ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนส่งกองทัพเรือ-อากาศ ข่มสหรัฐฯ เหนือช่องแคบไต้หวัน


แฟ้มภาพ - เครื่องบินลาดตระเวน P-8A โปไซดอน ของสหรัฐฯ จอดพักอยู่ที่ฐานทัพอากาศคลาร์ค ในจังหวัดพัมพังกา ทางเหนือของฟิลิปปินส์ เมื่อ 20 มี.ค. 2565
แฟ้มภาพ - เครื่องบินลาดตระเวน P-8A โปไซดอน ของสหรัฐฯ จอดพักอยู่ที่ฐานทัพอากาศคลาร์ค ในจังหวัดพัมพังกา ทางเหนือของฟิลิปปินส์ เมื่อ 20 มี.ค. 2565

กองทัพจีนเปิดเผยในวันอังคารว่า ได้ส่งทัพเรือและทัพอากาศออกสังเกตการณ์และเตือนเครื่องบินลาดตระเวนของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่บินผ่านพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน พร้อมประณามสหรัฐฯ ว่า พยายาม “ทำให้ประชาคมโลกเข้าใจผิด”

เรือหรือเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ มักจะบินหรือล่องผ่านน่านน้ำที่แบ่งไต้หวันซึ่งปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยปฏิบัติการดังกล่าวจะเกิดขึ้นราวเดือนละครั้ง แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้กรุงปักกิ่งขุ่นเคืองเสมอ

จีนอ้างอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวันและกล่าวว่ามีอำนาจควบคุมช่องแคบไต้หวันด้วย ขณะที่ไต้หวันและสหรัฐฯ ต่างแย้งคำกล่าวอ้างของจีน และกล่าวว่าช่องแคบดังกล่าวเป็นน่านน้ำสากล

กองเรือรบที่ 7 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เครื่องบินลาดตระเวนทางน้ำ “โพไซดอน” P-8A ได้ทำการบินผ่านช่องแคบไต้หวัน “ในน่านฟ้าสากล” และกล่าวเสริมว่า เที่ยวบินดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพันธกรณีของสหรัฐฯ ต่ออินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี

กองเรือรบที่ 7 ระบุในแถลงการณ์ได้ว่า “ด้วยปฏิบัติการในช่องแคบไต้หวันที่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ สหรัฐฯ สนับสนุนสิทธิในการเดินเรือและเสรีภาพของประเทศทั้งหลาย”

แต่กองทัพจีนวิจารณ์ว่า เที่ยวบินลาดตระเวนของสหรัฐฯ นั้นเป็น “การสร้างกระแส” และกล่าวเสริมว่า ฝ่ายตนได้สังเกตการณ์การเคลื่อนไหวของเครื่องบินสหรัฐฯ ตลอดเวลา และโต้ตอบต่อสถานการณ์ “อย่างมีประสิทธิภาพ” แล้ว

กองบัญชาการภาคตะวันออกของจีนระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า “คำกล่าวในเรื่องนี้ของสหรัฐฯ นั้นบิดเบือนหลักการทางกฎหมาย ทำให้ความคิดของประชาชนสับสนและทำให้ประชาคมโลกเข้าใจผิด” และว่า “เราร้องขอให้สหรัฐฯ เลิกบิดเบือนและสร้างกระแสและร่วมกันปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคด้วยกัน”

ขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหมไต้หวันกล่าวว่า เครื่องบิน P-8A ของสหรัฐฯ บินผ่านช่องแคบไปทางเหนือและกองทัพไต้หวันก็ได้สังเกตการณ์ต่าง ๆ อยู่ พร้อมเสริมว่า “สถานการณ์นั้นเป็นปกติดี”

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG