ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิวัฒนาการของ “หมากฝรั่ง” และประโยชน์ที่คาดไม่ถึง!


การเคี้ยวหมากฝรั่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมวลมนุษยชาติ โดย Sally Squires เจ้าของบล็อค the Lean Plate Club ว่าด้วยเรื่องโภชนาการ บอกว่า พฤติกรรมการขบเคี้ยวแบบไม่กลืนที่คล้ายกับการเคี้ยวหมากฝรั่งนั้น เกิดขึ้นมายาวนานย้อนกลับไปหลายพันปีก่อน ด้วยความเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยาและฆ่าเชื้อโรคได้

ณ ช่วงเวลานั้นหมากฝรั่งยังไม่ถือกำเนิดขึ้น นิยามของหมากฝรั่งมีหลากหลาย แตกต่างไปตามวัฒนธรรมและพื้นที่ต่างๆของโลก ซึ่ง Sally บอกว่า เมื่อ 6 พันปีที่แล้ว พบหลักฐานแรกของมนุษย์ที่เริ่มบดเคี้ยวสิ่งที่ไม่ใช่อาหารนั้น คือ รอยขบฟันของมนุษย์บนเปลือกไม้ Birch (เบิร์ช) ในประเทศฟินแลนด์

ชาวกรีกยุคโบราณนิยมเคี้ยวเปลือกไม้ Mastic ชนเผ่ามายันโบราณนิยมเคี้ยวยาง Chicle (ชิเคิล) ที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไอ ชาวเอสกิโมนิยมเคี้ยว blubber หรือชั้นไขมันวาฬ ที่หาได้ในพื้นที่ขั้วโลก ผู้คนแถบอเมริกาใต้ชื่นชอบการเคี้ยวใบโคคาที่เป็นสารเสพติด คนจีนสมัยก่อนนิยมเคี้ยวรากโสม ชาวอินเดียนแดงนิยมเคี้ยวยางไม้จากต้นไพน์ และชาวอเมริกันยุคแรกๆนิยมเคี้ยวใบยาสูบ

จนกระทั่งเมื่อราว 200 ปีที่แล้ว สหรัฐฯเป็นชาติแรกที่ผลิตหมากฝรั่งออกวางขายเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกของโลก เมื่อ John B. Curtis นักธุรกิจจากรัฐเมน ได้ผลิตหมากฝรั่งขึ้นจากยางไม้ ขี้ผึ้ง และเพิ่มรสชาติสังเคราะห์เข้าไป และขายภายใต้ชื่อ “The State of Maine Pure Spruce Gum” ก่อนที่หมากฝรั่งยี่ห้อคุ้นหูอย่าง “Chiclets” จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายช่วงกลางศตวรรษที่ 20

ปัจจัยที่ทำให้หมากฝรั่งยังเป็นที่นิยม คือ ความหวานของมัน ในยุคหมากฝรั่งของ Curtis นั้น ผู้คนเน้นความหวาน ถึงกับนำหมากฝรั่งไปจิ้มกับน้ำตาลไอซิ่งเพื่อให้หวานขึ้นระหว่างเคี้ยว

มาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจยังไม่เห็นประโยชน์ของหมากฝรั่งในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนมาใช้ยางสังเคราะห์และแต่งกลิ่นสี แต่มีการศึกษาวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า การเคี้ยวหมากฝรั่งก็ยังมีข้อดี ในแง่พฤติกรรมและอารมณ์ เพราะช่วยทำให้อารมณ์ดี และมีสมาธิ

ขณะที่ด้านสุขภาพกาย การเคี้ยวหมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาล จะช่วยรักษาความสะอาดในช่องปากและลดโอกาสเกิดฟันผุได้ และช่วยยืดอายุของเหงือกในผู้สูงวัยได้ดี

ที่น่าสนใจก็คือ การเคี้ยวหมากฝรั่งมีประโยชน์กับคนไข้ผ่าตัดช่องท้อง รวมทั้งผู้หญิงที่ผ่าท้องคลอด เพราะการเคี้ยวหมากฝรั่ง ช่วยกระตุ้นระบบทางเดินอาหารของผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดช่องท้องได้ดี

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยที่พบแนวทางการรักษาผู้ป่วยด้วยหมากฝรั่ง ที่ช่วยส่งผ่านยาแบบไม่ต้องกลืน สำหรับคนไข้ที่ไม่สามารถกลืนยาบางชนิดได้ เหมือนกับกรณีของหมากฝรั่งผสมนิโคตินที่ช่วยลดภาวะติดบุหรี่ได้นั่นเอง

XS
SM
MD
LG