ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิชาการต่างชาติยกย่องสมเด็จนโรดมสีหนุคือกษัตริย์ผู้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของกัมพูชา


หลังการสวรรคตของสมเด็นนโรดมสีหนุ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้กัมพูชาภายใต้การปกครองของพระองค์คือยุคสมัยอันรุ่งเรืองแต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

สมเด็จนโรดมสีหนุ ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ 2484 โดยเชื่อกันว่าทรงเป็นหุ่นเชิดของฝรั่งเศสซึ่งปกครองกัมพูชาอยู่ในเวลานั้น แต่สมเด็จนโรดมสีหนุทรงกลายเป็นพลังสำคัญในการเรียกร้องอิสรภาพของกัมพูชาจนสำเร็จในปี พ.ศ 2496 จากนั้นทรงสละราชสมบัติเพื่อเข้าสู่วงการเมือง และทรงทำหน้าที่ผู้นำประเทศต่อเนื่องมาอีก 17 ปี ก่อนจะถึงยุคของเขมรแดง

อาจารย์ Milton Osborne อาจารย์รับเชิญที่สถาบัน Lowy ในนครซิดนีย์ และผู้เขียนหนังสือ 2 เล่มเกี่ยวกับสมเด็จสีหนุ เชื่อว่ายุคที่สมเด็จนโรดมสีหนุ ปกครองกัมพูชานั้นถือเป็นยุคทองยุคหนึ่งของชาวกัมพูชา และดูเหมือนประชาชนต่างลืมว่าสมเด็จสีหนุทรงพร้อมเปิดเผยให้เห็นความน่ากลัวต่อฝ่ายที่พระองค์เห็นว่าเป็นศัตรู ซึ่งรวมถึงกลุ่มเขมรแดง

ในช่วงสงครามเวียดนาม รัฐบาลของสมเด็จนโรดมสีหนุถูกกลุ่มทหารปฏิวัติ พระองค์ทรงลี้ภัยไปยังจีนและเกาหลีเหนือและได้ผูกสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งสองประเทศซึ่งเคยเป็นศัตรูเก่า ตามพระราชประสงค์ที่จะกลับมาครองอำนาจในกัมพูชาอีกครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ทำให้เกิดพันธมิตรสำคัญทางการเมืองที่ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงวันสวรรคต ดังที่คุณ Benny Widyono อดีตผู้แทนสหประชาชาติประจำกัมพูชากล่าวไว้

คุณ Widyono ผู้เขียนหนังสือชื่อ “Dancing in Shadows: Sihanouk, the Khmer Rouge, and the UN in Cambodia” ชี้ว่าช่วงที่ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับเขมรแดง สมเด็จสีหนุมักทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่จีนและเกาหลีเหนือ ที่เกาหลีเหนือนั้นผู้นำ Kim Il Sung ได้สร้างปราสาทใหญ่ขนาด 60 ห้องไว้ให้พระองค์โดยเฉพาะและยังมีองครักษ์ส่วนพระองค์ด้วย

ส่วนความสัมพันธ์กับจีน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Ren Xiao แห่งมหาวิทยาลัย Fudan ในเซี่ยงไฮ้ ระบุว่าทางการจีนปฏิบัติต่อสมเด็จสีหนุในฐานะกษัตริย์กัมพูชามาโดยตลอด และทรงมีความสัมพันธ์ส่วนตัวอันดีกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้นคือ ประธานเหมาเจ๋อตุง และนายกฯ โจ เอนไล ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างจีนกับกัมพูชาดำเนินต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังเห็นได้จากจีนพยายามพึ่งพากัมพูชาในการเป็นตัวแทนจัดการข้อพิพาทเรื่องพรมแดนในทะเลจีนใต้ ขณะที่กัมพูชาเองก็ต้องพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้สมเด็จนโรดมสีหนุทรงขึ้นครองราชย์อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ 2536 หลังยุคเขมรแดงด้วยความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ แต่พระองค์มิได้ทรงมีอำนาจเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่อำนาจการปกครองส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีสองคนคือ นายฮุน เซ็น และเจ้านโรดมรณฤทธิ์ คุณ Benny Widyono อดีตผู้แทนสหประชาชาติชี้ว่าการที่พระองค์ไม่สามารถกลับสู่อำนาจการเมืองได้อย่างแท้จริงคือความผิดหวังตลอดช่วงชีวิตที่เหลือของพระองค์

ปี พ.ศ 2547 สมเด็จนโรดมสีหนุทรงสละราชสมบัติอีกครั้งเพื่อให้พระโอรสคือสมเด็จนโรดมสีหมุนีขึ้นครองราชย์แทนด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ แต่อาจารย์ Milton Osborne ชี้ว่าสมเด็จนโรดมสีหมุนีทรงแตกต่างจากพระราชบิดา ผู้เชี่ยวชาญด้านกัมพูชาผู้นี้ชี้ว่าจะไม่มีกษัตริย์องค์ใดอีกที่จะทรงมีบทบาททางการเมืองอย่างมากเหมือนสมเด็จสีหนุ แม้แต่กษัตริย์องค์ปัจจุบัน คือสมเด็จนโรดมสีหมุนีก็ทรงวางพระองค์ไว้ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงอาจกล่าวได้ว่ายุคสมัยของสมเด็จนโรดมสีหนุได้จบลงแล้วอย่างแท้จริง
XS
SM
MD
LG