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนสร้างเครือข่ายบัญชีใช้งานภาษาต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ของจริงหลายร้อยบัญชีตามแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลาย อาทิ ติ๊กตอก และพยายาม “ระดมพลให้มีผู้ออกมาทำการประท้วงในสหรัฐฯ” ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีการผลิตคลิปวิดีโอแบบสั้นเพื่อเผยแพร่ทางติ๊กตอกและแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาทำลายชื่อเสียงของชาวจีนผู้เห็นต่างและเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ โดยมีการนำไปออกตามฟีด (feed) บนบัญชีใช้งานของชาวอเมริกันทั้งหลาย โดยวิดีโอหลายชิ้นระบุรายละเอียดวิธีการติดต่อและที่อยู่ของบุคคลที่ตกเป็นเป้าการโจมตีด้วย ตามรายงานของ Mandiant Threat Intelligence

ในปี 2021 จีนให้การสนับสนุนโครงการที่พุ่งเป้านำเสนอโพสต์หลายพันโพสต์ไปยังชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เพื่อเรียกร้องให้คนเหล่านี้ออกมาประท้วงการจัดทำข้อมูลโปรไฟล์ของผู้มีเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ในวันที่ 24 เมษายนที่นครนิวยอร์ก โดย Mandiant Threat Intelligence ติดตามเฝ้าสังเกตการณ์และพบรายงานที่ออกมาภายหลังและระบุว่า การประท้วงที่ว่านั้น “ประสบความสำเร็จ” และมีชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ มาเข้าร่วมกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียด้วย

ต่อมาในปี 2022 หลังสหรัฐฯ ดำเนินการคว่ำบาตรทางการทูตต่อการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง รัฐบาลจีนจ้างบริษัทพีอาร์แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ให้เกณฑ์อินฟลูเซอร์ทางติ๊กตอกและสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ในสหรัฐฯ อย่างเงียบ ๆ เพื่อมาช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของจีนให้เป็นบวกมากขึ้น ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จต่าง ๆ เป็นต้น ตามข้อมูลในรายงาน “Tactics of Disinformation” ของ CISA ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานดิเอโก ระบุในรายงานการศึกษาร่วมว่า ติ๊กตอกนั้นเปิดตัวออกมาในปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลจีนกำลังทำการยกระดับการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อยู่พอดี

การศึกษานี้ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลจีนได้จ้างคนมากถึง 2 ล้านคนมาทำการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จต่าง ๆ โดยกลุ่มคนนี้ที่มีชื่อเรียกว่า “50 Cent Party” ผลิตโพสต์สื่อโซเชียลออกมาถึงปีละราว 448 ล้านโพสต์ซึ่งเป็นข้อมูลที่แต่งแต้มขึ้นมาโดยรัฐบาลจีน

คำประกาศของไบต์แดนซ์เมื่อเดือนมกราคมว่า บริษัทจะเปิดตัวฟีเจอร์ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างเนื้อหาใหม่เองได้ (generative artificial intelligence – AI) ของตนเองที่มีชื่อว่า LEGO ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของติ๊กตอก โดยฟีเจอร์ที่ถูกฝังอยู่ในแอปติ๊กตอกนี้ “แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการระบุและการจำกัดวงพื้นที่ของภูมิภาคที่เฉพาะเจาะจงในรูปภาพหรือในวิดีโอต่าง ๆ ได้” ตามรายงานของ CyberNews

แต่ข้อมูลที่พิสูจน์ความเกี่ยวของของไบต์แดนซ์และรัฐบาลจีนได้มากที่สุดนั้นปรากฏอยู่ในรายงานหน่วยข่าวกรองเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2023 โดยคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการแทรกแซงจากต่างประเทศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของออสเตรเลีย

รายงานดังกล่าวที่มีชื่อว่า “TikTok ไบต์แดนซ์ และสายสัมพันธ์ของทั้งสองกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน” เปิดเผยรายละเอียดหลักฐานที่ย้อนกลับไปถึงเมื่อครั้งที่บริษัทแม่และแอปนี้ถูกก่อตั้งและสร้างขึ้น จนมาประเด็นรัฐบาลจีนและการที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งยังมีอำนาจควบคุมทั้งตัวบริษัทและแอปนี้ไว้ได้อยู่ โดยเนื้อหาบางส่วนระบุว่า:

“งานวิจัยของเรายืนยันโดยไม่มีข้อกังขาใด ๆ เลยว่า ... ไบต์แดนซ์ตกอยู่ใต้อิทธิพล การชี้นำและการควบคุมโดยพฤตินัย แบบเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ดำเนินการต่อบริษัทเทคโนโลยีทั้งหมดของจีน”

และว่า “...พรรคคอมมิวนิสต์จีนและหน่วยงานรัฐบาลจีนได้ยกระดับความสัมพันธ์ของตนกับไบต์แดนซ์จนถึงจุดที่บริษัทไม่สามารถอ้างว่าตนเป็นองค์กรเอกชนได้เต็มปากอีกต่อไป”

และ “ในมุมมองของเรา การค้นพบที่สำคัญที่สุดนั้น เกี่ยวเนื่องกับวิธีการที่อาจประสานความสามารถของติ๊กตอกเข้ากับสิ่งที่ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน บรรยายว่า เป็นเหมือนกลไกวาทกรรมภายนอกของพรรค(คอมมิวนิสต์จีน)” ด้วย

ในเวลานี้ มี 15 ประเทศและสหภาพยุโรปทำการแบนบางส่วนหรือทั้งหมดของติ๊กตอก ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศไปแล้ว

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปเปิดการสอบสวนไบต์แดนซ์และติ๊กตอก ในข้อกล่าวหาว่า ละเมิดกฎเกณฑ์ว่าด้วยเนื้อหา โดยเฉพาะส่วนที่พุ่งเป้าไปยังผู้เยาว์ ด้วยการใช้ระบบอัลกอริทึมที่ “อาจกระตุ้นพฤติกรรมเสพติดและผลกระทบของภาวะ rabbit hole (การตกอยู่ในสภาพการณ์ที่ถูกดึงดูดเข้าไป และแปลกขึ้นเรื่อย ๆ โดยบุคคลผู้นั้นไม่สามารถหยุดยั้งหรือทำอะไรได้)”

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph
XS
SM
MD
LG