ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ธนาคารโลกเตือนเศรษฐกิจเอเชียใต้อาจทรุดหนักจากโควิด-19


please wait

No media source currently available

0:00 0:05:24 0:00

รายงานจากธนาคารโลกคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียใต้จะหดตัวเหลือประมาณ 1.8 ถึง 2.8 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดลงอย่างหนักจากการคาดการณ์เมื่อ 6 เดือนที่แล้วที่ 6.3 เปอร์เซ็นต์

การประเมินสภาพเศรษฐกิจของธนาคารโลกนี้มีอยู่ในรายงานล่าสุดซึ่งเปิดเผยออกมาในวันอาทิตย์ โดยระบุด้วยว่า การทรุดตัวหนักของเศรษฐกิจใน 8 ประเทศของเอเชียใต้จะเป็นเหตุมาจาก การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก การค้าที่ทรุด และแรงกดดันรุนแรงในภาคการเงินและการธนาคารในประเทศเหล่านี้

ทั้งนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรับลดลงมานี้ เป็นระดับที่แย่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียใต้ในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว

และหากประเทศเหล่านี้ต้องดำเนินมาตรการปิดเมือง หรือ Lockdown เป็นเวลานานออกไปและครอบคลุมทั่วประเทศ ธนาคารโลกเตือนว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะอยู่ในแดนลบก็เป็นได้

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน รายงานฉบับนี้ระบุว่า สภาพเศรษฐกิจของเอเชียใต้ใน ค.ศ. 2021 ก็จะยังไม่ดูดีมาก และอาจเติบโตที่ระดับ 3.1 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปรับลดจากการคาดการณ์ครั้งที่แล้วที่ 6.7 เปอร์เซ็นต์

ฮาร์ทวิก เชเฟอร์ รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้ กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นสัญญาณเร่งด่วนที่เตือนให้ทุกฝ่ายต้องเร่งดำเนินนโยบายที่เป็นการริเริ่มใหม่ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจเอเชียใต้เมื่อวิกฤตินี้สิ้นสุดลง และหากไม่มีการเตรียมพร้อมไว้ก่อน อาจนำไปสู่การหยุดชะงักของการเติบโตในระยะยาว และความพยายามในการต่อสู้กับปัญหาความยากจนได้

ธนาคารโลกเตือนด้วยว่า การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 นี้จะมีผลกระทบหนักมากสำหรับผู้มีรายได้นอย ในภาคต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาหรือสวัสดิการต่างๆ ของรัฐได้ ทั้งยังมีโอกาสทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในภูมิภาคนี้รุนแรงขึ้นด้วย

รายงานฉบับนี้ยังแนะให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องเตรียมดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ควบคู่กับการกระตุ้นทางการเงิน หลังผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แล้ว พร้อมๆ กับทำงานควบคู่กับหุ้นส่วนด้านการเงินในต่างประเทศเพื่อให้มั่นใจว่ามีความสามารถในกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐเป็นเวลาไม่นาน เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้ โดยไม่สร้างภาระหนี้ระยะยาวหรือประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณ

XS
SM
MD
LG