ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: รัสเซียช่วย ‘ปลดปล่อย’ รัฐเท็กซัส - จีนเปิดเว่ยโป๋ถก ‘สงครามกลางเมืองสหรัฐฯ’ จริงหรือ?


เจ้าหน้าที่กองกำลังสำรองของรัฐประจำการรักษาการณ์ที่แนวชายแดนติดกับเม็กซิโกที่ช่องผ่านแดนอีเกิ้ลพาส รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2566 (CHANDAN KHANNA / AFP)
เจ้าหน้าที่กองกำลังสำรองของรัฐประจำการรักษาการณ์ที่แนวชายแดนติดกับเม็กซิโกที่ช่องผ่านแดนอีเกิ้ลพาส รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2566 (CHANDAN KHANNA / AFP)

รัสเซียและจีนต่างพุ่งเป้าความสนใจไปที่ประเด็นความตึงเครียดที่ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกที่ยกระดับขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ พร้อมทำการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนผ่านกลเม็ดที่ต่างกันไป

รัสเซียและจีนต่างพุ่งเป้าความสนใจของตนมาที่ประเด็นความตึงเครียดที่แนวชายแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโกยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมดำเนินแผนงานเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนพร้อม ๆ กัน เพียงแต่ใช้กลยุทธ์ที่ต่างกันเท่านั้นเอง

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และทางการรัฐเท็กซัสในประเด็นความมั่นคงตามแนวชายแดนและการตรวจคนเข้ามืองกลายมาเป็นข่าวใหญ่ในสหรัฐฯ ตลอดเวลา และเรื่องนี้ก็ยังเป็นประเด็นร้อนไม่น้อยในรัสเซียและจีนด้วย

ที่รัสเซีย เจ้าหน้าที่รัฐบาลและสื่อของรัฐต่างออกมาเชียร์ให้เกิดภาวะความไม่สงบในภาคพลเรือน พร้อม ๆ กับสนับสนุนให้มีการลงมติที่สมมติขึ้นซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงของรัฐเท็กซัสเพื่อตัดสินว่าจะแยกตัวออกจากสหรัฐฯ ดีหรือไม่

ขณะเดียวกัน จุดยืนของทางการจีนในเรื่องนี้ยังเป็นไปในลักษณะมีการยับยั้งชั่งใจมากกว่า โดยไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับความตึงเครียดที่ยกระดับขึ้นตามแนวชายแดนสหรัฐฯ และรายงานสื่อรัฐก็ตรงไปตรงมาไม่มีอะไรผิดปกติ

ถึงกระนั้น สื่อสังคมออนไลน์ที่รัฐบาลปักกิ่งคุมเข้มอยู่กลับมีการปล่อยให้ใช้แฮชแท็ก “U.S. civil war” (สงครามกลางเมืองสหรัฐฯ) และ “Texas has entered a state of war” (ท็กซัสเข้าสู่ภาวะสงครามแล้ว) จนติดกระแสไปแล้ว



รัสเซีย

เจ้าหน้าที่และสื่อรัฐบาลรัฐบาลรัสเซียเกาะติดประเด็นข้อพิพาทที่ชายแดนสหรัฐฯ อย่างสนุกสนาน โดยมีทั้งบทบรรณาธิการ บทวิเคราะห์ และโพสต์ต่าง ๆ ตามสื่อสังคมออนไลน์คาดการณ์ว่า จะเกิด “สงครามกลางเมืองนองเลือด” ในสหรัฐฯ ทั้งยังแสดงความเห็นอกเห็นใจและเสนอให้ความช่วยเหลือ “ปลดปล่อย” รัฐเท็กซัสอีกด้วย

ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีและอดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซียซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โพสต์ข้อความทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ที่ระบุว่า ประเด็นพิพาทที่ชายแดนสหรัฐฯ นั้นเป็น “ตัวอย่างอันชัดแจ้งอีกอย่างของการที่พลังความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ ที่กำลังอ่อนแรงลง”

เมดเวเดฟยังกล่าวด้วยว่า “การจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนเท็กซัสกำลังใกล้เป็นจริงขึ้นเรื่อย ๆ” พร้อมเสริมว่า ประเด็นนี้อาจนำไปสู่ “สงครามกลางเมืองนองเลือดที่อาจทำให้ผู้คนนับแสนต้องเสียชีวิตลงได้”

มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ยังทำการล้อเลียนวิธีการจัดการสถานการณ์เผชิญหน้าที่ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้วย

