ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ศาลอาญาโลกหวังมีการออกหมายจับ 'เนทันยาฮู' และผู้นำฮามาส 3 ราย


อาคารศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ประเทศเนธอร์แลนด์ 31 มี.ค. 2021
อาคารศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ประเทศเนธอร์แลนด์ 31 มี.ค. 2021

หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court (ICC) กล่าววันจันทร์ว่า เขาต้องการให้เกิดการออกหมายจับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล โยอาฟ กัลเเลนต์ รวมทั้งผู้นำฮามาสในกาซ่า ยาห์ยา ซินวาร์ และเจ้าหน้าที่ฮามาสอีก 2 รายที่เกี่ยวข้องกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส

คาริม คานแห่งศาล ICC กล่าวในแถลงการณ์ว่า คณะทำงานของเขาเชื่อว่า เนทันยาฮูและกัลเเลนต์ "มีส่วนรับผิดชอบทางอาญา" ต่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการทำให้พลเรือนอยู่ในสภาพขาดเเคลนอาหาร ซึ่งเป็นวิธีการทำสงครามและจงใจพุ่งเป้าการโจมตีไปสู่พลเรือน

คานกล่าวในเเถลงการณ์ว่า "สำนักงานของผมเสนอว่าการกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนโดยรวมที่จะใช้การขาดแคลนอาหารเป็นวิธีหนึ่งของสงครามและการกระทำรุนเเรงอื่น ๆ ต่อพลเรือนในกาซ่า เพื่อที่จะกำจัดฮามาส และให้มีการปล่อยตัวประกันที่ฮามาสจับไป และเพื่อลงโทษประชากรที่เป็นประชาชนของกาซ่า ที่อิสราเอลมองว่าเป็นภัยต่ออิสราเอล"

ในส่วนของฮามาส ศาล ICC ต้องการให้ออกหมายจับ ซินวาร์ และผู้นำทางทหารของกลุ่ม โมฮัมเมด ดิอับ อิบราฮิม อัลมาสรี และผู้นำฝ่ายการเมืองอิสเมล ฮานิเยห์ โดยบุคคลเหล่านี้ถูกระบุว่า มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเช่นกัน

คาริม คานระบุว่าข้อกล่าวหาต่อแกนนำฮามาสเหล่านี้ รวมถึงการสังหารผู้อื่น จับตัวประกัน ข่มขืน ทรมาน และความรุนเเรงอื่น ๆ

"บุคคลเหล่านี้วางแผนและยุยงให้เกิดการก่ออาชญากรรมในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 และ หากพิจารณาถึงการกระทำของพวกเขา เช่นการเดินทางเป็นการส่วนตัวเพื่อไปพบตัวประกันหลังจากที่พวกเขาถูกลักพาตัว ถือเป็นการรับทราบถึงความรับผิดชอบของบุคคลเหล่านี้ต่ออาชญากรรม" คานกล่าว

ICC มีสมาชิก 124 ประเทศ แต่ไม่รวมอิสราเอล และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของรัฐบาลเทลอาวีฟ นอกจากนี้ จีนและรัสเซียก็ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรยุติธรรมระหว่างประเทศแห่งนี้

หากประเทศใดเป็นสมาชิก รัฐบาลต้องจับกุมตัวบุคคลที่ศาลต้องการตัวโดยทันทีโดยศาล ICC ไม่มีเครื่องมือที่จะบังคับใช้การออกหมายจับเอง

ศาลอาญาระหว่างประเทศแห่งนี้เป็นองค์กรยุติธรรมที่เป็นที่พึ่งสุดท้าย เมื่อรัฐไม่ยินยอมหรือขาดความสามารถอย่างเเท้จริงในการดำเนินการทางกฎหมายเอง

รัฐบาลอิสราเอลได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ข้อหาการก่ออาชญากรรมสงครามในกาซ่ากำลังเข้ากระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงภายในประเทศ

ในหลายกรณี แม้ประเทศสมาชิก ICC เองก็ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีเมื่อเขาเหล่านั้นอยู่ในดินเเดนของตน หนึ่งในกรณีที่ล้มเหลวประกอบด้วยคดีของอดีตประธานาธิบดีซูดาน โอมาร์ บาเชียร์ ที่ถูกต้องการตัวตั้งเเต่ปี 2005 จากข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

แต่อย่างน้อย หากว่ามีการออกหมายจับผู้นำอิสราเอลจริง ประเทศสมาชิกศาล ICC ซึ่งรวมถึงประเทศสหภาพยุโรปเกือบทุกประเทศ อาจเผชิญความยากลำบากทางการทูต

