ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์และเจ้าของอีเมลล์ต้องการกฏหมายปกป้องสิทธิ์ผู้ใช้หลังความตาย


ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บรรจุข้อมูลส่วนตัวเข้าไปในโลกดิจิตอลมากมาย แต่ปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจจัดการและปกป้องข้อมูลของตนว่าใครจะดูแลให้หลังเสียชีวิตไปแล้ว

ก่อนที่ เบนจามิน สตาสเซ่น อายุยี่สิบเอ็ดปี จะฆ่าตัวตายเมื่อสองปีที่แล้ว หนุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในรัฐวิสคอนซินคนนี้ไม่ส่ออาการผิดปกติใดๆเลย เขาดูร่าเริงและปรับตัวได้ดีกับชีวิตในมหาวิทยาลัย หลังจากการเสียชีวิต พ่อแม่ของเขายังพยายามค้นหาสาเหตุว่าทำไมลูกชายถึงตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง

คุณอลิส แม่ของเบนจามินบอกด้วยความเศร้าโศกว่าการเสียชีวิตของลูกชายเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

ส่วนคุณเจย์คุณพ่อบอกว่าพวกเขากำลังพยายามหาทางเข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวของลูกชายบนหน้าสื่อสังคมออนไลน์และบัญชีอีเมลล์เพื่อสืบให้รู้ว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุให้ลูกชายฆ่าตัวตาย

คุณอลิสและคุณเจย์ สตาสเซ่น พยายามอย่างมากที่จะเข้าไปควบคุมบัญชีข้อมูลส่วนตัวทางเฟสบุคของลูกชาย ที่อาจจะมีข้อความส่วนตัว แต่เนื่องจากลูกชายได้เซ็นชื่อตามเงื่อนไขที่ตกลงให้ทางบริษัทเฟสบุคเป็นเจ้าของข้อมูลต่างๆในบัญชีส่วนตัวของเขา คุณเจย์บิดาของผู้ตายกล่าวว่าการติดต่อกับบริษัทเฟสบุคเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ยากเย็นแสนเข็ญ

คุณเจย์และภรรยาได้รับหนังสือจากศาลสั่งให้เฟสบุคอนุญาติให้ทั้งสองในฐานะพ่อแม่สามารถเปิดดูบัญชีเฟสบุคของผู้ตายได้ แต่เฟสบุคยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าวและปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าววีโอเอในเรื่องนี้

สามปีที่แล้ว แม็คส์ โทนนีซ อายุสามสิบสี่ปีเสียชีวิตขณะนอนหลับ โทนนีสเป็นนักเขียนคอลัมน์ทางออนไลน์บนหน้าบล็อก เขามีบล็อกชื่อ Post-Human Blues ที่มีผู้ติดตามอ่านมากมาย เป็นงานเขียนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังการเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝันของลูกชาย คุณดาน่า มารดาได้เข้าไปอ่านข้อเขียนของลูกชายเป็นครั้งแรก

เธอบอกว่าบทความแสดงถึงบุคลิกของลูกชาย เขาเป็นคนชอบแสดงความคิดเห็น เธอได้อ่านตั้งแต่บทความต้นๆ ข้อเขียนบนบล็อกบางชิ้นอ่านแล้วรู้สึกคาดไม่ถึง

บริษัทกูเกิ้ลเจ้าของหน้าเวปไซท์เขียนบล็อกไม่อนุญาติให้คนอื่นนอกเหนือจากเจ้าของข้อเขียนเข้าำำไปจัดการบล็อกของตน บล็อกของแม็คส์ โทนนีซ เต็มไปด้วยโฆษณาที่ไม่เป็นที่ต้องการ บริษัทกูเกิ้ลไม่ตอบรับคำขอสัมภาษณ์ของวีโอเอ

จอห์น บูชเช้ ทนายความ สนใจติดตามเรื่องกฏหมายและสิทธิบนโลกดิจิตอล เขายอมรับว่าตนเองกับภรรยาได้ตกลงในเงื่อนไขต่างๆในฐานะผู้ใช้ออนไลน์โดยไม่ได้อ่านรายละเอียด

จอห์น บูชเช้ กล่าวว่า ปัญหาอย่างแรกคือ คนไม่ได้คิดถึงเรื่องสิทธิต่างๆตามเงื่อนไข อย่างที่สอง แม้จะรู้ แต่ก็ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น แต่ต้องยอมรับเงื่อนไขที่บริษัทเจ้าของเวปไซท์ตั้งขึ้นมา ในส่วนตัวเเล้ว เขาคิดว่าน่าจะมีกฏหมายร่างขึ้นมาจัดการกับสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโลกดิจิตอล โดยเฉพาะเพื่อจัดการกับสิทธิ์ต่างๆของผู้ใช้หลังเสียชีวิตไปแล้ว

ขณะนี้มีนักธุรกิจหลายรายเริ่มให้บริการเรื่องการพิทักษ์ข้อมูลดิจิตอลหลังความตายแล้ว วิธีหนึ่งที่ใช้ก็คือให้ลูกค้าบรรจุข้อมูลเอ็คเค้าท์ออนไลน์ทั้งหมดของตนพร้อมพาสเวิร์ดเข้าไปไว้ในตู้เซฟดิจิตอล ทางบริษัทผู้ให้บริการจะเเนะนำผู้ใช้ว่าข้อมูลแบบไหนควรกำจัดทิ้งและข้อมูลตัวไหนควรเก็บใส่ไว้ในตู้เซฟดิจิตอลเพื่อส่งต่อให้คนที่ระบุให้เป็นผู้จัดการแทนหลังจากลูกค้าเสียชีวิต
XS
SM
MD
LG