ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ช๊อคโกแลตดำช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจล้มเหลวในสตรี


ช๊อคโกแลตดำช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจล้มเหลวในสตรี
ช๊อคโกแลตดำช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจล้มเหลวในสตรี

รายงานชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัย Harvard ระบุว่า ผู้หญิงที่ทานช๊อคโกแลตดำในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวได้

ประโยชน์ของช๊อคโกแลตดำนั้น พูดถึงกันมานานแล้ว อาจารย์ Murray Mittleman แห่งภาควิชาระบาดวิทยาโรคหัวใจและหลอดเลือด มหาวิทยาลัย Harvard กล่าวว่า รายงานหลายชิ้นระบุว่าการรับประทานช๊อคโกแลตดำเป็นประจำ จะช่วยควบคุมระดับความดันเลือดได้ คุณ Mittleman และคณะได้วิเคราะห์ข้อมูลของสตรีวัยกลางคนขึ้นไปราว 40,000 คนในสวีเดน พบว่าคนที่รับประทานช๊อคโกแลตดำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งอย่างสม่ำเสมอยังมีโอกาสเกิดโรคหัวใจล้มเหลวลดลง 32% ในขณะเดียวกัน คนที่รับประทาน 1-3 ครั้งต่อเดือน จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวลงได้ 26%

นักวิจัยผู้นี้ระบุว่า โรคหัวใจล้มเหลวนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ จนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ โรคนี้เป็นผลมาจากการเป็นความดันโลหิตสูงมาเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา คุณ Mittleman อธิบายว่าช๊อคโกแลตดำนั้นอุดมไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ Antioxidant เรียกว่า Flavonoid ซึ่งช่วยควบคุมระดับความดันเลือดได้ นักวิจัยยังเชื่อด้วยว่า ประโยชน์ของช๊อคโกแลตดำนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปริมาณโกโก้ในช๊อคโกแลต เนื่องจากช๊อคโกแลตทุกชนิดที่ผลิตในสวีเดนจะมีโกโก้ผสมอยู่ในปริมาณมาก

นักวิจัยระบุว่า กลุ่มตัวอย่างสตรีชาวสวีเดนในการวิจัยครั้งนี้รับประทานช๊อคโกแลตดำเฉลี่ย 20-30 กรัมต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่รับประทานช๊อคโกแลตดำเป็นประจำทุกๆวัน คุณ Mittleman ชี้ว่าอาจเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะหากรับประทานช๊อคโกแลตดำมากเกินไป จนอาจไปแทนที่อาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่นๆ เช่น ผักและผลไม้ ซึ่งมีคุณค่าสารอาหารมากกว่า แทนที่จะเกิดประโยชน์ก็อาจกลายเป็นโทษได้ ดังนั้น ประการสำคัญก็คือรับประทานช๊อคโกแลตดำในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละครั้ง ไม่มากเกินไปและไม่บ่อยเกินไป โดยตามรายงานระบุว่ารับประทาน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในปริมาณไม่เกิน 30 กรัมต่อสัปดาห์น่าจะเกิดประโยชน์มากที่สุด

รายงานวิจัยเรื่องประโยชน์ของช๊อคโกแลตดำในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวในผู้หญิงนี้ ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Circulation: Heart Failure และสำหรับประโยชน์ต่อผู้ชายนั้น นักวิจัยเชื่อว่าน่าจะได้ผลอย่างเดียวกัน แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

XS
SM
MD
LG