ซาคาโรวา โพสต์ข้อความทางแอปเทเลแกรม ว่า “นี่ถือเป็นเวลาของประธานาธิบดีอเมริกัน ตามรอยเท้าของโอบามา ที่จะประกาศ “ปล่อยเท็กซัสไป” และจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรระหว่างประเทศมาทำการปลดปล่อยประชาชนในนามของระบอบประชาธิปไตยได้แล้ว”

สิ่งที่ซาคาโรวาพูดถึงอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็คือ คำพูดอันโด่งดังที่ปธน.บารัค โอบามา กล่าวไว้เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2013 ที่ว่า “[ปธน.ซีเรีย บะชาร์ อัล-]อัซซาดต้องไป(สละตำแหน่ง)” หลังสหรัฐฯ และหลายประเทศกล่าวหากองกำลังของผู้นำซีเรียที่รัสเซียหนุนหลังว่า ก่อเหตุรุนแรงโดยไม่เลือกหน้าในระหว่างสงครามกลางเมือง

ส่วน เซอร์เกย์ มิโรนอฟ นักกฎหมายชาวรัสเซีย โพสต์ข้อความผ่านแอปเอ็กซ์ แสดงการสนับสนุน “การทำประชามติการประกาศอิสรภาพ” ของรัฐเท็กซัส พร้อมเสนอความช่วยเหลือให้ด้วย

มิโรนอฟ โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาว่า “ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างเท็กซัสและสหรัฐฯ ผมขอยืนอยู่ข้างรัฐ” และว่า “ถ้าจำเป็น เราก็พร้อมที่จะช่วยเหลือกระบวนการทำประชามติการประกาศอิสรภาพ และแน่นอน เราจะยอมรับสาธารณรัฐประชาชนเท็กซัส ถ้าเกิดขึ้นจริง ขอให้โชคดี(นะ) เราอยู่ข้างคุณ(เสมอ)!”

สถานีโทรทัศน์ RT ของรัฐบาลรัสเซียเป็นอีกฝ่ายที่พยายามนำเสนอเนื้อเรื่องที่ชี้ว่า สหรัฐฯ อยู่ในภาวะปริ่ม ๆ ใกล้เข้าสู่สงครามกลางเมืองแล้ว

แต่กระแสกระตือรือร้นของฝ่ายมอสโกนี้ไม่เรื่องใหม่เสียทีเดียว โดยเครมลินเป็นฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการจัดประชุมใหญ่ประจำปีของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านการแบ่งแยกดินแดนจากทั่วโลก โดยหลายครั้งนั้นมีการนำเสนอข้อมูลโดยนักเคลื่อนไหวจากรัฐเท็กซัสและรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งกลุ่มที่สถานีข่าวเอบีซีนิวส์ (ABC News) รายงานว่า อ้างตนเองว่าเป็น “ราชาแห่งฮาวาย” ด้วย

ในการจัดและเป็นเจ้าภาพ ‘การประชุมใหญ่’ ที่ว่านี้ เครมลินเลือกใช้กลุ่มตัวแทน (proxy) เช่น กลุ่ม Anti-Globalization Movement of Russia ซึ่งเป็น “องค์กรคลังสมอง” ที่มีที่ตั้งอยู่ในกรุงมอสโกและบริหารงานโดย อเล็กซานเดอร์ อิโอนอฟ ซึ่งถูกดำเนินมาตรการลงโทษจากรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่

รายงานข่าวเปิดเผยว่า กลุ่มของอิโอนอฟเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายด้านตั๋วเครื่องบินและที่พักสำหรับตัวแทนจากเท็กซัสที่เดินทางมาร่วมการประชุมประจำปีที่รัสเซียด้วย

นอกจากนั้น อิโอนอฟยังจัดแสดงธงของกลุ่มผู้นิยมลัทธิชาตินิยมจากเท็กซัสบนกำแพงด้านหนึ่งในที่ทำงานของเขาคู่กับจดหมายรับรองหลายฉบับที่ลงชื่อโดยวลาดิเมียร์ ปูติน ด้วย

และเมื่อตรวจสอบดูตามสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มเอ็กซ์ มีการพบว่า ผู้ใช้งานชาวรัสเซียที่ดูออกชัดเจนว่ามีความใกล้ชิดกับรัฐบาลล้วนออกมาแสดงความสนับสนุน “อิสรภาพ” ของเท็กซัสกันถ้วนหน้า

