ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ใครเป็นใครในการประชุม COP27 


Former U.S. Vice President Al Gore speaks during a session at the COP27 U.N. Climate Summit, in Sharm el-Sheikh, Egypt, Nov. 9, 2022.
Former U.S. Vice President Al Gore speaks during a session at the COP27 U.N. Climate Summit, in Sharm el-Sheikh, Egypt, Nov. 9, 2022.

รอยเตอร์รวบรวมข้อมูลของประเทศและกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมประชุมและเจรจาในการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาติ COP27 ที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ โดยจะมีการประชุมไปจนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน

จีน

จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก เผชิญกับฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในปีนี้ โดยแผนการปรับสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของจีนระบุว่า สภาพอากาศรุนแรงเป็นภัยที่คุกคามจีนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงใช้ถ่านหินมากขึ้น และเมื่อเดือนตุลาคม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระบุว่า จีนจะสนับสนุนการใช้ถ่านหิน “อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ต่อไป

นอกจากนี้ ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังดึงความสนใจจากประเด็นสภาพภูมิอากาศของจีนไป เช่น ความขัดแย้งประเด็นไต้หวัน ทำให้จีนยกเลิกการหารือทวิภาคีด้านสภาพภูมิอากาศกับสหรัฐฯ

มีการคาดการณ์ว่า จีนไม่น่าให้คำมั่นใหม่ ๆ ในการประชุม COP27 ครั้งนี้ โดยประเทศที่เข้าร่วมประชุมระบุว่า การประชุมนานสองสัปดาห์นี้ควรให้ความสำคัญกับการแบ่งสรรเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ

สหรัฐอเมริกา

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นลำดับสองรองจากจีน โดยก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุม COP27 สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานและการคมนาคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปธน. โจ ไบเดน ได้ลงนามในกฎหมายลดเงินเฟ้อเมื่อเดือนสิงหาคม โดยกฎหมายบางส่วนจะกำหนดให้มีการเพิ่มใช้งานโครงข่ายผลิตไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงปีละ 1,000 ล้านตันภายในอีก 10 ปี

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในวันอังคาร อาจทำให้พรรครีพับลิกันพลิกมาครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส และอาจทำให้การดำเนินการตามกฎหมายลดเงินเฟ้อเป็นไปได้ยากขึ้น

สหรัฐฯ ยังมีกำหนดให้สัตยาบันรับรองการแก้ไขพิธีสารมอนทรีออล ซึ่งจะลดการใช้ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารมลพิษที่ใช้ในการผลิตตู้เย็น สหรัฐฯ ยังมีแผนประกาศใช้กฎควบคุมสารมีเทนในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซด้วย

สหภาพยุโรป

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู ทั้ง 27 ประเทศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันราว 8% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และปล่อยก๊าซลดลงเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อียูตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซลงอย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับช่วงปี 1990 และทำให้การปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยอียูยังคงเจรจานโยบายเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว และจะไม่ตั้งเป้าด้านสภาพภูมิอากาศใหม่จนกว่าจะมีการผ่านกฎหมายใหม่อย่างเร็วที่สุดภายในปีหน้า

ในการประชุม COP27 ครั้งนี้ อียูตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ให้เพิ่มเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ และมีการคาดการณ์ด้วยว่า อียูจะเผชิญแรงกดดันให้ลดการต่อต้านการจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

อังกฤษ

อังกฤษเผชิญกับความวุ่นวายด้านการเมืองภายในประเทศและวิกฤตพลังงาน ซึ่งอาจทำให้อังกฤษไม่บรรลุเป้าด้านสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อปี 2019 อังกฤษตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 และเมื่อปีที่แล้ว อังกฤษประกาศลดการปล่อยก๊าซในระดับ 78% ภายในปี 2035 เทียบกับเมื่อปี 1990

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนตุลาคม อังกฤษประกาศให้บริษัทต่าง ๆ เข้าประมูลสัมปทานการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในทะเลเหนือ โดยเน้นย้ำว่า การประมูลดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการตั้งเป้าด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ จากพรรคอนุรักษนิยม จะมีแนวทางดำเนินนโยบายด้านพลังงานอย่างไร

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ซึ่งทรงให้ความสำคัญกับประเด็นสภาพแวดล้อมมานาน ตรัสว่า พระองค์จะไม่ทรงเข้าร่วมการประชุม COP27 ครั้งนี้

กลุ่มประเทศ BASIC

กลุ่มประเทศ BASIC ประกอบด้วยบราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย และจีน ซึ่งทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีประชากรหนาแน่น และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อมลภาวะอย่างมาก

