ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนปีนเกลียว เนื่องจากการพิพาทขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดนในทะเลจีนใต้


ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนปีนเกลียวกัน หลังจากสหรัฐเสนอที่จะช่วยสลายข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและประเทศทางภาคเอเชียอาคเนย์ จีนหาว่าสหรัฐเข้ามาก้าวก่ายและทำให้เกิดความหวาดเกรง

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนปีนเกลียวกัน หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ฮิลลารี คลินตัน กล่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่าการสลายข้อพิพาท เกี่ยวเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้นั้นควรใช้การทูตแก้ปัญหาร่วมกัน

จีน บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ใต้หวันและเวียดนามต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในย่านทะเลจีนใต้

ในขณะที่ดินแดนในทะเลจีนใต้ที่กล่าวถึงนี้ แม้จะประกอบด้วยเกาะเล็กๆ โขดหินใหญ่ๆและแนวทรายเป็นส่วนมาก แต่ก็เชื่อกันว่าตามที่เหล่านั้น บางส่วนมีน้ำมันและก๊าซอุดมสมบูรณ์ทีเดียว

จีนและประเทศคู่พิพาทกำลังพัฒนาการท่องเที่ยว สำหรับเกาะบางเกาะเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีเหตุผลพอเพียงที่จะอ้างกรรมสิทธ์เหนือดินแดนดังกล่าว

ตอนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ฮิลลารี คลิ้นตันไปประชุมเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของภูมิภาค ณ กรุงฮานอยนั้น ท่านรัฐมนตรีกล่าวว่า สหรัฐเต็มใจจะช่วยอำนวยความสะดวกให้มีการเจรจาพาทีแบบอเนกภาคีเพื่อให้สลายข้อพิพาทแบบที่ไม่มีการบีบบังคับ การข่มขู่ หรือใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ฮิลลารี คลิ้นตัน กล่าวว่า สหรัฐและชาติอื่นๆก็เช่นกันมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในด้านเสรีภาพเกี่ยวกับการเดินเรือ การเปิดทางเข้าสู่ทางน้ำของเอเชียและเคารพกฎหมายระหว่างประเทศในย่านทะเลจีนใต้

มาในสัปดาห์นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน หยาง เจี๋ย ฉือ กล่าวประนามทัศนวิจารณ์ของนางคลินตันว่าเป็นการพยายามจะให้นานาประเทศเข้ามาข้องเกี่ยวกับข้อพิพาทที่จีนต้องการขบแก้แบบทวิภาคี เป็นการโจมตีจีนโดยมีจุดมุ่งหมาย จะทำให้ประชาคมระหว่างประเทศเกิดความประทับใจอย่างผิดๆว่าสถานการณ์ในทะเลจีนใต้นั้นเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง

หลังจากนั้นจีนระงับการแลกเปลี่ยนทางการทหารกับสหรัฐ เพราะเรื่องที่สหรัฐซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้และการที่สหรัฐจำหน่ายอาวุธให้ใต้หวัน จีนถือว่าใต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนและจะต้องมารวมเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนในสักวันหนึ่งไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ซึ่งรวมถึงการใช้กำลังบังคับนั้นด้วย

เมื่อเดือนธันวาคมปีนี้ จีนประกาศว่าทะเลจีนใต้เป็นผลประโยชน์หลัก ของอำนาจอธิปไตยของจีน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดความวิตกกังวลกันในภาคเอเชียอาคเนย์

ศาสตราจารย์ คาร์ล เธเยอร์ ผู้สอนวิชาการเมืองที่มหาวิทยาลัยนิว เซ๊าธ์ เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า สถานการณ์ในภูมิภาคนั้นกำลังตึงเครียดยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างจีน และเวียดนามเพราะจีนประกาศห้ามจับปลาในช่วงสองปีที่ผ่านมา ไล่จับเรือประมงของชาวญวนแล้วก็ยึดปลาที่จับได้ ปรับและควบคุมชาวประมงญวนเหล่านั้นไว้จนกว่าจะมีการเสียค่าปรับ ยึดอุปกรณ์และปลาที่จับมาได้ อีกทั้งประกาศว่าตนเป็นผู้บริหารและควบคุมเกาะเหล่านั้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ และข้อความในคำประกาศเกี่ยวกับวิธีประพฤติปฏิบัติซึ่งส่งเสริมให้คู่กรณีไม่ดำเนินการใดๆ ไปตามลำพังรวมทั้งการซ้อมรบทางนาวีในภูมิภาคนั้นด้วย ศาสตราจารย์ คาร์ล เธเยอร์ กล่าวด้วยว่าการสร้างสมกำลังทางนาวีที่เกาะไหหนานและการสนับสนุนการอ้างกรรมสิทธ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ด้วยวิธีการที่ก้าวร้าวทำให้เกิดความกังวลกันว่าจีนมีเจตนาจะแสดงแสนยานุภาพที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ นี้ทำให้สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม พากันเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันต่างๆ รวมถึงการซื้อหรือแสดงความตั้งใจจะซื้อเรือใต้น้ำมาเสริมกำลังทางนาวีของชาตินั้นๆ ด้วย

เวียดนามซึ่งเคยทำยุทธนาวีกับจีนในอดีต เพราะการพิพาทกันเกี่ยวกับหมู่เกาะพาราเซลล์และหมู่เกาะสแปรตลีย์นั้นยินดีที่สหรัฐเข้ามาพัวพัน ในเรื่องการพิพาทในย่านทะเลจีนใต้

เมื่อปีพุทธศักรราช 2545 จีนและสิบภาคีของสมาคมอาเซียน ลงนามในคำประกาศเกี่ยวกับวิธีประพฤติปฏิบัติในทะเลจีนใต้ โดยตกลงกันว่าจะสลายข้อพิพาทกันโดยสันติวิธี

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมอาเซียนกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การรักษาช่องทางการเดินเรืออันทรงความสำคัญในทะเลจีนใต้ให้เปิดใช้การได้อย่างปลอดภัย และมั่นคงสอดคล้องกับผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ดร.สุรินทร์กล่าวด้วยว่าทรัพยากรพลังงาน กว่าแปดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ที่ส่งไปยังจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นมาจากภาคเอเชียอาคเนย์หรือผ่านทางภาคดังกล่าว ผ่านทางทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญยิ่งสำหรับจีน ญี่ปุ่น ภาคเอเชียอาคเนย์และประเทศอื่นๆ ทางภาคตะวันตก

เจ้าหน้าที่อเมริกันกล่าวว่าจีนกำลังกดดันบริษัทน้ำมันตะวันตก ไม่ให้ทำงานกับเวียดนามในเขตที่พิพาทกัน โดยขู่ว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทเหล่านั้น ในเมืองจีนอาจถูกกระทบกระเทือนได้

ศาสตราจารย์ คาร์ล เธเยอร์กล่าวว่าการที่สหรัฐเข้ามาพัวพันนี้ จะทำให้อำนาจของจีนในทะเลจีนใต้สมดุลย์และช่วยให้วางใจได้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศ จะมีผลใช้บังคับต่อไปในการสลายข้อพิพาทแทนที่การอ้างทางประวัติศาสตร์ว่าตนมีกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในย่านทะเลจีนใต้

XS
SM
MD
LG