ประโยคที่มีการพบจากการโพสต์ของกลุ่มคนเหล่านี้มีอาทิ “เท็กซัส เราอยู่กับคุณเสมอ! อิสรภาพสำหรับเท็กซัส!” และ “แน่นอน เราสนับสนุนเท็กซัส รัฐดาวดวงเด่น ซึ่งมีสิทธิ์อย่างเต็มที่ที่จะกำหนดทางเดินของตนเอง”

เบรท เชเฟอร์ นักวิชาการอาวุโสด้านข้อมูลบิดเบือนผ่านสื่อและสื่อดิจิทัล จาก German Marshall Fund of the United States (GMF) บอกกับฝ่าย Polygraph ของวีโอเอ ว่า การใช้เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ “เป็นอะไรที่โผล่ขึ้นมาอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ทศวรรษ (ในรัสเซีย) โดยเป็นเรื่องราวของการแบ่งแยกดินแดนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเท็กซัส เรื่องของการแยกตัวออกมาในแบบต่าง ๆ”

เชเฟอร์ กล่าวด้วยว่า สื่อรัฐบาลรัสเซียและกลุ่มก่อก่วนบนโลกอินเทอร์เน็ต (troll) ในรัสเซียมีประวัติยาวเหยียดเกี่ยวกับการพยายามจุดประกายการเกิดความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธในสหรัฐฯ ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่และสื่อรัฐบาลรัสเซียออกมาผลักดันเรื่องราวที่ว่าจึงไม่ใช่ประเด็นน่าประหลาดใจที่จะพบเห็นกันมากมายบนโลกออนไลน์ในเวลานี้



จีน

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่และสื่อรัฐบาลจีนไม่ค่อยออกแสดงท่าทีในที่แจ้งเกี่ยวกับประเด็นโต้แย้งนี้นัก โดยสื่อรัฐ เช่น สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (CCTV) และสื่อซินหัวก็หลีกเลี่ยงที่จะออกมาให้ความเห็นตรง ๆ ต่อกรณีการเผชิญหน้าที่ชายแดนเท็กซัสด้วย

เบรท เชเฟอร์ นักวิชาการอาวุโส จาก GMF เชื่อว่า ความแตกต่างนี้มีสาเหตุมาจากแรงจูงใจที่ไม่เหมือนกันระหว่างกรุงปักกิ่งและกรุงมอสโก

เชเฟอร์ให้ความเห็นในเรื่องนี้กับฝ่าย Polygraph ว่า “ขณะที่ รัสเซียมักพยายามสร้างความปั่นป่วนในสหรัฐฯ จีนมักไม่ทำเช่นนั้น” และว่า “สหรัฐฯ ที่ตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองไม่ใช่เรื่องที่ดีนักสำหรับเศรษฐกิจจีน แต่จะเป็นเกมที่มีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว (zero-sum game) สำหรับรัสเซียที่มองหาโอกาสเป็นผู้ได้ผลประโยชน์จากความหายนะของอเมริกา”

เขากล่าวเสริมด้วยว่า โอกาสที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนจะออกมาพูดกรณีวิกฤตชายแดนในสหรัฐฯ ในที่สาธารณะนั้นแทบไม่มีอยู่เลยด้วย

อย่างไรก็ตาม จีนฉวยโอกาสจากกรณีความไม่สงบในสหรัฐฯ ด้วยการออกมาโปรโมทรูปแบบธรรมภิบาลของตนเอง และระบบเซ็นเซอร์ของจีนก็เปิดทางให้มีการถกเถียงประเด็นชายแดนสหรัฐฯ กันอย่างดุเดือดตามสื่อสังคมออนไลน์ของประเทศที่ปกติมีการคุมเข้มเสมอ

รายงานข่าวระบุว่า แฮชแท็ก “Texas has entered a state of war” (เท็กซัสเข้าสู่ภาวะสงครามแล้ว) กำลังติดเทรนด์บนแพลตฟอร์มเว่ยโป๋ หรือแพลตฟอร์มเอ็กซ์สัญชาติจีน มาตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมกราคมแล้ว โดยมีผู้โพสต์ข้อความสนับสนุนรัฐเท็กซัสให้ยืนยันแข็งกร้าวและเรียกร้องให้มีการแยกตัวออกจากสหรัฐฯ ด้วย

อินฟลูเอนเซอร์หลายคนบนเว่ยโป๋ยังออกมาช่วยดันข้อมูลบิดเบือนที่ว่า เท็กซัสนั้นอยู่ในภาวะสงครามกับรัฐบาลกลางอยู่ด้วย