ทั้งสี่ประเทศได้ขอการสนับสนุนทางการเงินด้านสภาพภูมิอากาศจากประเทศร่ำรวย และเรียกร้องความเท่าเทียม โดยอ้างอิงจากแนวคิดของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ว่าด้วย “ความรับผิดชอบร่วมกันอันแตกต่าง” ซึ่งหมายถึง ประเทศร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซออกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด พึงมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศมากกว่า

อินเดียต่อต้านการยกเลิกการใช้ถ่านหิน โดยระหว่างการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว อินเดียพยายามร่วมมือกับจีนเพื่อเจรจาไม่ให้ประเทศต่าง ๆ ให้คำมั่นยกเลิกใช้ถ่านหิน

มีการคาดการณ์ว่า บราซิลจะนำการเจรจาว่าด้วยกฎของตลาดคาร์บอน เพื่อเล็งสร้างรายได้จากพื้นที่ป่าจำนวนมากในประเทศ

ขณะเดียวกัน แอฟริกาใต้พยายามสรุปข้อตกลงกับอียู สหรัฐฯ และประเทศอื่น เพื่อขอรับเงินทุน 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียน

COP27 infographic
COP27 infographic


กลุ่มอื่น ๆ

จี77 + จีน

กลุ่มพันธมิตรประเทศกำลังพัฒนา จี77 และจีน มีแนวคิดร่วมกันว่า ประเทศต่าง ๆ มีความรับผิดชอบต่างกันไป โดยในการประชุม COP 27 ครั้งนี้ ปากีสถาน ซึ่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมหนักในปีนี้ จะเป็นผู้นำกลุ่มจี77 เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยการจัดตั้งกองทุนเงินชดเชยต่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


กลุ่ม Umbrella
กลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู รวมถึงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐฯ

กลุ่มแอฟริกา

กลุ่มประเทศแอฟริกาที่เป็นสมาชิกยูเอ็นจะผลักดันเพื่อขอเงินช่วยเหลือด้านสภาพภูมิอากาศเพิ่ม ขณะเดียวกัน กลุ่มดังกล่าวก็ยืนยันว่า การขยายขนาดเศรษฐกิจจะต้องใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ประเทศแอฟริกาจำนวนมาก เช่น อียิปต์ ต้องการเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองเพื่อเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน และเพื่อตอบสนองความต้องการก๊าซของยุโรปจากแหล่งอื่น แทนที่ก๊าซจากรัสเซีย

กลุ่ม Climate Vulnerable Forum

กลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยประเทศ 58 ประเทศ ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ กลุ่มประเทศนี้มีจ้อเรียกร้องหลักคือ การจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือกลุ่มประเทศเปราะบางจากความเสียหายที่ได้รับจากสภาภพูมิอากาศ กลุ่ม Climate Vulnerable Forum ยังต้องการให้ทุกประเทศยกระดับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

COP27 climate summit in Egypt
COP27 climate summit in Egypt

กลุ่มพันธมิตรประเทศเกาะขนาดเล็ก

กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศอย่างไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของประเทศ โดยเฉพาะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นและการกัดเซาะชายฝั่ง


กลุ่มพันธมิตรอิสระของละตินอเมริกาและแคริบเบียน

กลุ่มดังกล่าวร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการยกระดับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องเงินช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวยมากขึ้น


กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

กลุ่มประเทศจำนวน 46 ประเทศนี้ เผชิญความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แม้กิจกรรมภายในประเทศจะไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากก็ตาม กลุ่มประเทศดังกล่าวเรียกร้องการชดเชยจากกลุ่มประเทศร่ำรวย และต้องการให้ประเทศร่ำรวยเพิ่มงบในกองทุนการปรับตัวขึ้นอีกสองเท่า รวมทั้งทำให้กลุ่มประเทศเปราะบางเข้าถึงกองทุนดังกล่าวได้มากขึ้น


กลุ่มประเทศ Powering Past Coal Alliance

กลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย 41 ประเทศ รัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทอีกหลายสิบแห่ง กลุ่ม Powering Past Coal Alliance เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดเร็วขึ้น ในปีนี้ กลุ่มดังกล่าวยังวิจารณ์แผนการใช้ถ่านหินมากขึ้น อันเป็นผลจากวิกฤตพลังงานจากสงครามยูเครน


กลุ่ม High Ambition Coalition

กลุ่มดังกล่าวนำโดยหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งเป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีสมาชิกเช่น คอสตาริกา สหรัฐฯ และอียู กลุ่มนี้ได้เรียกร้องให้มีการยกระดับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการออกนโยบายสภาพภูมิอากาศที่ก้าวหน้าขึ้น

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG