ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พนักงานทวิตเตอร์ออกอาการกังวลอนาคต หลังอิลอน มัสก์ ร่วมทีมบริหาร


Tesla CEO Elon Musk attends the opening of the Tesla factory Berlin Brandenburg in Gruenheide, Germany, March 22, 2022. Elon Musk is taking a 9.2% stake in Twitter.
Tesla CEO Elon Musk attends the opening of the Tesla factory Berlin Brandenburg in Gruenheide, Germany, March 22, 2022. Elon Musk is taking a 9.2% stake in Twitter.

คำประกาศแต่งตั้ง อิลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีและซีอีโอ บริษัทรถยนต์ เทสลา ที่เพิ่งเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 9% ของบริษัททวิตเตอร์และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารบริษัท ทำให้พนักงานบางส่วนเริ่มออกอาการกลัวเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำแห่งนี้ โดยเฉพาะในด้านการคงความเป็นกลางในการควบคุมเนื้อหา ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลัง มัสก์ ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้นิยมแบบสุดตัวของเสรีภาพในการแสดงออก” เข้าซื้อหุ้นของทวิตเตอร์ จนกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัท กลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมก็เริ่มออกมาเรียกร้องผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กลับคืนสู่แพลต์ฟอร์มโซเชียลต่างๆ ทันที

อดีตปธน.ทรัมป์ ถูกห้ามไม่ให้ใช้งานเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ หลังเกิดเหตุจลาจลบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ของปีที่แล้วเนื่องจากมีความกังวลว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ จะทำการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงในประเทศ

และแม้ว่า ทวิตเตอร์ จะออกมายืนยันในสัปดาห์นี้ว่า คณะกรรมการบริหารของบริษัทไม่มีหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการทำงาน พนักงาน 4 รายของบริษัทบอกกับรอยเตอร์ว่า ตนมีความกังวลใจว่า อิทธิพลของ มัสก์ จะขยายไปกระทบนโยบายเกี่ยวกับผู้ใช้งานที่มีพฤติกรรมใช้สื่อสังคมออนไลน์โจมตีให้ร้ายผู้อื่นรวมทั้งที่เกี่ยวกับเนื้อหาอันอาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะได้

พนักงานเหล่านี้กล่าวว่า มุมมองของ มัสก์ เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกอาจทำให้จุดยืนในการรักษาความเป็นกลางและไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงที่บริษัทพยายามผลักดันให้เป็นจริงมานานหลายปีเพื่อให้ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่สำหรับการแสดงวาทกรรมของผู้คนนั้นสั่นคลอน และเปิดโอกาสให้พวกโทรลล์ หรือพวกที่นิยมยั่วยุและทำให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอื่นๆ อารมณ์เสียเพียงเพื่อความพอใจของตนเอง รวมทั้งพวกที่ชอบออกมารุมโจมตีผู้อื่นผ่านโลกออนไลน์ มีพื้นที่ทำการดังกล่าวมากขึ้น

ทั้งนี้ หลังเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์สั่งห้ามอดีตปธน.ทรัมป์ ไม่ให้เข้าใช้งาน มัสก์ ทวีตข้อความที่อ้างว่า มีคนจำนวนมากที่ไม่พอใจกับการที่บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ทั้งหลาย ทำตัวเหมือนเป็น “ผู้ตัดสินว่าอะไรคือเสรีภาพในการแสดงออก”

จนถึงบัดนี้ อภิมหาเศรษฐีเจ้าของกิจการ เทสลา ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดความตั้งใจของตนที่จะทำในฐานะสมาชิกคณะกรรมการบริษัททวิตเตอร์

อย่างไรก็ดี เมื่อรอยเตอร์ติดต่อไปยังทวิตเตอร์เพื่อขอความเห็น โฆษกของบริษัทย้ำเนื้อหาในแถลงการณ์ที่ออกมาตั้งแต่เมื่อวันอังคารว่า คณะกรรมการบริษัท “มีบทบาทสำคัญในฐานะที่ปรึกษาและการให้คำเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับบริการทั้งหมดของบริษัท” แต่ไม่มีหน้าที่ดูแลการดำเนินงานในแต่ละวันและการตัดสินใจต่างๆ ของทีมบริหารและพนักงานของทวิตเตอร์ ทั้งยังระบุด้วยว่า “ทวิตเตอร์ยึดมั่นในความเป็นกลาง ในด้านการพัฒนาและบังคับใช้นโยบายและกฎต่างๆ เสมอ”

แต่พนักงานของบริษัทบางรายที่รอยเตอร์ได้พูดคุยด้วย แสดงความไม่แน่ใจว่า บริษัทจะยึดมั่นดังคำที่กล่าวมานี้ ขณะที่ พนักงานบางส่วนมองว่า การที่ มัสก์ เข้ามาร่วมงานกับบริษัทอาจช่วยส่งเสริมการพัฒนารูปแบบบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดได้เร็วขึ้น ทั้งยังจะช่วยนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ในฐานะผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 80 ล้านคนได้

รอยเตอร์ได้ติดต่อไปยัง มัสก์ และเทสลา เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมาขณะจัดทำรายงานข่าวชิ้นนี้

อย่างไรก็ดี ในวันพฤหสบดีนี้เอง มัสก์ เพิ่งทวีตรูปถ่ายของตนขณะสูบกัญชาและให้สัมภาษณ์กับพอดแคสต์ของ โจ โรแกน นักแสดงตลกชื่อดัง เมื่อปี ค.ศ. 2018 พร้อมข้อความว่า “การประชุมบอร์ดทวิตเตอร์ครั้งหน้า จะเป็นประมาณนี้”

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG