ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เช็คระยะสัมพันธ์ “จีน-สหรัฐฯ” หวั่นเกิดสงครามเย็นยุคใหม่


FILE - Chinese and U.S. flags are set up for a meeting at China's Ministry of Transport in Beijing, April 27, 2018.
FILE - Chinese and U.S. flags are set up for a meeting at China's Ministry of Transport in Beijing, April 27, 2018.

การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนในสัปดาห์นี้ที่กรุงวอชิงตัน อาจสร้างความโล่งใจให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกไปได้บ้าง แต่ในมุมมองของนักวิชาการและผู้สันทัดด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลับเห็นว่าอาจไม่เพียงพอ ต่อการประสานรอยร้าวระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เปราะบางอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จนอาจพัฒนาเป็น “สงครามเย็นยุคใหม่” ในไม่ช้า

จู เฟิง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาด้านทะเลจีนใต้ มหาวิทยาลัยนานจิงของจีน ระบุว่า ตอนนี้รัฐบาลปักกิ่งพยายามจับต้นชนทางนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็ว

ยูน ยัง-ควาน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ ระบุว่า ตอนนี้หลายประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกกำลังเข้าสู่ยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้าเขตอันตรายและไร้เสถียรภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับนายสเตเพิลตัน รอย อดีตทูตสหรัฐฯประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ในยุคของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช และอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ ที่ให้ทัศนะคล้ายกับอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ ที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในตอนนี้เปราะบางกว่าช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และท่าทีของจีนและสหรัฐฯที่เป็นศัตรูและคู่แข่งกันในตอนนี้ จะส่งผลเชิงลบต่อผลประโยชน์ของประเทศในเอเชียตะวันออก

นายรอย ย้ำว่า หากรัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลปักกิ่งไม่สามารถสร้างความปรองดองบนพื้นฐานแห่งผลประโยชน์ร่วมกัน อาจเพิ่มโอกาสที่จะเกิดการเผชิญหน้าทางการทหาร ซึ่งจะดึงทรัพยากรที่จะนำมาพัฒนาเศรษฐกิจเข้าสู่การลงทุนด้านการทหารที่ต้นทุนสูงและอันตราย และนำไปสู่การกดดันให้ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกต้องเลือกข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

U.S. President Donald Trump and China's President Xi Jinping meet at the Great Hall of the People in Beijing, Nov. 9, 2017.
U.S. President Donald Trump and China's President Xi Jinping meet at the Great Hall of the People in Beijing, Nov. 9, 2017.

ด้านนายแดเนียล รัสเซล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในยุคอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เสื่อมถอยลง จะส่งผลกระทบที่กว้างไกลกว่าเกาหลีเหนือ และคาดว่าทุกประเทศในภูมิภาคจะไม่ยอมเลือกข้างในสงครามเย็นยุคใหม่นี้ และเลือกที่จะพยายามสร้างสมดุลและลดการพึ่งพาสหรัฐฯ เนื่องจากขาดความมั่นใจในนโยบายของรัฐบาลวอชิงตัน เพราะไม่มีประเทศใดได้ประโยชน์จากผลที่ตามมาของความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

นักวิชาการต่างไม่อาจคาดเดาถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ว่าจะหาทางประสานรอยร้าวระหว่างกันได้อย่างไร ซึ่งในจังหวะนี้ อาจารย์คิม ฮวงคยู จากมหาวิทยาลัย Ajou ของเกาหลีใต้ แนะว่าประเทศตัวกลางจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ขณะที่อาจารย์เจีย ชิงโกว จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มองว่า แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ความขัดแย้ง เขากลับพบว่า 2 มหาอำนาจมีความสนใจในหลายประเด็นที่คล้ายคลึงกัน อาทิ ประเด็นผู้อพยพ, การแก้ปัญหาคอรัปชั่น, ปัญหาการฟอกเงิน รวมทั้งความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้ง 2 ประเทศสามารถสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานแห่งผลประโยชน์ร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หยิบยก ปมขัดแย้งสำคัญระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่สะเทือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด คือ ท่าทีของจีนในการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ ซึ่งตอนนี้มีชาวจีนบางส่วนที่มองว่า จีนควรร่วมมือกับสหรัฐฯในการแก้ปัญหานี้ด้วยกัน

ขณะที่เริ่มมีอีกฝ่ายที่มองว่า ประเด็นปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นปัญหาของสหรัฐฯ ที่จีนไม่ควรข้องเกี่ยว และในจังหวะที่ความสัมพันธ์จีนและสหรัฐฯค่อนข้างระหองระแหงเช่นนี้ ยิ่งนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า หากสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เลวร้ายถึงขั้นนี้ แล้วจีนจะยื่นมือเข้าไปช่วยสหรัฐฯ เพื่ออะไร?

XS
SM
MD
LG