ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน กระทบแผนปฏิรูปองค์การการค้าโลก


Leaders pose for a family photo at the APEC 2018 Economic Leaders Meeting at the APEC Haus at Port Moresby, Papua New Guinea, Nov. 18, 2018.
Leaders pose for a family photo at the APEC 2018 Economic Leaders Meeting at the APEC Haus at Port Moresby, Papua New Guinea, Nov. 18, 2018.
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:07 0:00

ขณะนี้บรรยากาศการค้าโลกยังคงมีความขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัด และนักวิเคราะห์เชื่อว่าความไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะดำเนินต่อไป และอาจกระทบการปฏิรูปองค์การการค้าโลกหรือ WTO (World Trade Organization)

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่การประชุมเอเปค เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ประเทศปาปัวนิวกินี

กล่าวคือการประชุมสุดยอดของประเทศกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก จบลงเมื่อวันอาทิตย์ โดยไม่มีแถลงการณ์การร่วม จากผู้นำ 21 ชาติที่เข้าประชุม เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี

ทางการจีนปฏิเสธ ว่าฝ่ายตนเป็นสาเหตุของทางตันดังกล่าว นอกจากนี้ยังกล่าวว่า รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ที่ร่วมประชุมนำความโกรธเคืองมาสู่การประชุมเอเปค

อย่างไรก็ตาม ผู้ไม่เห็นด้วยกล่าวว่าจีนต่างหากเป็นฝ่ายที่ไม่ยอมลงนามในคำแถลงร่วม โดยมีสาเหตุมาจากถ้อยความในแถลงการณ์ ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจีนเห็นว่าเป็นการมุ่งเป้ามากดดันจีนโดยไม่จำเป็น

ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ประเทศสมาชิก ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจโลก ต้องการให้เกิดการปฏิรูประบบขององค์การการค้าโลก

ทั้งนี้หน้าที่ขององค์การการค้าโลกคือกำหนดกฎเกณฑ์การค้าที่เป็นธรรมและวินิจฉัยความขัดแย้งทางการค้า

ความพยายามผลักดันการเปลี่ยนแปลงใน WTO ไม่ประสบความสำเร็จที่เวทีเอเปค และน่าจะเป็นประเด็นสำคัญอีกที่การประชุมสุดยอดประเทศกลุ่ม จี20 ที่ประเทศอาร์เจนติน่าในเดือนนี้ด้วย

ในเดือนหน้า จำนวนผู้ตัดสินความขัดแย้งทางการค้าของ WTO จะมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุมพอที่จะทำหน้าที่ได้

รัฐบาลสหรัฐฯ สกัดกั้นไม่ให้มีการแต่งตั้งผู้พิจารณาความขัดแย้ง มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยแสดงความกังวลว่าคณะผู้พิจารณาข้อพิพาททางการค้าทำหน้าที่เกินขอบเขต

นอกจากนั้นสหรัฐฯ เห็นว่า WTO ไม่แข็งขันพอในการหยุดยั้งการละเมิดกฎการค้าโดยจีน

นักวิเคราะห์ Scott Kennedy รองผู้อำนวยการฝ่ายจีนศึกษา แห่งศูนย์ Center for Strategic & International Studies หรือ CSIS กล่าวว่า WTO กำลังเผชิญวิกฤตด้านบทบาทและความเป็นตัวตนขององค์กร

เขากล่าวว่าการทำหน้าที่ตามปกติขององค์การการค้าโลกจะเกิดปัญหาต่อไปจากนี้ จนกว่า จีน สหรัฐฯและประเทศสมาชิกอื่นๆ สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ถึงบทบาทของ WTO

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ พยายามร่วมกันร่างข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปองค์การการค้าโลก

สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นตกลงกันได้ที่จะร่วมมือผลักดันการบังคับใช้กฎเรื่องการที่รัฐให้การสนับสนุนเป็นพิเศษต่อกิจการของรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนั้น กลุ่มพันธมิตรดังกล่าวต้องการให้ WTO เอาจริงมากกว่านี้ในเรื่อง กำลังการผลิตที่เกินความต้องการ และนโยบายของบางประเทศที่บังคับให้บริษัทต่างชาติถ่ายโอนความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้ามาทำธุรกิจ

ชัดเจนว่า จีนถูกวิจารณ์บ่อยครั้งว่าเป็นผู้กระทำผิด ในประเด็นต่างๆเหล่านี้

ดังนั้นรัฐบาลปักกิ่งจึงพยายามเสนอแนวทางการปฏิรูปองค์การการค้าโลกในสูตรของตนด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทูตจีนประจำ WTO นาย จาง เซียงเชน กล่าวว่าทางการจีนขอปฏิเสธความพยายามที่จะออกแบบกฎเกณฑ์มาควบคุมจีน ในคราบของแผนปฏิรูป WTO

ในประเด็นสำคัญที่กระทบกับจีน คือมาตรฐานด้านการค้าโลกที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาซึ่งครอบคลุมจีน

กล่าวคือประเทศกำลังพัฒนาถูกกำหนดให้ทำตามเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ในเรื่องการค้า ตัวอย่างเช่น ประเทศเหล่านี้ สามารถชะลอการใช้กฎใหม่ๆ และใช้ภาษีนำเข้าในระดับที่สูงกว่าได้

นักวิเคราะห์ Scott Kennedy แห่ง CSIS กล่าวว่า ประเทศคู่ค้าของจีนหลายแห่งไม่เห็นว่าเป็นการเหมาะสมที่ จีนจะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงประเทศกำลังพัฒนาได้ต่อไป

ดังนั้น เขากล่าวว่า สิ่งที่ประเทศต่างๆ ต้องหารือกันต่อไปจากนี้คือ อำนาจทางการค้าของรัฐบาลปักกิ่งกับความเหมาะสมของกฎเกณฑ์ WTO ที่ใช้กับจีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนา

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Bill Ide จากปักกิ่ง)

XS
SM
MD
LG