ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงาน ICG ชี้ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ไม่จบง่ายๆ เพราะการเมืองภายในของจีนและการปลุกกระแสชาตินิยม


รายงานชิ้นใหม่จากกลุ่ม International Crisis Group หรือ ICG วิเคราะห์ไว้ว่า นโยบายที่ไม่แน่นอนของจีน การแข่งขันแย่งชิงทางการเมือง และการขาดประสบการณ์ด้านการต่างประเทศของหน่วยงานต่างๆในรัฐบาลจีน คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งเรื่องทะเลจีนใต้ไม่จบลงง่ายๆ

รายงานของ International Crisis Group หรือ ICG ระบุว่าการที่รัฐบาลจีนพยายามเน้นย้ำในเรื่องของการอ้างกรรมสิทธ์ในอดีตและเพิ่มความอ่อนไหวในเรื่องชาตินิยมยิ่งเป็นการทำให้ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ยิ่งรุนแรงขึ้น

Stephanie Kleine Ahlbrandt ผอ.ฝ่ายนโยบายจีนและเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือของ ICG ความขัดแย้งครั้งนี้ไปไกลยิ่งกว่าแถบทะเลจีนใต้ ลุกลามไปถึงพม่าและอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สหรัฐกำลังเพิ่มอิทธิพลทางทหารในทะเลจีนใต้ยิ่งทำให้จีนไม่อาจนิ่งเฉย

นักวิเคราะห์ของ ICG ผู้นี้ชี้ว่าจีนรู้สึกเหมือนถูกคุกคามเพราะที่ผ่านมาจีนเชื่อมาตลอดว่าพื้นที่แถบนี้คือดินแดนของจีน จีนจึงตอบโต้ด้วยการแผ่อิทธิพลทางทหารเช่นกัน จึงทำให้เกิดเป็นวงจรขึ้นมาเพราะเมื่อประเทศที่มีปัญหากับจีนรู้สึกเกรงกลัวจีนก็จะขอให้สหรัฐเข้ามาแทรกแซงทางการทหารมากขึ้น สังเกตได้จากการซ้อมรบระหว่างสหรัฐกับประเทศในเอเซียซึ่งแม้จะมีมานานแล้ว แต่เพิ่งถูกยกระดับความสำคัญมากขึ้นในช่วงหลังนี้

ศาสตราจารย์ Huang Jing ผอ.ศูนย์เอเซียและโลกาภิวัฒน์ที่ National University ในสิงคโปร์ระบุว่าปัจจุบันเอเซียแบ่งขั้วอำนาจเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือจีนซึ่งเป็นขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ อีกฝ่ายหนึ่งคือสหรัฐและพันธมิตรในเอเซียซึ่งถือเป็นขั้วอำนาจทางทหาร ทำให้ประเทศต่างๆต่างตกอยู่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างขั้วอำนาจทั้งสองนี้ เพราะต่างต้องพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจและก็ยังต้องอาศัยสหรัฐในด้านการทหารเช่นกัน

หลายประเทศในเอเซียสั่งซื้ออาวุธมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก่อให้เกิดความกังวลเรื่องการแข่งขันสะสมกำลังทหาร แม้ว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเกิดการเผชิญหน้าทางทะเลระหว่างเรือประมงหรือเรือของเอกชนเท่านั้น เนื่องจากกองเรือประมงของประเทศต่างๆมีจำนวนมากและเคลื่อนไหวไปทั่วทั้งทะเลจีนใต้มากกว่าเรือของกองทัพเรือ อีกทั้งเรือประมงเหล่านั้นต้องออกจับปลาในอาณาเขตที่ไกลกว่าเดิมเนื่องจากปริมาณปลาลดลง มลพิษและประชากรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะออกขอกเขตน่านน้ำที่กำหนด ล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆมากขึ้น

ที่ผ่านมาประเทศต่างๆในแถบทะเลจีนใต้พยายามแก้ไขข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้ผ่านการเจรจาและการจัดทำระเบียบปฏิบัติของสมาคมอาเซียน แต่ดูเหมือนความพยายามเหล่านั้นจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ขณะเดียวกันคุณ Stephanie Kleine Ahlbrandt แห่ง ICG ชี้ว่าการปลุกกระแสชาตินิยมในประเทศที่อยู่ในความขัดแย้งเช่นเวียดนามและฟิลิปปินส์ ก็ดูเหมือนจะยิ่งทำให้ข้อพิพาทครั้งนี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้หนทางแก้ไขปัญหายิ่งดูไกลห่างออกไป

ปัญหาเดียวกันนี้เกิดขึ้นในจีนเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่จีนกำลังอยู่ในช่วงถ่ายโอนอำนาจทางการเมือง ศาสตราจารย์ Huang Jing แห่ง National University ในสิงคโปร์ ชี้ว่าบรรดาสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งหนักแน่นของนโยบายต่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของจีนรวมทั้งเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และดูเหมือนท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนจะดำเนินต่อเนื่องไปจนกว่าจะมีการถ่ายโอนอำนาจเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

XS
SM
MD
LG