การเปิดเผยรายชื่อ Enemies of the Internet ประจำปีขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน Reporters without Boarders ที่ว่านี้มีขึ้นวันที่ 12 มีนาคม ตรงกับวันต่อต้านการควบคุมทางอินเทอร์เนตโลก โดยปีนี้มีประเทศที่อยู่ในข่ายศัตรูต่ออินเทอร์เนตทั้งหมด 12 ประเทศ และประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังอีก 14 ประเทศ
Reporters without Boarders ระบุว่าเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนในตะวันออกกลางซึ่งเรียกว่า Arab Spring เมื่อปีที่แล้วมีการใช้อินเทอร์เนตเป็นสื่อในการปลุกระดมอย่างกว้างขวาง และได้ทำให้โฉมหน้าของเสรีภาพทางอินเทอร์เนตเปลี่ยนแปลงไป หลายประเทศควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เนตมากขึ้น เช่นประเทศบาร์เรนซึ่งปีนี้ถูกเลื่อนจากกลุ่มประเทศเฝ้าระวังขึ้นมาอยู่ในกลุ่มศัตรูต่ออินเทอร์เนตเป็นปีแรก หลังจากรัฐบาลบาร์เรนถูกกล่าวหาว่าพยายามปิดกั้นและปราบปรามผู้เขียนบทความออนไลน์ต่อต้านรัฐบาล
อีกประเทศหนึ่งที่ถูกเลื่อนจากกลุ่มประเทศเฝ้าระวังเป็นกลุ่มศัตรูต่ออินเทอร์เนตเช่นกันคือเบราลุส ซึ่งคุมเข้มการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างชาติบางเว็บไซต์ ส่วนประเทศที่หายไปจากกลุ่มประเทศเฝ้าระวังได้แก่ลิเบียซึ่งมีเสรีภาพทางอินเทอร์เนตมากขึ้นหลังยุคพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี่ รวมทั้งเวเนซุเอล่า ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคืออินเดียและคาซัดสถาน เนื่องจากรัฐบาลทั้งสองประเทศเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมเนื้อหาทางอินเทอร์เนต
12 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มศัตรูต่ออินเทอร์เนตคือ พม่า จีน คิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาเรเบีย ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน อุซเบกีสถาน เบราลุส บาร์เรนและเวียดนาม ส่วนในกลุ่มประเทศเฝ้าระวังนั้น นอกจากอินเดียกับเวเนซุเอล่าแล้ว ยังมีอียิปต์ รัสเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศสและไทยรวมอยู่ด้วย
Reporters without Boarders ระบุว่าฝรั่งเศสติดเข้ามาอยู่ในรายชื่อตั้งแต่ปีที่แล้วหลังจากรัฐบาลฝรั่งเศสดำเนินคดีทางอาญากับนักข่าวหลายคนที่เปิดเผยเรื่องราวที่รัฐบาลฝรั่งเศสมองว่าไม่เหมาะสม ส่วนในปีนี้ฝรั่งเศสติดอันดับอีกครั้งเนื่องจากกฎหมายของฝรั่งเศสที่อนุญาตให้ลงโทษผู้ที่ดาวน์โหลดข้อความไม่เหมาะสมด้วยการตัดช่องทางเข้าถึงอินเทอร์เนตของคนเหล่านั้น ส่วนออสเตรเลียติดในรายชื่อประเทศเฝ้าระวังเนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียใช้ระบบกรองเนื้อหาทางอินเทอร์เนตอย่างกว้างขวางเพื่อป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่างๆ
ในส่วนของประเทศไทยซึ่งติดอยู่ในรายชื่อกลุ่มประเทศเฝ้าระวังเช่นกัน Reporters without Boarders ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะการปิดกั้นเว็บไซต์ในส่วนที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังได้ยกย่องบทบาทของเครือข่ายสังคมออนไลน์และ Microblog อย่าง Facebook และ Twitter ว่าเป็นช่องทางสำคัญในการรวบรวมข้อมูลและจัดตั้งองค์กรเพื่อต่อต้านระบอบการปกครองที่กดขี่ ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับเทคโนโลยีไร้สายสมัยใหม่ เช่นโทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายรูปและวีดีโอได้ ก็ยิ่งทำให้การกระจายข้อมูลข่าวสารทำได้ง่ายและรวดเร็ว เรียกว่าใกล้เพียงแค่กระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกงเท่านั้นเอง