ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ที่ประชุม CITES ลงมติให้มีมาตรการปกป้องปลาฉลามรวม 5 สายพันธุ์และปลากระเบน 2 สายพันธ์


ความนิยมในซุปหูฉลามในเอเชียกลับทำให้ปลาฉลามต้องสังเวยชีวิตไปเป็นจำนวนมากจนบางพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่บรรดานักอนุรักษ์ต่างพยายามรณรงค์ให้มีมาตรการปกป้องปลาฉลามจากการถูกล่าเพื่อตัดครีบไปขาย ล่าสุดในการประชุมเพื่อหารือวิธีจัดการกับการลักลอบค้าสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ the Convention on International Trade in Endangered Species หรือ CITES ที่กรุงเทพฯ ประเทศสมาชิก 178 ประเทศได้มีมติสนับสนุนมาตรการปกป้องปลาฉลาม 5 สายพันธุ์ และปลากระเบนราหูอีก 2 สายพันธุ์ ซึ่งการลงมติรอบสุดท้ายจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม

Glenn Sant หัวหน้าโครงการทะเลโลกขององค์กร TRAFFIC ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ช่วยรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวแสดงความมั่นใจต่อการลงมติครั้งนี้ โดยเชื่อว่าการลงมติในวันพฤหัสบดีนี้จะช่วยยับยั้งการล่าปลาฉลามและปลากระเบนได้ ซึ่งจะถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ

สำหรับปลาฉลาม 5 สายพันธุ์ที่จะได้รับการปกป้องจากมาตรการดังกล่าวคือ ปลาฉลามหูขาว ปลาฉลาม Porbeagle และปลาฉลามหัวค้อน 3 สายพันธุ์คือพันธุ์ Scalloped พันธุ์ Great Hammerhead และพันธุ์ Smooth Hammerhead ส่วนปลากระเบนราหูที่อยู่รายชื่อสัตว์ทะเลที่ควรได้รับการปกป้องคือพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง และพันธุ์ที่อพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล

คุณ Glenn Sant ชี้ว่ามาตรการปกป้องปลาฉลามจากการถูกล่า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบบนิเวศน์ทางทะเล เพราะฉลามคือผู้ล่าอันดับสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร การที่จำนวนฉลามลดน้อยลงอย่างรวดเร็วจึงทำให้สูญเสียสมดุลของระบบนิเวศน์โดยรวม ยกตัวอย่างในประเทศไทยซึ่งเชื่อว่าปลาฉลามมีจำนวนลดลงมากกว่า 90%

หากที่ประชุม CITES ลงมติขั้นสุดท้ายรับรองมาตรการปกป้องฉลาม 5 สายพันธุ์และปลากระเบนราหู 2 สายพันธุ์ดังกล่าว จะทำให้สัตว์ทะเลเหล่านั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาคผนวกที่ 2 ของ CITES ซึ่งมิได้หมายความว่าจะห้ามซื้อขายชิ้นส่วนสัตว์น้ำสายพันธุ์ดังกล่าวทั้งหมด แต่ประเทศใดที่มีส่วนร่วมในการค้าขายสัตว์น้ำประเภทนี้ต้องทำตามกฎเกณฑ์ 2 ข้อ หนึ่งคือพิสูจน์ให้ได้ว่าปลาฉลามและปลากระเบนเหล่านั้นถูกจับมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสองคือต้องเป็นการจับปลาอย่างยั่งยืนถาวร

คุณ Glenn Sant แห่งองค์กร TRAFFIC ชี้ว่ามาตรการที่ว่านี้จะทำให้เกิดการตรวจสอบอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นก่อนที่จะมีการซื้อขายปลาฉลามและปลากระเบนในตลาดโลกต่อไป
XS
SM
MD
LG