ลิ้งค์เชื่อมต่อ

“Tiny Toones” องค์กรเอกชนในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ใช้การเต้นเบรคแดนซ์ และเพลง Hip-Hop ดึงดูดเด็กเร่ร่อนตามท้องถนน ให้กลับสู่ห้องเรียน


“Tiny Toones” องค์กรเอกชนในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ใช้การเต้นเบรคแดนซ์ และเพลง Hip-Hop ดึงดูดเด็กเร่ร่อนตามท้องถนน ให้กลับสู่ห้องเรียน
“Tiny Toones” องค์กรเอกชนในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ใช้การเต้นเบรคแดนซ์ และเพลง Hip-Hop ดึงดูดเด็กเร่ร่อนตามท้องถนน ให้กลับสู่ห้องเรียน

กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ถือเป็นหนึ่งในนครที่พบปัญหาเด็กเร่ร่อนหลายพันคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน ออกมาหากินตามท้องถนน และเสี่ยงกับอันตรายนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด โรคติดต่อทางเพศ นอกจากนี้ยังมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับการศึกษา แต่ทุกมีความพยายามขององค์กรเอกชนแห่งหนึ่งที่พบแนวทางใหม่ด้วยการใช้การเต้นเบรคแดนซ์ (Breakdance) และเพลง Hip-Hop เป็นสิ่งดึงดูดให้เด็กๆ ได้กลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง

เด็กๆ ชาวกัมพูชาใน กรุงพนมเปญ มีโอกาสเรียนเต้นเบรคแดนซ์ (Breakdance) จากท่วงทำนองเพลงฮิบ-ฮอป (Hip Hop) กับกลุ่มพี่ๆนักเต้นที่นำชื่อเจ้ากระต่ายการ์ตูนแอนนิเมชั่นชื่อดังในอเมริกา มาตั้งเป็นชื่อองค์กรที่เรียกว่า Tiny Toones - องค์กรซึ่งทำงานเพื่อช่วยเหลือและให้การศึกษาเด็กข้างถนนในกัมพูชา

พวกเขาใช้ห้องเรียนของโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญเป็นสถานที่ฝึกสอนการเต้นเบรคแดนซ์ขั้นพื้นฐานให้เด็กๆที่เคยเร่ร่อนตามท้องถนนหลายสิบคนได้ มีโอกาสกลับเข้าสู่ห้องเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง

นี่คือวิธีการที่กลุ่มอาสาสมัครจาก Tiny Toones ใช้ดึงดูดให้เด็กๆหันหลังจากการร่อนเร่บนถนน ก่อนที่จะสอนให้พวกเขาให้เรียนรู้พิษภัยของยาเสพติด และโรคติดต่อเอชไอวี และอันตรายอื่นๆจากการใช้ชีวิตเร่ร่อนบนท้องถนน

ซาโรม สาราห์ (Sarom Sarah) อาสาสมัครสอนเต้นชาวกัมพูชา ที่เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกขององค์กร Tiny Toones มากว่า 6 ปี บอกว่า เขาเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่นบนถนนที่มักจะก่อเหตุทะเลาะวิวาทอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งมีโอกาสพบกับ “เคเค” หรือ Tuy Sobil ชาวกัมพูชาลูกครึ่งอเมริกันและเป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Tiny Toones มาให้คำแนะนำและเปิดโอกาสให้เขาตัดสินใจเลือกที่จะเปลี่ยนชีวิตตัวเองด้วยการสอนให้รู้จักการเต้นแบบเบรคแดนซ์ จนทุกวันนี้เขาสามารถหันหลังให้กับชีวิตเร่ร่อนบนท้องถนนได้

เช่นเดียวกับ ยิม แมรี่ (Yim Mary) เจ้าหน้าที่องค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้พิการในจังหวัดกัมโพช ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงพนมเปญ ที่แม้จะมีความบกพร่องทางการได้ยิน แต่เธอก็ให้สัมภาษณ์ผ่านล่ามที่แปลภาษามือของเธอถึงเหตุผลการเข้ามาร่วมกับ Tiny Toones ว่า มีส่วนช่วยให้เธอก้าวข้ามขีดจำกัดด้านร่ายกายของเธอได้

คุณยิม บอกว่า ศิลปะการเต้นรำทำให้ทุกคนได้มาอยู่ร่วมกัน และช่วยให้เธอสามารถสื่อสารกับคนอื่นๆได้มากขึ้น แม้เธอจะไม่ได้ยินอะไรเลยก็ตามเพราะเธอสื่อสารด้วยการเคลื่อนไหวของร่ายกาย และการเขียน

ด้าน Tuy Sobil (ตุย โซเบิล)หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เคเค” หรือ ผู้ก่อตั้งองค์กร Tiny Toones ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายกัมพูชาที่เดินทางกลับไปพนมเปญเมื่อปีพุทธศักราช 2547 บอกว่า ในช่วงเริ่มต้นเขาตั้งใจจะช่วยเหลือเด็กๆเร่ร่อนเพียง 9 คนเท่านั้น แต่ตอนนี้กลับมีเด็กๆมาร่วมกับเขามากกว่า 7-8 พันคนแล้ว

เคเค บอกว่าส่วนใหญ่เด็กๆเร่ร่อนส่วนใหญ่จะเกิดและเติบโตในแหล่งเสื่อมโทรมของกรุงพนมเปญ อย่างดีที่สุดก็คิดเพียงจะหาเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการได้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือทำงานตามสถานบันเทิง และนั่นคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาอยากเปิดโลกกว้างให้เด็กๆได้เรียนรู้

ผู้ก่อตั้งองค์กร Tiny Toones บอกว่าถึงเคล็ดลับการทำงานของเขาคือการใช้การเต้นรำที่สนุกสนานมาเป็นสิ่งดึงดูดเด็กๆเร่ร่อนที่โดยปกติไม่ค่อยจะเชื่อฟังคนอื่นมากนัก ให้หันมาเข้าร่วมกิจกรรมที่พวกเขาจัดขึ้น เพราะการได้รู้จักเพลงฮิปฮอป คือก้าวแรกที่ทำให้พวกเขาก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะสอนให้รู้จักคอมพิวเตอร์ และทักษะอื่นๆ ที่พวกเขาสนใจ

ในท้ายที่สุด หนุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายกัมพูชา บอกว่าสิ่งสำคัญคือการพยายามให้เด็กเร่ร่อนเหล่านี้ได้รับรู้ว่ายังมีคนที่คอยเป็นห่วง และอยากจะให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เคเคคาดหวังว่าหากทำได้จริงในวันหนึ่งข้างหน้าท้องถนนในกรุงพนมเปญจะปลอดจากเด็กเร่ร่อนในที่สุด

XS
SM
MD
LG