ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การกินเพราะอารมณ์เครียดอาจจัดการได้ง่ายขึ้นด้วย 10 ดัชนีบ่งชี้ความหิว


stressed out man eating doughnut
stressed out man eating doughnut
Hunger Stress
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:27 0:00

ปกติแล้วคนเราอาจจะมีเหตุผลหลายอย่างสำหรับการกิน เช่น กินเพื่อเพิ่มพลัง กินให้อร่อยลิ้น กินเพื่อสุขภาพ หรือกินเพราะตอบสนองต่อปัญหาความเครียดและความกดดันเป็นต้น

และตามรายงานของ CNN นักโภชนาการมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่จะช่วยจัดการกับปัญหากดดันที่ทำให้อยากกินเกินความจำเป็นจากการที่ร่างกายและจิตใจของเราตอบสนองต่อความเครียดในลักษณะต่างๆ กัน

นักโภชนาการอย่างคุณเวนดี้ สเตอร์ลิง ผู้เขียนหนังสือคู่มือเรื่องกินอย่างไรไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มแนะนำว่าเรื่องสำคัญคือต้องรู้จักบริหารจัดการกับการกินตามใจปากหรือตามอารมณ์ เพราะมิฉะนั้นแล้วเรื่องนี้จะยิ่งส่งผลให้เกิดความเครียดหนักขึ้นไปอีกเมื่อเราพบว่าไม่สามารถใส่กางเกงหรือกระโปรงตัวเก่งได้อีกต่อไป

โดยคุณสเตอร์ลิงแนะว่าวิธีหนึ่งที่อาจใช้เพื่อบริหารควบคุมอารมณ์และความอยากกินตามใจปากได้คือต้องเริ่มจากการประเมินตัวเองก่อนว่าเราหิวมากน้อยแค่ไหน และเธอได้เสนอ hunger meter หรือการจัดระดับความอยากทานอาหารออกเป็น 10 ระดับด้วยกัน โดยขั้นที่หนึ่งหมายถึงหิวมากและขั้นที่สิบหมายถึงอิ่มจนแทบตัวแตก เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่นที่ระดับหนึ่ง เราอาจรู้สึกหงุดหงิดและสมองไม่ปลอดโปร่งเท่าที่ควรอาจเป็นเพราะร่างกายขาดน้ำตาล

ระดับสองหมายถึงความอยากอาหารเริ่มมาสะกิดกวนใจและท้องเริ่มส่งเสียงรบกวน

ระดับสามเป็นความหิวในลักษณะที่สามารถจัดการได้ คือยังมีสมาธิพอที่จะรอเวลาหรือเตรียมอาหารและค่อยๆ ชิมลิ้มรสอย่างที่ควรเป็น

ระดับสี่คือความรู้สึกแบบว่ากินก็ได้แม้จะไม่หิวมากนัก หรือของขบเคี้ยวอาจพอช่วยแก้ปัญหาได้

ระดับห้าคือความรู้สึกพอดีๆ เพราะเพิ่งจะทานมาเมื่อกี้นี่เอง

ระดับหกคือท้องกำลังมีความสุขควรหยุดกินได้แล้ว ณ จุดนี้เพราะไม่รู้สึกแน่นเกินไป

ระดับเจ็ดเป็นระดับที่ภาษาเศรษฐศาสตร์อาจเรียกว่าอรรถประโยชน์ของอาหารเริ่มลดลงและปุ่มรับรสจะไม่รู้สึกอะไรอีกแล้วต่อจากจุดนี้

ระดับแปดคือความรู้สึกว่ามีอาหารอยู่แน่นเต็มท้อง

ระดับเก้าคืออาการอิ่มคล้ายไก่งวงเทศกาลขอบคุณพระเจ้าที่ถูกยัดไส้ในจนบวม

และแน่นอนที่ระดับ 10 นั้นคือเหมือนกับอิ่มจนแทบตัวแตกและถึงเวลาต้องปลดกระดุมปลดตะขอแทบทุกอัน

คุณเวนดี้ สเตอร์ลิง นักโภชนาการผู้นี้ชี้ด้วยว่าจากดัชนีดังกล่าวเราควรกินเมื่อความหิวอยู่ที่ประมาณระดับสามเพราะเป็นจุดที่สมองยังสามารถควบคุมพฤติกรรมการกินไม่ให้ตะกรุมตะกรามมากเกินไป เพราะถ้าปล่อยให้ตัวเองหิวจนคุมอารมณ์ไม่ได้แล้วผลที่อาจตามมาคือการบริโภคเกินความจำเป็น และว่าเราควรถามตัวเองด้วยว่าอะไรทำให้เราหิวผิดปกติในวันนั้น มีอะไรที่พลาดไปหรือมีอะไรซึ่งเป็นปัญหาความเครียดกดดันเป็นพิเศษหรือไม่ด้วย

แต่ที่สำคัญที่สุดคุณเวนดี้ สเตอร์ลิง นักโภชนาการแนะว่าความหิวไม่จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองด้วยอาหารเสมอไป เพราะบ่อยครั้งอารมณ์อยากทานนั้นมาจากการทำงานของสมอง ดังนั้นการนอนพักสักนิด การทำโยคะ การเบี่ยงเบนความสนใจไปทำอะไรอย่างอื่น เช่น เดินเล่น วาดรูป อาบน้ำ หรือโทรหาเพื่อนอาจจะช่วยให้รู้สึกอิ่มเอมและเติมเต็มจากภายในได้โดยไม่ต้องอาศัยอาหารเพิ่มเสมอไป

XS
SM
MD
LG