เมื่อวันศุกร์ มีการจัดพิธีศพของพลเอกโคลิน พาวเวลล์ ที่อาสนวิหารแห่งชาติวอชิงตัน โดยมีเพื่อน สมาชิกในครอบครัว และอดีตเพื่อนร่วมงานเข้าร่วมไว้อาลัยแด่พลเอกพาวเวลล์ นายทหารและนักการทูตจากครอบครัวชนชั้นแรงงานในย่านบรองซ์ มหานครนิวยอร์ก และต่อมาเป็นประธานคณะเสนาธิการร่วมผิวดำคนแรก และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ผิวดำคนแรก ตามรายงานของสำนักข่าว The Associated Press
นายทหารระดับสูงผู้นี้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม จากภาวะแทรกซ้อนของโรคโควิด-19 ด้วยวัย 84 ปี แม้จะได้รับวัคซีนต้านโควิดก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม ครอบครัวของเขาระบุว่า ระบบภูมิคุ้มกันของเขาอ่อนแอลงจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เขารับการรักษาอยู่
ผู้เข้าร่วมงานมีทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน อดีตผู้นำสหรัฐฯ สองคน คือ จอร์จ ดับเบิลยู บุช และบารัค โอบามา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสามคน ได้แก่ นายเจมส์ เบเคอร์ นางสาวคอนโดลีซซา ไรซ์ และนางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีกลาโหม นายโรเบิร์ต เกตส์ และประธานคณะเสนาธิการร่วมคนปัจจุบัน พลเอกมาร์ค มิลลีย์
อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ไม่ได้เข้าร่วมพิธีเนื่องจากอยู่ในช่วงพักฟื้นจากอาการติดเชื้อรุนแรง ทางด้านอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่เข้าร่วมพิธีเช่นกัน โดยพลเอกพาวเวลล์เคยวิจารณ์ทรัมป์ระหว่างดำรงตำแหน่ง และทรัมป์ก็วิจารณ์นายทหารผู้นี้หลังเขาเสียชีวิตเช่นกัน
ผู้กล่าวบทสรรเสริญพลเอกพาวเวลล์มีทั้งนางแมเดอลีน อัลไบรท์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศผู้รับตำแหน่งต่อจากเขา นายริชาร์ด อาร์มิเทจ อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของพลเอกพาวเวลล์ และเป็นเพื่อนร่วมงานของเขาตั้งแต่สมัยทำงานที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในยุครัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน รวมถึงนายไมเคิล พาวเวลล์ บุตรชายของอดีตรัฐมนตรีผู้ล่วงลับด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงที่นางอัลไบรท์ดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติในยุครัฐบาลอดีตประธานาธิบดีคลินตัน เธอขัดแย้งกับพลเอกพาวเวล์เป็นระยะ แม้ต่อมาทั้งสองจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันก็ตาม ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการร่วมของพลเอกพาวเวลล์ นางอัลไบรท์เห็นว่ากองทัพสหรัฐฯ ที่มีแสนยานุภาพควรแทรกแซงกิจการในคาบสมุทรบอลข่าน จนพลเอกพาวเวลล์ไม่พอใจอย่างมาก เขาระบุว่า“ผมคิดว่าผมจะเป็นเส้นเลือดโป่งพองเลยทีเดียว”
พลเอกพาวเวลล์เห็นว่า กองทัพสหรัฐฯ ควรเคลื่อนไหวต่อเมื่อมีจุดประสงค์ทางการเมืองที่ชัดเจนและปฏิบัติตามได้ ซึ่งต่อมาเป็นหลักการที่รู้จักกันในนาม “ลัทธิพาวเวลล์” (Powell Doctrine)
เรื่องราวของพลเอกพาวเวลล์กลายเป็นแรงบันดาลใจทางประวัติศาสตร์ให้ชาวอเมริกัน โดยในหนังสืออัตชีวประวัติ “เส้นทางอเมริกันของผม” (My American Journey) เขาเขียนถึงชีวิตวัยเด็กของเขาในยุคหลังภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ในย่านเซาธ์ บรองซ์ มหานครนิวยอร์ก ที่เขาเป็นเด็กนักเรียนใช้ชีวิตแบบไร้จุดหมาย มีความสุขไปวันๆ
เขามีประสบการณ์ทหารครั้งแรกระหว่างศึกษาชั้นปีแรกในวิทยาลัย City College of New York เมื่อปีค.ศ. 1954 โดยเขาได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนนักเรียนที่สวมชุดเครื่องแบบ โดยเขาสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหารก่อนประสบความสำเร็จในสายการทหารในเวลาต่อมา
พลเอกพาวเวลล์รับราชการทหารเป็นเวลา 35 ปี โดยได้รับยศร้อยตรีเมื่อปีค.ศ. 1958 และดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมวดในเยอรมนีตะวันตก ก่อนประจำการในเวียดนามเมื่อปีค.ศ. 1962 เป็นเวลาหนึ่งปีในฐานะที่ปรึกษากองพันทหารราบของเวียดนามใต้ โดยการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้เองที่เขาได้รับบาดเจ็บ ก่อนกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในเวียดนามอีกครั้งในปีค.ศ. 1968 และปฏิบัติหน้าที่อีกหลายครั้งทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ
พลเอกพาวเวลล์มีบทบาทโดดเด่นที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แม้ก่อนที่เขาจะได้รับยศระดับสูง ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 เขาทำงานให้สำนักรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ และในปีค.ศ. 1983 เขาเป็นผู้ช่วยทหารอาวุโสของนายแคสเปอร์ ไวน์เบอร์เกอร์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ขณะดำรงตำแหน่งพลจัตวา ต่อมาเขารับตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวในยุคอดีตประธานาธิบดีเรแกน และได้รับยศนายพลสี่ดาวในปีค.ศ. 1989 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช แต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการร่วม
อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยกล่าวว่า พลเอกพาวเวลล์เป็นที่ชื่นชอบของอดีตผู้นำสหรัฐฯ หลายคน จนเขาได้รับเหรียญอิสรภาพประธานาธิบดี (Presidential Medal of Freedom) ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดของสหรัฐฯ ถึงสองครั้ง
พลเอกพาวเวลล์ยังได้รับการยกย่องโดยนานาชาติด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 เขากล่าวต่อสหประชาชาติในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ สนับสนุนการทำสงครามอิรัก แต่ต่อมา มีการพบว่าแหล่งข่าวกรองที่เขาอ้างอิงเป็นแหล่งข่าวเท็จ และสงครามอิรักกลายเป็นเหตุการณ์วุ่นวาย มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ชื่อเสียงของพลเอกพาวเวลล์เสื่อมถอยลง
อย่างไรก็ตาม หลังเขายุติบทบาทกับรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว เขายังคงเป็นรัฐบุรุษในเวทีโลกและก่อตั้งองค์กรช่วยเหลือเยาวชนอเมริกันที่ขาดโอกาส พรรครีพับลิกันต้องการให้เขาลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ แต่ต่อมาเขาสนับสนุนผู้ท้าชิงตำแหน่งดังกล่าวจากพรรคเดโมแครตสามคนล่าสุด ที่ต้อนรับการสนับสนุนของเขาด้วยเช่นกัน
อิทธิพลของพลเอกพาวเวลล์ยังคงอยู่แม้เขาจะเกษียณอายุแล้ว โดยพลเอกลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ผิวดำคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นับถือพลเอกพาวเวลล์ว่าเป็นเพื่อนและที่ปรึกษาของเขา โดยในวันที่พลเอกพาวเวลล์เสียชีวิต พลเอกออสตินกล่าวว่า “เขาเป็นหนึ่งในผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราเคยพบ”
(ที่มา: สำนักข่าว The Associated Press)