ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นับถอยหลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3


The Stone of Destiny is seen during a welcome ceremony ahead of the coronation of Britain's King Charles III, in Westminster Abbey, London, April 29, 2023.
The Stone of Destiny is seen during a welcome ceremony ahead of the coronation of Britain's King Charles III, in Westminster Abbey, London, April 29, 2023.

การจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ ถูกมองว่า เป็นงานใหญ่ที่อาจมีความสำคัญสำหรับประชาชนที่เป็นตัวแทนของความเชื่อและภาษาที่หลากหลาย

พระราชพิธีที่กำลังจะมีขึ้นนี้จะเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ของอังกฤษจะทรงทำพิธีที่มีตัวแทนจากศาสนาต่าง ๆ นอกเหนือจากคริสตจักรแห่งอังกฤษ โดยจะมีทั้ง ผู้นำศาสนาพุทธ ฮินดู ยิว มุสลิม และซิกข์ เข้าร่วมด้วย เพื่อสะท้อนภาพของสังคมในปัจจุบันที่มีความแตกต่างจากในอดีตอย่างมาก ตามการเปิดเผยของสำนักงานของอาร์คบิชอพแห่งแคนเทอร์เบอร์รี

นอกจากนั้น ในพระราชพิธีนี้ จะมีบิชอพหญิงเข้าร่วมเป็นครั้งแรกด้วย และยังจะมีการสวดภาวนาและการร้องเพลงสรรเสริญศาสนาในภาษาเวลช์ ภาษาเกลิกสกอต ภาษาเกลิกไอริช และภาษาอังกฤษด้วย

อาร์คบิชอพจัสติน เวลบี ผู้นำคริสตจักรแห่งอังกฤษ ระบุในแถลงการณ์ว่า “พิธีนั้นจะมีองค์ประกอบใหม่ ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของสังคมในยุคปัจจุบันของเรา” และว่า “ข้าพเจ้าได้สวดภาวนาให้ทุกคนที่มาร่วมกับพิธีนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือ(ศาสนา)หรือไม่ ได้ค้นพบกับภูมิปัญญาโบราณและความหวังครั้งใหม่ที่จะนำมาซึ่งแรงบันดาลใจและความสุข”

รายงานข่าวระบุว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ยังเป็นภาพสะท้อนของความพยายามของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ในการแสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์ที่มีมานานถึง 1,000 ปีนั้นยังมีความยึดโยงกับประเทศที่มีความหลากหลายมากกว่าเมื่อครั้งที่พระราชมารดาทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ 70 ปีก่อน

The Stone of Destiny is seen during a welcome ceremony ahead of the coronation of Britain's King Charles III, in Westminster Abbey, London, April 29, 2023.
The Stone of Destiny is seen during a welcome ceremony ahead of the coronation of Britain's King Charles III, in Westminster Abbey, London, April 29, 2023.

ในส่วนของเนื้องานนั้น รายงานข่าวเปิดเผยว่า จะมีองค์ประกอบเชิงประวัติศาสตร์มากมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเพณีโบราณ โดยส่วนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดจะอยู่ในช่วงที่อาร์คบิชอพแห่งแคนเทอร์เบอร์รีทำการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ให้กับสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ซึ่งเป็นพิธีปิดด้วยฉากกั้นที่จะไม่มีใครได้เห็น และเมื่อเสร็จสิ้น พระองค์ก็จะทรงปรากฏพระวรกายในฐานะพระมหากษัตริย์ที่จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการรับใช้พระเจ้าและประชาชนของพระองค์อย่างเป็นทางการ จากนั้น จะมีการนำส่งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจและความรับผิดชอบต่าง ๆ ขององค์พระมหากษัตริย์

สิ่งที่แตกต่างจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีตอีกประการคือ การที่ตัวแทนจากศาสนาต่าง ๆ ที่เข้าร่วมจะนำเสนอสิ่งของที่ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ให้กับสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ดังเช่นที่เคยเป็นมา ก่อนจะมีการทรงพระมหามงกุฎ และเสียงผู้คนก้องขึ้นในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบี ว่า God Save the King

หลังจากนั้น จะมีการทำพิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ให้กับพระราชินีคามิลาต่อไป แต่จะไม่มีการปิดด้วยฉากกั้นเหมือนของพระราชสวามี

ข้อมูลจากพระราชวังแลมเบธ ซึ่งเป็นสำนักงานของอาร์คบิชอพแห่งแคนเทอร์เบอร์รี ระบุด้วยว่า ผู้ที่อยู่ในมหาวิหารนี้จะร่วมกันกล่าวคำอธิษฐานหรือบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (the Lord’s Prayer) ในภาษาของตน ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 จะเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนรถม้าสีทอง (Golden State Coach) ไปตามทางท้องถนนของกรุงลอนดอน หลังผู้นำและตัวแทนศาสนาต่าง ๆ ร่วมกันกล่าวสรรเสริญพระองค์โดยพร้อมเพรียงกันแล้ว

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG