ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยักษ์อสังหาฯ จีน ‘เอเวอร์แกรนด์’ ยื่นล้มละลายในสหรัฐฯ


สำนักงานใหญ่ของ China Evergrande Group ในฮ่องกง 25 สิงหาคม (เอพี)
สำนักงานใหญ่ของ China Evergrande Group ในฮ่องกง 25 สิงหาคม (เอพี)

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) ยื่นขอคุ้มครองการล้มละลายในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่เลวร้ายลงรวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ

เมื่อวันอังคาร ธนาคารกลางของจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้า จากตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใสนัก และคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ในวันจันทร์หน้า

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างมองว่าท่าทีดังกล่าวของทางการจีนถือว่าน้อยไปและช้าเกินไป และว่าควรมีมาตรการที่รุนแรงกว่านี้เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจีนที่กำลังดิ่งหนัก

เอเวอร์แกรนด์ที่ครั้งหนึ่งอยู่ในฐานะบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับต้น ๆ ของจีน กลายเป็นตัวอย่างของวิกฤตหนี้ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อนสำหรับภาคอสังหาฯ ของจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน หลังจากเอเวอร์แกรนด์เผชิญกับภาวะขาดสภาพคล่องเมื่อกลางปี 2021

ทางเอเวอร์แกรนด์ ได้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 15 ของกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ ซึ่งปกป้องบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทอเมริกันที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้จากผู้ให้กู้ยืมที่หวังจะฟ้องหรือยึดทรัพย์สินของบริษัทที่มีในสหรัฐฯ

ในระหว่างที่ขั้นตอนดังกล่าวอาจดูเป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง แต่มันได้สะท้อนว่าเอเวอร์แกรนด์กำลังเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้เป็นเวลามากกว่า 1 ปีครึ่งมานี้

นอกจากนี้ ทางเอเวอร์แกรนด์ยังระบุในเอกสารที่ยื่นต่อทางการสหรัฐฯ ในวันศุกร์ว่า ทางบริษัทจะขอให้ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ รับรู้ถึงกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ ทั้งในฮ่องกงและหมู่เกาะบริติชเวอร์จินด้วย

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ของเอเวอร์แกรนด์มูลค่า 31,700 ล้านดอลลาร์ ทางบริษัทมีกำหนดการหารือกับกลุ่มเจ้าหนี้ปลายเดือนนี้

กระแสการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนหลังจากวิกฤตเอเวอร์แกรนด์ นำไปสู่ปัญหาบ้านที่สร้างไม่เสร็จและอสังหาฯ ที่ค้างชำระอีกมหาศาล กระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในจีน ขณะที่การลงทุน ยอดขาย และการสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในจีนหดตัวลงอย่างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

จะเกิดผลพวงลุกลามแบบโดมิโนหรือไม่?

วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มความกังวลถึงความเสี่ยงที่ขยายวงกว้างในระบบการเงินจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแออยู่แล้วจากความต้องการภายในและต่างประเทศที่ลดลง กิจกรรมด้านการผลิตในอุตสาหกรรมที่หดตัวและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น

บริษัทกองทุนรายใหญ่ของจีนผิดนัดชำระหนี้และเตือนถึงวิกฤตสภาพคล่อง ระหว่างที่บริษัทคันทรี การ์เดน (Country Garden) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของจีน กลายเป็นบริษัทล่าสุดที่เผชิญกับปัญหาสภาพคล่องแล้ว

ผู้ลงทุนที่ทุ่มเงินไปกับกองทรัสต์ของบริษัทจงหรง อินเตอร์เนชันแนล ทรัสต์ (Zhongrong International Trust) ส่งจดหมายร้องเรียนไปยังหน่วยงานกำกับดูแลของจีนให้เข้ามาจัดการเรื่องนี้ หลังจากบริษัทดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้

บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ ได้เจริญรอยตามโบรกเกอร์รายใหญ่ของโลก ในการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้ โดยคาดว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของจีนปีนี้จะเติบโตที่ 4.6% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5.1%

ส่วนทางการจีนยังยึดเป้าหมายจีดีพีโต 5% ในปีนี้ต่อไป ในระหว่างที่นักวิเคราะห์ต่างเตือนว่าจีนจะพลาดเป้าได้หากไม่อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ หรือ กลต. ของจีน ระบุในวันศุกร์ว่าจะปรับลดต้นทุนการซื้อขายหลักทรัพย์ และสนับสนุนการซื้อหุ้นคืนเพื่อหวังฟื้นฟูตลาดหลักทรัพย์จีนให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

แต่จนถึงตอนนี้มาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่งยังไม่ส่งผลต่อตลาดการเงินเท่าใดนัก และนักวิเคราะห์ต่างกังวลว่ามาตรการเหล่านี้จะยังเพิ่มความเสี่ยงเข้าไปในภูเขาหนี้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลของจีนในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย

ความหวังสังคายนาภาคอสังหาจีน

ธนาคารกลางจีน ย้ำว่าจะปรับปรุงนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ อ้างอิงจากรายงานประจำไตรมาสล่าสุดที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้

นับตั้งแต่กลางปี 2021 บริษัทที่มียอดขาย 40% ของปริมาณบ้านในจีนต่างผิดนัดชำระหนี้กันทั้งสิ้น และส่วนใหญ่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน

อลัน ลุค ซีอีโอของบริษัทจัดการกองทุนวินเนอร์ โซน (Winner Zone Asset Management) กล่าวกับรอยเตอร์ว่า “ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเหมือนกับหลุมดำ ผู้พัฒนาอสังหาฯ หลายรายถูกดูดเข้าไปในนั้นตั้งแต่ 2 ปีก่อนหลังเอเวอร์แกรนด์” และว่า “รัฐบาลกลางยังไม่ได้นำเสนอมาตรการ(ที่เข้มแข็ง)เพราะนี่คือหลุมที่ใหญ่เกินจะกลบได้”

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG