ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วัคซีนพ่นจมูกกับความหวังใหม่ในการรักษามะเร็งที่ศีรษะและลำคอ


ปกติเมื่อเซลล์มะเร็งกำลังก่อตัวขึ้นในร่างกาย ร่างกายเราจะสนองตอบด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน แต่บางครั้งภูมิคุ้มกันนั้นอาจอ่อนแอเกินไปจนไม่สามารถหยุดยั้งการกระจายของเซลล์มะเร็งได้ นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามคิดค้นพัฒนาวัคซีนที่ช่วยกระตุ้นระบบการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็งเหล่านั้น

ที่ผ่านมาวัคซีนที่จุดประกายความหวังในเรื่องนี้มากที่สุดมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือวัคซีนมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งผิวหนังชนิดที่เป็นอันตรายที่สุดหรือ metastatic melanoma ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ได้มีการทดลองใช้กับมนุษย์บ้างแล้ว

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาวัคซีนโรคมะเร็งที่ก่อตัวบริเวณเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อระหว่างศีรษะ ลำคอ ปอดและอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งปกติเนื้อเยื่อดังกล่าวจะผลิตของเหลวใสที่ประกอบด้วยสารเคมีบางชนิดเพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ในขณะเดียวกันเยื่อหรือเมือกที่ว่านี้ก็จะไปป้องกันไม่ให้เซลล์ภูมิคุ้นกันออกมาต่อสู้กับเซลล์มะเร็งร้ายได้เช่นกัน ซึ่งวัคซีนที่มีลักษณะเป็นสเปรย์ฉีดจมูกที่นักวิยาศาสตร์กำลังพัฒนาอยู่นี้ จะเข้าไปช่วยสลายเมือกดังกล่าว และช่วยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีชื่อว่า CD8+ เคลื่อนไหวและทำงานได้ดียิ่งขึ้น

คุณ Eric Tartour นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Paris Descarte ในฝรั่งเศส หนึ่งในคณะผู้วิจัยวัคซีนที่ว่านี้บอกว่า ผลการศึกษาเสปรย์ฉีดจมูกที่ใช้กับหนูทดลองที่มีเชื้อไวรัสซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งที่ศีรษะและลำคอ พบว่าเนื้องอกในตัวหนูทดลองมีขนาดเล็กลง และมีเซลล์ภูมิคุ้มกันในบริเวณเนื้องอกนั้นเพิ่มขึ้น

นักวิจัยยังได้เปรียบเทียบระหว่างวัคซีนแบบเข็มฉีดยากับวัคซีนแบบสเปรย์พ่นจมูก พบว่าแบบพ่นจมูกนั้นให้ประสิทธิผลดีกว่าแบบเข็มฉีด สำหรับขั้นตอนต่อไปคือการวิจัยว่าวัคซีนแบบพ่นเข้าจมูกนี้มีผลต่อเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายหรือไม่ อย่างไร

ผลการวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Science Translational Medicine
XS
SM
MD
LG