ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การประชุม CITES เริ่มขึ้นในประเทศไทยเพื่อเร่งคุ้มครองพันธ์พืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์จากการลักลอบค้าผิดกฎหมาย


การประชุม CITES เพื่อต่อต้านการค้าพืชและสัตว์หายากอย่างผิดกฎหมายเริ่มขึ้นในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมีนาคม และจะดำเนินไปรวมสองสัปดาห์ โดยคาดว่าในระหว่งการประชุมนี้จะมีการพิจารณาข้อเสนอต่างๆ เพื่อช่วยคุ้มครองพันธ์พืชและสัตว์ต่างๆ ที่ใกล้จะสูญพันธ์ เช่น ปลาฉลาม เต่าน้ำจืด กบพันธ์ต่างๆ จรเข้ หมีขาวขั้วโลก และสัตว์พันธ์ลาม่าขนยาวในเอควาดอร์ เป็นต้น โดยขณะนี้องค์การ CITES ให้ตัวเลขว่ามีปลาฉลามถูกล่าทั่วโลกเพื่อนำครีบมาทำเป็นอาหารถึงปีละราว 100 ล้านตัว

สัตว์สองชนิดซึ่งกำลังถูกล่าอย่างหนักเพื่อนำชิ้นส่วนมาสนองความต้องการของตลาดในเอเซียคือช้างและแรดในอาฟริกา โดยนาย John Scanlon เลขาธิการของ CITES ให้ตัวเลขว่า ในปี 2554 มีช้างอาฟริกาถูกล่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อนำงามาขายถึงราว 25,000 ตัว ส่วนนาย Adam Roberts สมาชิกของกลุ่ม Species Survival Network ก็ให้ตัวเลขว่า ขณะนี้มีแรดขาวเหลืออยู่ในทวีปอาฟริกาเพียงราว 21,000 ตัวและมีเสือเหลืออยู่ในทวีปเอเซียเพียงราว 3500 ตัวเท่านั้น และนาย John Scanlon เลขาธิการของ CITES ชี้ว่าเรื่องสำคัญในความพยายามเพื่อปกป้องพันธ์พืชและสัตว์ที่หายากและใกล้จะสูญพันธ์เหล่านี้ นอกจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและรัฐบาลต่างๆ แล้วยังต้องอาศัยความตั้งใจจริงทางการเมืองของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย นักอนุรักษ์พันธ์พืชและสัตว์คาดว่าที่ประชุมดังกล่าวคงจะยอมรับมาตรการส่วนใหญ่ที่เสนอเพื่อมุ่งปกป้องพืชและสัตว์ประจำถิ่น แต่คาดว่าข้อเสนอเพื่อคุ้มครองปลาฉลามอาจจะถูกคัดค้านโดยจีนและญี่ปุ่น
XS
SM
MD
LG