ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนกำลังต่อสู้กับภาวะแห้งแล้งที่สุดในเวลานานกว่า 50 ปี


จีนกำลังต่อสู้กับภาวะแห้งแล้งที่สุดในเวลานานกว่า 50 ปี
จีนกำลังต่อสู้กับภาวะแห้งแล้งที่สุดในเวลานานกว่า 50 ปี

เมืองใหญ่และมณฑลต่างๆ ตามลำแม่น้ำแยงซีกำลังต่อสู้กับความแห้งแล้งที่สุดในจีนในเวลานานกว่า 50 ปี นักวิเคราะห์ด้านทรัพยากรกล่าวว่า ภาวะแห้งแล้งดังกล่าว เป็นการเน้นย้ำถึงปัญหาเรื้อรังของจีนในเรื่องการขาดแคลนน้ำ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการที่จีนจะต้องสร้างความสมดุลย์ระหว่างปัญหานี้กับความต้องการพลังงานอันมากมายมหาศาลและการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ทะเลสาบปอยางในมณฑลเจียงสี ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดในจีน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เกิดความแห้งแล้งร้ายแรงเพียงใด ทะเลสาบซึ่งอยู่ตามลำแม่น้ำแยงซีนี้ หดตัวลงมากกว่าครึ่ง และการขาดน้ำกำลังมีผลกระทบมากมายต่อการประมงและเกษตรกรรมในบริเวณนั้น ขณะเดียวกันน้ำแม่น้ำแยงซีลดระดับลง หลายช่วงตื้นเขินจนเรือสินค้าแล่นผ่านไม่ได้ การขนส่งลำเลียงเชื้อเพลิงไปยังโรงงานตามลำแม่น้ำ ตลอดจนการขนส่งผลิตภัณฑ์จากโรงงานตามลำแม่น้ำและสินค้าเกษตรกรรมติดขัดไปตาม ๆ กัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความแห้งแล้งมีผลกระทบถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าปริมาณมากจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งตามลำแม่น้ำแยงซี

Robert Kimball ผู้ประสานงานสถาบันทรัพยากรโลก World Resources Institute ในกรุงวอชิงตันยกตัวอย่างเขื่อนสามผา ซึ่งการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงราว 20 % ส่งผลกระทบกระเทือนถึงบริษัทที่ต้องอาศัยไฟฟ้าจากแหล่งดังกล่าว บางแห่งถึงกับต้องปันส่วนการใช้กระแสไฟฟ้า

เจ้าหน้าที่เริ่มปล่อยน้ำปริมาณมหาศาลจากเขื่อนสามผาเพื่อเพิ่มระดับน้ำและผ่อนเพลาผลกระทบจากภาวะแห้งแล้ง

Keith Schneider บรรณาธิการอาวุโสที่สมาคมผู้สื่อข่าวและนักวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ Circle of Blue ซึ่งมุ่งให้ความสนใจเรื่องทรัพยากรน้ำของโลกกล่าวว่า การขาดน้ำกำลังเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ในจีน เขากล่าวว่า ตามข้อมูลสำนักสถิติแห่งชาติของจีนนั้น จีนสูญเสียความชุ่มชื้นเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2543 โดยสูญเสียน้ำปีละราว 35,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และรวมทั้งหมดราว 350,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

นักอุตุนิยมวิทยาของจีนกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็ยังความเสียหายใหญ่หลวงต่อทรัพยากรน้ำของจีนด้วย

การก่อสร้างเขื่อนต่าง ๆ ตามลำแม่น้ำแยงซีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของปัญหา Keith Schneider กล่าวว่า แม่น้ำแยงซีตอนบน มีเขื่อนราว 100 เขื่อน ซึ่งทำให้มีอย่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง การทำให้มีน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำเหล่านั้น มีทั้งส่วนช่วยและหน่วงเหนี่ยว เพราะมีน้ำที่จะปล่อยลงแม่น้ำได้ แต่ขณะเดียวกันอ่างเก็บน้ำก็จะต้องมีน้ำเต็มเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย

และเพื่อที่จะจำกัดการใช้น้ำ จีนกำลังเร่งขยายการผลิตพลังงานสำรอง และสำรวจลู่ทางที่จะหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรน้ำในเมืองใหญ่ ๆ อย่างแข็งขัน

สื่อมวลชนของทางการจีนรายงานว่า ความแห้งแล้งกำลังมีผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 6 ล้านไร่ใน 6 มณฑลในภาคกลาง และเจ้าหน้าที่กำลังทำฝนเทียม แต่พยากรณ์อากาศระบุว่า จะยังมีฝนน้อยไปอีกราว 6 เดือน

XS
SM
MD
LG