ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การออกแบบทารก” ไม่ไกลเกินฝัน ฝ่ายสนับสนุนชี้ “สองปี” มีลุ้น


A group of nurses holds a newborn baby.
A group of nurses holds a newborn baby.
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:36 0:00

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพมีการพัฒนามาโดยตลอด การปรับแต่งพันธุกรรมในทารกเพื่อหลีกเลี่ยงโรคร้ายกำลังเป็นที่ถกเถียง สังคมพร้อมหรือยังที่จะเปิดกว้างในเรื่องนี้ บ้างก็เชื่อว่าในสองปีข้างหน้า นี่อาจเป็นวิทยาการสำคัญ ที่ขับเคลื่อนอายุของมนุษย์ให้ยืนยาวยิ่งขึ้น

สำนักข่าว CNN อ้างอิงข้อมูลจากวารสารด้านวิทยาศาสตร์ ระบุการปรับแต่งพันธุกรรมในทารกเพื่อป้องกันโรคซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก อาจมีความชอบธรรมในด้านจริยธรรมในอีกสองปีข้างหน้า

วารสาร Bioethics ได้ลงบทความของ เควิน สมิธ นักชีวจริยธรรม (Bioethicist) จากมหาวิทยาลัย Abertay ประเทศสก็อตแลนด์ ที่อธิบายว่าปัจจุบันการปรับแต่งพันธุกรรมมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ และสามารถทำได้ในระดับตัวอ่อน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยป้องกันการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม

อย่างไรก็ดี มีข้อกังวลว่าวิธีดังกล่าว อาจจะนำไปสู่การ “ออกแบบทารก” ที่เป็นมากกว่าแค่การปรับแต่งพันธุกรรมเพื่อป้องกันโรค นายสมิธชี้ว่าจุดนี้ สามารถหาเหตุผลมาอธิบายเชิงจริยธรรมได้ และนี่จะเป็นความหวังของบรรดาคุณพ่อคุณแม่ ที่ต้องการยับยั้งโรคร้ายไม่ให้ส่งผ่านไปยังลูกของพวกเขา

ยกตัวอย่างเช่นในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2561 นักวิทยาศาสตร์จีน เหอ เจียกุย ได้ออกมาประกาศว่าเขาได้ปรับแต่งพันธุกรรมทารกคนแรกของโลกในตัวอ่อนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี

นายสมิธมองว่า การปรับแต่งพันธุกรรมในระดับตัวอ่อนคือ “ทางเดียวที่เป็นไปได้” จากมุมมองที่เน้นประโยชน์ทางปฏิบัติในการจัดการกับหลายๆ โรคที่ส่งต่อทางพันธุกรรม โดยวิธีนี้จะช่วยให้เราป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ภาวะสมองเสื่อม และอีกหลายอาการเจ็บป่วย เขายังกล่าวว่า “ถ้าปรับแต่งพันธุกรรมแล้ว เราจะหลีกเลี่ยงหรือชะลออาการจากโรคต่างๆ ได้ ชีวิตของมนุษย์ที่ปราศจากโรคก็จะยืนยาวมากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ดีนายสมิธเห็นว่ายังมีแรงต้านจากสังคมในประเด็นดังกล่าว จึงควรชะลอโครงการออกไปก่อน

มีผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพันธุศาสตร์หลายคน เห็นว่าวิทยาการนี้ มีความเสี่ยง และยังอยู่ในช่วงการศึกษาเท่านั้น

จอยซ์ ฮาร์เปอร์ จากมหาวิทยาลัย University College London คณะสุขภาพสตรี ได้แสดงความเห็นผ่านศูนย์ Science Media Centre หรือ SMC ระบุว่า “ยังไม่มีการทดลองที่มากพอที่จะพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีความปลอดภัย” แม้ตัวเธอเองจะเห็นว่าการปรับแต่งพันธุกรรมเป็นกระบวนการที่มีศักยภาพมาก แต่เธอต้องการให้เกิดการถกเถียงในสังคม และฝ่ายกฎหมายต้องทบทวนเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนเพื่อสร้างความมั่นใจ

เช่นเดียวกับ ซาร่า นอร์ครอส ผู้อำนวยการองค์กร Progress Educational Trust ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้กับสังคมในด้านพันธุศาสตร์ มองว่าการวิเคราะห์เชิงบวกต่อการปรับแต่งพันธุกรรมของนายสมิธยังมีข้อกังขา เธอบอกกับ SMC ว่า “ถ้าเทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในอนาคต จำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานด้านวิทยาศาสตร์และจริยธรรมให้สูงมากยิ่งขึ้น” เธอชี้ว่ายังต้องใช้เวลาเพื่อศึกษาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นี้

นอร์ครอสบอกว่าเราควรที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศจีนที่ทำการปรับแต่งพันธุกรรมทารกคนแรกของโลกในปีที่ผ่านมา ผู้ดูแลกฏหมายจีนระบุชัด นี่เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฏหมาย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องต้องตกในสถานะที่มีปัญหา

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักวิจัยจากสถาบันด้านชีวการแพทย์และพันธุศาสตร์จาก The Broad of MIT and Harvard ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ว่า วิทยาการปรับแต่งพันธุกรรมเป็นวิธีหนึ่งมีศักยภาพที่จะช่วยลดความบกพร่องระดับจีนส์ได้มากถึง 89% ซึ่งรวมถึงโรคที่ผิดปกติแต่กำเนิดอย่างเช่น โรคโลหิตจางชนิด sickle cell anemia เป็นต้น

XS
SM
MD
LG