ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยออสเตรเลียกำลังศึกษาว่าเชื้อแบคทีเรียจะควบคุมยุงพาหะไข้เลือดออกได้หรือไม่


นักวิจัยออสเตรเลียกำลังศึกษาว่าเชื้อแบคทีเรียจะควบคุมยุงพาหะไข้เลือดออกได้หรือไม่
นักวิจัยออสเตรเลียกำลังศึกษาว่าเชื้อแบคทีเรียจะควบคุมยุงพาหะไข้เลือดออกได้หรือไม่

แม้ว่าจะมีคนน้อยรายที่เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแต่โรคนี้ก็ทำให้คนเจ็บป่วยกันมากในประเทศเขตร้อนที่เป็นเขตระบาดของโรคและถือเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกกับวิธีรักษาเฉพาะโรค แต่ทีมนักวิจัยชาวออสเตรเลียออกมาเผยว่ากำลังทดลองใช้เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่น่าจะช่วยควบคุมยุงลายพาหะของไข้เลือดไม่ให้แพร่เชื้อต่อไปสู่คน

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าน่าจะมีผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกปีละห้าสิบล้านคนทั่วโลก และประมาณว่าราวสี่สิบเปอร์เซ็นของประชากรโลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก

เชื้อไวรัสไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะนี้เรียกว่า Aedes aegypti (ay-ee-deez ee jip tie) เป็นเชื้อที่ติดต่อในมนุษย์

คุณสก็อต ริชชี่ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า วิธีควบคุมโรคหลักที่ใช้กันในตอนนี้ การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเสริมด้วยการให้ความรู้แก่คนในพื้นที่ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือยาฆ่าแมลงเริ่มไม่ได้ผลเพราะยุงเริ่มดื้อยา จำเป็นต้องหาทางควบคุมโรควิธีใหม่

วิธีควบคุมโรควิธีใหม่ที่ว่านี้ คุณริชชี่และทีมงานวิจัยค้นพบในเบื้องต้นนี้ ตีพิมพ์ในรายงานผลการทดลองสองครั้งในวารสารเนเจอร์

ทีมนักวิจัย อธิบายว่าได้ศึกษาทดลองใช้เชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า โวลบัคเคีย เป็นเชื้อควบคุมการขยายตัวของเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค ทำให้ยุงลายตัวนั้นเมื่อไปกัดคน จะไม่แพร่เชื้อไปสู่คน

ในการทดลอง ทีมงานได้ปล่อยยุงทดลองที่มีเชื้อแบคทีเรียโวลบัคเคียจำนวนหนึ่งเข้าไปผสมพันธุ์กับยุงธรรมดาในสภาพแวดล้อมในร่มที่จำลองให้เหมือนจริงและพบว่าภายในไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ยุงเกือบทั้งหมดติดชื้อแบคทีเรียดังกล่าว

การทดลองขั้นต่อมา ทีมงานวิจัยใช้เมืองชนบทออสเตรเลียสองแห่งที่อยู่ห่างไกลเป็นสถานที่ธรรมชาติในการทดลองและปล่อยยุงทดลองที่มีเชื้อแบคทีเรียในสองเมืองดังกล่าว โดยทยอยปล่อยครั้งในช่วงหลายสัปดาห์

คุณสก็อต โอเนล นักวิจัยหัวหน้าทีมแห่งมหาวิทยาลัยมานาช (Monash) กล่าวว่าทีมวิจัยพบจำนวนยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆและเมื่อสิ้นสุดการทดลองตอนปลายฤดูฝน ยุงแทบทุกตัวในเมืองทดลองทั้งสองแห่งกลายเป็นยุงที่มีเชื้อแบคทีเรีย

ขั้นต่อไปของการทดลอง ทีมงานต้องปล่อยยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียโวลบัคเคียในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเพื่อทดลองดูว่ายุงควบคุมจะสามารถแพร่เชื้อแบคทีเรียให้กับยุงลายพาหะไข้เลือดในพื้นที่ได้หรือไม่และเพื่อดูว่าเชื้อแบคทีเรียนี้สามารถทำให้ยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกหยุดการแพร่เชื้อเมื่อไปกัดคนได้หรือไม่

คุณอะรี ฮอฟมัน หนึ่งในนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบริ์นกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าทีมวิจัยต้องระมัดระวังอย่างมากในการทดลองขั้นตอนนี้เพราะเป็นขั้นตอนที่ยุงทดลองจะเข้าไปผสมพันธุ์กับยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกจริงๆ เขาบอกว่าแม้ว่าการทดลองยังไม่สิ้นสุด ทีมงานวิจัยของเขามีความหวังมากว่า การทดลองขั้นสุดท้ายน่าได้ผลตามที่คาดไว้เพราะผลการทดลองขั้นหนึ่งและขั้นสองที่ผ่านมาได้ผลเชิงบวก

ด้านคุณเจสัน รัสกัน นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย จอนห์ส ฮอปกิ้นส์ (John Hopkins)เขียนแสดงความคิดเห็นต่อการทดลองนี้ในวารสารเนเจอร์ว่า การวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นแนวทางใหม่ในการควบคุมโรคติดต่อที่ยุงเป็นพาหะ เขาตั้งความหวังว่า ถ้าการทดลองสำเร็จ น่าจะนำไปใช้ในการควบคุมเชื้อมาลาเรียได้ด้วย นอกจากนี้วิธีควบคุมยุงด้วยยุง ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วยเพราะำไม่ใช่การกำจัดยุงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวยุงลายไม่ให้แพร่เชื้อโรคอีกต่อไป

XS
SM
MD
LG