ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เครื่องบินโดยสาร 'เมด อิน ไชน่า' ลำแรก เริ่มให้บริการแล้ว


A Commercial Aircraft Corp of China (COMAC) C919 aircraft, China's first domestically produced large passenger jet, performs during the Airshow China 2022 in Zhuhai, in southern China's Guangdong province on November 8, 2022. (Photo by CNS /AFP)
A Commercial Aircraft Corp of China (COMAC) C919 aircraft, China's first domestically produced large passenger jet, performs during the Airshow China 2022 in Zhuhai, in southern China's Guangdong province on November 8, 2022. (Photo by CNS /AFP)

เครื่องบินโดยสารลำแรกที่ผลิตในประเทศจีนเริ่มบินให้บริการผู้โดยสารเที่ยวแรกในวันอาทิตย์ ถือเป็นก้าวแรกของจีนเพื่อเข้าสู่การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่มีผู้ครองตลาดรายใหญ่ คือ บริษัทโบอิ้ง (Boeing) และ แอร์บัส (Airbus)

เครื่องบิน C919 ซึ่งผลิตโดยบรรษัทการบินพาณิชย์ของจีน หรือ COMAC (Commercial Aviation Corporation of China) บรรทุกผู้โดยสาร 130 คน เดินทางจากสนามบินเซี่ยงไฮ้ หงเฉียว (Shanghai Hongqiao Airport) ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ และลงจอดที่กรุงปักกิ่งในอีกสองชั่วโมงต่อมา อ้างอิงจากสื่อ China Daily ของทางการจีน

เที่ยวบินดังกล่าวดำเนินการโดยสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส (China Eastern Airlines) ของทางการจีน และด้านข้างลำตัวเครื่องบินมีข้อความว่า “The World's First C919”

COMAC พยายามกระโจนเข้าไปแข่งขันในตลาดเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ซึ่งมีเครื่องบิน A320 ของแอร์บัส และ B737 ของโบอิ้ง ครองตลาดอยู่ โดยมักใช้ในเที่ยวบินภายในประเทศหรือในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องบิน C919 จะออกแบบเองโดยบริษัทจีน แต่ชิ้นส่วนสำคัญหลายอย่างยังต้องนำเข้าจากชาติตะวันตก รวมทั้งเครื่องยนต์

COMAC ใช้เวลาพัฒนา C919 นาน 16 ปี โดยสามารถบินได้ไกลสูงสุด 5,630 กม. บรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 158 - 168 คน ซึ่งทางบริษัทมีแผนผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ 150 ลำต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า

COMAC เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้มียอดสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารรุ่นแรกของจีนเข้ามาแล้วมากกว่า 1,200 ลำ

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG