ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หลายรัฐในอเมริกากำลังมีโครงการรีไซเคิ่ลเพื่อจัดการกับขยะอิเลคทรอนิคส์จำนวนมหาศาล


หลายรัฐในอเมริกากำลังมีโครงการรีไซเคิ่ลเพื่อจัดการกับขยะอิเลคทรอนิคส์จำนวนมหาศาล
หลายรัฐในอเมริกากำลังมีโครงการรีไซเคิ่ลเพื่อจัดการกับขยะอิเลคทรอนิคส์จำนวนมหาศาล

ปัญหาการจัดการกับขยะอิเลคทรอนิคส์ เช่นโทรทัศน์เก่า วิทยุ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือไม่ใช้แล้ว กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามไปทั่วสหรัฐ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างกำลังช่วยกันคิดหาวิธีกำจัดหรือนำขยะอิเลคทรอนิคส์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั้น มาผ่านกระบวนการรีไซเคิ่ลเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันขยะอิเลคทรอนิคส์หรือ E-Waste กำลังกองล้นบ้านเรือนและบริษัทต่างๆในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์เก่า ผู้คนไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรกับขยะเหล่านั้นจึงนำไปวางไว้หน้าบ้านให้รถขยะมาเก็บ

คุณ Chaz Miller ผอ.โครงการของสมาคมกำจัดขยะแห้งในสหรัฐ กล่าวว่าไม่น่าแปลกใจที่ขยะอิเลคทรอนิคส์จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะขยะเหล่านั้นกระจายไปยังทุกกลุ่มประชากรอเมริกันและยังมีอายุการใช้งานสั้นลงเรื่อยๆ คุณ Miller ระบุว่าโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันใช้งานได้อย่างมาก 2-3 ปีแล้วก็ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่

สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐประเมินว่า ในแต่ละปีมีอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆกลายเป็นขยะมากกว่า 400 ล้านชิ้น นั่นทำให้หลายรัฐต้องสั่งห้ามนำขยะอิเลคทรอนิคส์ไปทิ้งที่สถานที่ฝังกลบมูลฝอยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดให้มีโครงการนำขยะเหล่านั้นหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

ที่โรงงานแยกขยะรีไซเคิ่ลแห่งหนึ่งในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ จะมีการคัดแยกชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ที่ยังใช้การได้ออกเป็นประเภทต่างๆ เช่นทองแดง เงิน แผงวงจรหรือแม้แต่แผ่นทองคำ แล้วส่งขายให้แก่บริษัทอื่นต่อไป คุณ Mike Fannon ผู้จัดการโรงงานดังกล่าวบอกว่ามีวัตถุดิบและโลหะมีค่ามากมายในขยะอิเลคทรอนิคส์เหล่านั้น ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้งานใหม่ได้แทนที่จะถูกฝังไว้ในสถานที่ฝังกลบมูลฝอย

ปัจจุบันเกือบ 20% ของขยะอิเลคทรอนิคส์ทั่วสหรัฐถูกนำไปรีไซเคิ่ล ตัวเลขนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อชุมชนต่างๆพร้อมใจกันใช้มาตรการห้ามทิ้งขยะอิเลคทรอนิคส์ในสถานที่ฝังกลบขยะ เพื่อไม่ให้สารพิษจำพวกตะกั่วหรือปรอทรั่วไหลปะปนกับขยะอื่นๆ หลายชุมชนจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนนำอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์เก่าๆมามอบให้โครงการรีไซเคิ่ลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์บางอย่างจะถูกส่งไปต่างประเทศ เช่นในแคนาดาหรือเอเชียเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าอื่นๆต่อไป

ปัจจุบันมากกว่า 25 รัฐในอเมริกามีคำสั่งห้ามนำขยะอิเลคทรอนิคส์ทิ้งที่สถานที่ฝังกลบมูลฝอยหรือมีโครงการรีไซเคิ่ลขยะอิเลคทรอนิคส์เหล่านั้น อย่างไรก็ดี คุณ Chaz Miller ผอ.โครงการกำจัดขยะแห้งสหรัฐชี้ว่า มาตรการต่างๆที่กล่าวมาตลอดจนอัตราการรีไซเคิ่ลขยะอิเลคทรอนิคส์เกือบ 20% นั้นยังไม่เพียงพอ

คุณ Miller บอกว่าสิ่งที่ตัวเขาเองและบรรดาคนรักสิ่งแวดล้อมต้องการเห็นก็คือ อยากให้มีการรีไซเคิ่ลขยะอิเลคทรอนิคส์จนเป็นเรื่องปกติเหมือนกับการรีไซเคิ่ลกระดาษหนังสือพิมพ์ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือสร้างความตระหนักให้ผู้คนได้ทราบถึงความจำเป็นของการรีไซเคิ่ลขยะอิเลคทรอนิคส์ต่างๆ

XS
SM
MD
LG