หลังมีรายงานข่าวดังกล่าวออกมา ประธานาธิบดีอิสราเอล ไอแซค เฮอร์ซอก กล่าวว่า คำประกาศเตรียมออกหมายจับนี้เป็นสิ่งที่ “อุกอาจอย่างมาก และแสดงให้เห็นว่า อำนาจของระบบตุลาการศาลระหว่างประเทศนั้นตกอยู่ในภาวะอันตรายใกล้ล่มสลายแล้ว”

ส่วน อิสราเอล แคตซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกับปธน.เฮอร์ซอก ด้วยการเรียกการเตรียมขอ ICC ให้ออกหมายจับนายกฯ เนทันยาฮูและรมต.กัลแลนต์ ว่าเป็น “การตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล”

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ออกมาประณามการตัดสินใจของอัยการ ICC ที่ทำให้กรณีการโจมตีสายฟ้าแลบของฮามาสเข้าใส่ทางใต้ของอิสราเอลและการลักพาตัวผู้คนนับร้อยไปเป็นตัวประกันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมของปีที่แล้ว มีความเลวร้ายเท่ากับการดำเนินปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซ่า

ผู้นำสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ในวันจันทร์ว่า การยื่นเรื่องโดยอัยการของ ICC เพื่อขอออกหมายจับผู้นำอิสราเอลนั้น “อุกอาจยิ่ง” และว่า “ผมขอพูดให้ชัดเจนเลยว่า ไม่ว่าอัยการท่านนี้จะพยายามสื่ออะไรออกมา ไม่สามารถเทียบเคียงกันได้เลย แม้แต่นิดเดียว ระหว่างอิสราเอลและฮามาส”

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันและเรียกการที่ ICC นำอิสราเอลมาเปรียบเทียบกับฮามาสว่า เป็นสิ่งที่ “น่าละอาย” พร้อมระบุว่า “ฮามาส คือ องค์การก่อการร้ายสุดเหี้ยมโหดที่ทำการฆาตกรรมหมู่ชาวยิวที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่การสังหารหมู่ชาวยิวนับล้านในยุโรป (Holocaust) ทั้งยังคงจับผู้บริสุทธิ์หลายสิบคนซึ่งรวมถึงชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งเป็นตัวประกันต่อไปอยู่”

อย่างไรก็ดี บัลคีส์ จาร์ราห์ รองผู้อำนวยการด้านงานยุติธรรมระหว่างประเทศของ ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (Human Rights Watch) แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจดำเนินการดังกล่าวของ ICC และระบุในแถลงการณ์ในวันจันทร์ว่า “ก้าวแรกตามหลักการนี้ของอัยการ เปิดประตูไปยังผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้ออกมารับผิดต่อการกระทำของพวกเขาในการไต่สวนอันยุติธรรม”

ด้านกลุ่มฮามาสซึ่งสหรัฐฯ อังกฤษและหลายประเทศประกาศให้มีสถานะเป็นองค์การก่อการร้าย ประณามการเดินหน้าขอหมายจับผู้นำของตนโดย ICC เช่นกัน พร้อมกล่าวหา คาริม คาน อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศว่า พยายาม “ทำให้เหยื่อดูเป็นเหมือนเพชฌฆาต” และระบุในแถลงการณ์ว่า กลุ่มของตนมีสิทธิ์ที่จะต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล

สงครามอิสราเอล-ฮามาสครั้งนี้ เริ่มต้นจากการที่กลุ่มฮามาสโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวเข้าใส่อิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีก่อน และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,200 คน รวมทั้งการจับตัวประกัน 253 คนไป ตามการประเมินของเจ้าหน้าที่อิสราเอล และการโจมตีโต้กลับของอิสราเอลในกาซ่าก็ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์กว่า 35,386 คนเสียชีวิต อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขกาซ่า โดยตัวเลขนี้รวมความถึงทั้งพลเรือนและนักรบฮามาส ขณะที่ มีการระบุว่า ส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็ก

อิสราเอลกล่าวว่าฝ่ายตนได้ปลิดชีพนักรบในปาเลสไตน์ไปแล้ววกว่า14,000 และสังหารพลเรือนไปประมาณ 16,000 คน

  • ที่มา: ข้อมูลบางส่วนมาจากรอยเตอร์ เอพี และเอเอฟพี
XS
SM
MD
LG