ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนอาจตอบโต้นานาชาติที่ส่งเรือรบเข้าลาดตระเวนในทะเลจีนใต้


China South China Sea
please wait

No media source currently available

0:00 0:01:17 0:00

ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมคมเป็นต้นมา มีอย่างน้อยแปดประเทศแล้วที่ประกาศแผนจะส่งเรือรบของตนเข้าไปในบริเวณทะเลจีนใต้เพื่อสนับสนุนหลักการเรื่องการใช้เส้นทางดังกล่าวเพื่อการสัญจรอย่างเสรี

และนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเชื่อว่าจีนอาจจะตอบโต้ด้วยการส่งเรือเข้าติดตาม หรืออาจซ้อมรบด้วยกระสุนจริง

ทะเลจีนใต้ครอบคลุมบริเวณตั้งแต่ฮ่องกงไปจนถึงเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซียและขณะนี้จีนมีกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์อยู่กับหลายประเทศในเอเชีย เช่น บรูไนมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมทั้งไต้หวันด้วย

โดยเมื่อปี 2559 ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้มีคำวินิจฉัยว่าจีนไม่มีพื้นฐานทางกฏหมายใดๆ ที่จะกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเนื้อที่ราว 90% ของน่านน้ำซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3,500,000 ตารางกิโลเมตรที่ว่านี้ด้วยการใช้แผนที่เก่าซึ่งเป็นจุดไข่ปลาเก้าจุด แต่จีนไม่ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว

ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นต้นมามีประเทศต่างๆ อย่างน้อยแปดประเทศแล้ว เช่น ฝรั่งเศสเยอรมนี อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และญี่ปุ่นที่ประกาศจะส่งเรือรบของตนเข้าไปในน่านน้ำดังกล่าว โดยมีบางส่วนเพื่อร่วมการฝึกซ้อมกับสหรัฐฯ และประเทศเหล่านี้ได้ประกาศสนับสนุนหลักการของการรักษาทะเลจีนใต้ให้เป็นช่องทางการคมนาคมระหว่างประเทศอย่างเสรีแทนที่จะต้องตกอยู่ในความควบคุมของจีนด้วย

เมื่อสองปีที่แล้วสหรัฐฯ ได้เพิ่ม “ปฎิบัติการเพื่อเสรีภาพของการเดินเรือ” ในทะเลจีนใต้ขึ้นเป็นสองเท่าโดยหวังจะช่วยยับยั้งการขยายอิทธิพลของจีนในพื้นที่ดังกล่าวและหลังจากนั้นอินเดีย ญี่ปุ่น กับบางประเทศในยุโรปก็เริ่มทำตามโดยส่งเรือรบของตนเข้าไปในน่านน้ำทะเลจีนใต้เช่นกัน ซึ่งคุณ Oh Ei Sun นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Singapore Institute of International Affairs ในสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นพฤติกรรมที่หลายประเทศทำตามๆ กัน

อย่างไรก็ตามการมีเรือรบจากหลายประเทศอยู่ในทะเลจีนใต้ใกล้ประเทศของตนคงทำให้จีนต้องมีมาตรการตอบโต้เช่นกัน โดยคุณ Derek Grossman นักวิเคราะห์อาวุโสของ Rand Coporation เชื่อว่าจีนคงจะเริ่มด้วยการประท้วงทางการทูตก่อนหรือแสดงความไม่พอใจผ่านสื่อภาษาอังกฤษในประเทศของตน และอาจเพิ่มมาตรการขึ้นเป็นการส่งเรือเข้าติดตามประกบเรือรบจากต่างชาติได้

ส่วนคุณ Alexander Huang อาจารย์ผู้สอนด้านยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Tamkang ในไต้หวันวิเคราะห์ว่ากองทัพเรือของจีนอาจตอบโต้ด้วยการทดลองยิงขีปนาวุธที่ใช้กระสุนจริงแต่ไม่ให้ถูกเป้าหมายใด ซึ่งเมื่อต้นเดือนนี้จีนก็ได้ประกาศแล้วว่าตนมีแผนจะซ้อมยิงจรวดขีปนาวุธเพื่อทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินในทะเลจีนใต้ด้วย

แต่ในแง่มาตรการตอบโต้ทางด้านอื่นที่ไม่ใช่การทูตหรือการซ้อมรบของตนเองแล้ว คุณ Oh Ei Sun นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Singapore Institute of International Affairs เชื่อว่าจีนก็มีข้อจำกัดอยู่พอสมควรเพราะทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีล้วนแต่เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญซึ่งจีนคงต้องใช้ความระมัดระวังและเลือกใช้มาตรการตอบโต้ให้เหมาะสมกับสถานะความสัมพันธ์กับแต่ละประเทศด้วย

และในทางกลับกันอาจารย์ Carl Thayer จากมหาวิทยาลัย New South Wales ของออสเตรเลียก็เชื่อว่าในส่วนของกลุ่มประเทศตะวันตกและพันธมิตรของสหรัฐฯ เองนั้นประเทศเหล่านี้ก็คงพยายามหลีกเลี่ยงการประจัญหน้าและส่งเรือรบของตนเข้าไปในบริเวณกลางทะเลโดยให้อยู่ห่างจากพื้นที่ซึ่งมีความละเอียดอ่อนและมีความสำคัญสำหรับจีนเช่นกัน

ที่มา: VOA

XS
SM
MD
LG