ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาวพม่าขานรับแนวคิด “โอบามา” สร้างการยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติให้เป็นจุดแข็งของพม่าบนเส้นทางการปฏิรูปประเทศ


ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งเมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามากล่าวยกย่องผู้ที่มีส่วนในการสนับสนุนก้าวแรกๆบนเส้นทางการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่าที่มาจากความฝันให้เป็นความจริงในที่สุดและยินดีที่เห็นพม่าก้าวไปสู่การเมืองภาคประชาชนมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการปล่อยนักโทษการเมือง และเสรีภาพสื่อที่มีมากขึ้น ซึ่งสหรัฐพร้อมจะเป็นผู้สนับสนุนพม่าบนเส้นทางนี้ต่อไป

ขณะเดียวกันก็ระบุว่าพม่ายังสิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข เพราะยังมีผู้บริสุทธิที่ยังจำคุก การแก้ปัญหาความอดอยากยากไร้ รวมไปถึงประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะการเร่งเร้าให้พม่ายอมรับในกลุ่มชาวมุสลิม”โรฮิงจะ” ชนกลุ่มน้อยที่ขัดแย้งกับชาวพุทธในรัฐระขิ่นทางตะวันตกของพม่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 170 คนและอีกมากกว่า 1 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมไร้ที่อยู่อาศัย

Thin Zar Khin Myo Win นักเคลื่อนไหวเพื่อชาวมุสลิมโรฮิงจะ หนึ่งในผู้ฟังสุนทรพจน์ กล่าวว่า ถ้อยแถลงของผู้นำสหรัฐฯนั้นเน้นย้ำคุณค่าของเสรีภาพที่ควรได้รับการยกย่องและถือเป็นแนวทางหลักที่กลุ่มชนชาติหลากหลายในพม่าควรยึดถือ และการที่ผู้นำสหรัฐฯยกประเด็นเรื่องการสร้างความหลากหลายเพื่อการพัฒนาประเทศนั้นถือเป็นแรงผลักดันและเป็นกำลังใจให้ชาวโรฮังจะอย่างมากและถือเป็นสิ่งดีสำหรับพวกเขา

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยในเรื่องนี้ เพราะชาวพม่าส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าชาวโรฮังจะนั้นเป็นผู้อพยพจากประเทศบังคลาเทศที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย และมักจะถูกกล่าวอ้างถึงในภาพลักษณ์ที่ไม่ดีจากสื่อทางการของพม่าอยู่เสมอ

ด้าน Oo Hla Zaw โฆษกของพรรคเพื่อการพัฒนาชาวระขิ่น กล่าวว่าถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสหรัฐที่พูดถึงรัฐระขิ่นนั้นไม่ถูกต้องและห่างไกลจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในรัฐระขิ่นมากทั้งในด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และแน่นอนว่าคำพูดดังกล่าวทำให้พวกเขาผิดหวัง

ด้าน Thant Myint U นักวิเคราะห์การเมืองและนักเขียนหนังสือชาวพม่า บอกว่า การชูประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติจะเป็นสิ่งละเอียดอ่อนในพม่า โดยเฉพาะในประเด็นของชาวโรฮิงของผู้นำสหรัฐเป็นสิ่งที่ไม่เหนือจากความคาดหมาย

นักวิเคราะห์ชาวพม่า บอกด้วยว่า เป็นเรื่องดีที่ผู้นำสหรัฐแสดงจุดยืนที่นำบริบทในภาพรวมของพม่าที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมามองให้เป็นพลังที่แข็งแกร่งมากกว่าจะปล่อยให้เป็นจุดอ่อนเหมือนที่เป็นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประธานาธิบดีโอบามาทำได้ดีที่พยายามเชื่อมโยงไปถึงประวัติศาสตร์การสร้างประชาธิปไตยของอเมริกาที่ครั้งหนึ่งก็เคยมีปัญหาในเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติด้วยเช่นกัน

Ko Ko Gyi อดีตผู้นำนักศึกษาและอดีตนักโทษการเมืองจากเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาปี คริสศักราช 1988 กล่าวว่า ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีโอบามาในครั้งนี้มีพลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันพม่าในทางที่ดีขึ้น

ซึ่งแม้จริงๆแล้วการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพม่าควรจะมาจากคนภายในประเทศด้วยกันเอง แต่หากได้รับความช่วยเหลือและความเข้าใจจากผู้นำของประเทศมหาอำนาจของโลกในการปฏิรูปประเทศก็ถือเป็นเรื่องสำคัญมากพอๆกับแรงสนับสนุนที่จะต้องมาจากนานาชาติ




XS
SM
MD
LG