ผู้ใช้งานเว่ยโป๋ที่มีชื่อว่า Pingyuan Prince และมีผู้ติดตามอยู่กว่า 1.2 ล้านคน โพสต์ข้อความที่ว่า “อย่างน้อยมีการส่งรถฮัมวี 400 คัน พาหนะหุ้มเกราะแบรดลีย์ 72 คันและปืนใหญ่ฮาวิตเซอร์ M109 จำนวน 48 ชุดไปยังที่แนวหน้าของเท็กซัสแล้ว ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสได้ประกาศภาวะสงครามด้วย”

ในความเป็นจริง ผู้ว่าการแอบบอตต์ของเท็กซัสไม่เคยประกาศภาวะสงครามกับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เลย และภาพของรถถังที่มีการเผยแพร่ตามสื่อสังคมออนไลน์จีนนั้นก็เป็นภาพของรถถังเอบรัมส์และพาหนะหุ้มเกราะแบรดลีย์ที่ถูกจัดส่งไปยังฟอร์ตบลิสส์ ในรัฐเท็กซัส เพื่อร่วมการฝึกซ้อมทางทหาร และไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นวิกฤตชายแดนเท็กซัสเลย

เหวิน เฮ่า ผู้สื่อข่าวภาคภาษาจีนกลาง ของวีโอเอ เคยรายงานไว้ว่า ข่าวลือไร้มูลและปลอม ๆ มากมายเกี่ยวกับเท็กซัสที่ปรากฏอยู่ตามสื่อสังคมออนไลน์ของจีนนั้นไม่เคยถูกหักล้างหรือถูกลงโทษใด ๆ เลย แต่กลับมีการแพร่กระจายทางเว่ยโป๋และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ภายใต้กลุ่ม “หัวข้อที่มีการค้นหาอย่างมาก” (hot search topics) ด้วย

และการตอบรับต่อโพสต์ข่าวเท็จเหล่านี้ก็มักออกมาในลักษณะแสดงความตื่นเต้นด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานคนหนึ่ง ตอบคอมเมนท์ว่า “อเมริกาที่แตกแยกหมายถึง สันติภาพของโลก” ขณะที่ อีกคนออกเสียงเชียร์ว่า “เราขอยืนเคียงข้างประชาชนชาวเท็กซัส” เป็นต้น

ผู้ใช้งานบางรายยังแสดงความเห็นสะท้อนจุดยืนของเจ้าหน้าที่รัสเซีย และมีการรีโพสต์ (repost) ความเห็นของโฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรวา ที่ว่า “Texas must go” (เท็กซัสต้องเป็นอิสระ) และความเห็นของอดีตปธน.และนายกฯ รัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ เกี่ยวกับ “สาธารณรัฐประชาชนเท็กซัส” ด้วย

ตัวอย่างโพสต์จากแพลตฟอร์มเว่ยโป๋ของจีนที่สะท้อนคำแถลงจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซีย
ตัวอย่างโพสต์จากแพลตฟอร์มเว่ยโป๋ของจีนที่สะท้อนคำแถลงจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซีย

โพสต์ทางเว่ยโป๋บางอันก็สะท้อนคำแถลงจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซียด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้อ่านหลายคนก็ไม่ได้สนใจประเด็นเรื่องสงครามกลางเมืองเท่าใด อย่างเช่น ผู้ใช้งานเว่ยโป๋รายหนึ่งที่โพสต์ความเห็นว่า “เราต้องการสันติภาพ ไม่ใช่สงครามร้อนแรง” และอีกคนก็แย้งว่า “อย่าไปซีเรียสกับเรื่องนี้มาก มันก็แค่เป็นเรื่องของการเลือกตั้งเท่านั้น”

ทั้งนี้ ประเด็นการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแนวชายแดนเท็กซัสนั้นร้อนแรงถึงระดับวิกฤตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

ข้อมูลจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ระบุว่า การเดินทางเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2566 อยู่ที่ 371,036 คนซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ เจ้าหน้าที่ตระเวนชายแดนสกัดจับผู้ลักลอลเข้าสหรัฐฯ จำนวน 302,034 คนที่ชายแดนทางใต้ของประเทศ โดยเกือบ 250,000 คนถูกควบคุมตัวไว้ได้ที่ด่านเข้าประเทศนั่นเอง

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph ของวีโอเอ
XS
SM
MD
LG