ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พม่าอาจจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ซ้อมรบนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิคเป็นครั้งแรกโดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ


กระทรวงกลาโหมสหรัฐสบับสนุนแผนของประเทศไทยที่จะเชิญพม่าเข้าร่วมสังเกตการณ์การซ้อมรบ Cobra Gold ในประเทศไทย เป็นครั้งแรก ซึ่งจะมีทหารมากกว่า 10,000 นายเข้าร่วมจากสหรัฐและประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปฏิบัติการ Cobra Gold เป็นการซ้อมรบของกองกำลังนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้

ในเรื่องนี้ คุณ John Blaxland ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ Strategic and Defense Studies Center ที่มหาวิทยาลัย Australian National University กล่าวว่านโยบายที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพม่าได้อย่างได้ผลต้องโยงความร่วมมือทางทหาร เพราะสถาบันทหารในพม่าเป็นเสาหลักของประเทศ

เขากล่าวว่าคำเชิญให้พม่าเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ Cobra Gold เป็นเหมือนคำชมหรือเกียรติคุณแก่กองทัพพม่า ซึ่งเดิมทีตัดขาดจากประเทศเพื่อนบ้านมานาน นอกจากนั้น ยังเป็นผลดีต่อความมั่นคงของภูมิภาค แม้การเข้าร่วมครั้งนี้จะเป็นเพียงในฐานะผู้สังเกตการณ์ก็ตาม

คุณ Blaxland วิเคราะห์ว่าเป็นที่ชัดเจนว่า พม่าต้องการกระจายความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศในภูมิภาคให้ทั่วๆกัน
พม่านั้นมีความร่วมมือกับจีนในด้านต่างๆอย่างแนบแน่น ขณะที่อินเดียก็เคยต้องการสานสัมพันธ์ด้วย ขณะที่การเป็นสมาชิกองค์การ ASEAN ได้เปิดประตูหลายบานให้พม่ามีโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคนี้มากขึ้น

นักวิเคราะห์ผู้นี้เห็นว่า การเป็นส่วนหนึ่งของ Cobra Gold เป็นก้าวที่สำคัญของพม่า เพราะเป็นก้าวที่พม่าเดินออกจากสภาพที่ปิดตัวมาเป็นเวลานาน หลักจากที่อเมริกาสนับสนุนการปฏิรูปทางประชาธิปไตยของพม่าด้วมมาตรการหลายด้าน ในสัปดาห์นี้จะมีเจ้าหน้าที่สหรัฐด้านการทหารและสิทธิมนุษยชนเดินทางไปเยือนพม่า

อาจารย์ Tin Muang Than แห่ง Institute of Southeast Asia Studies ในประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่านโยบายเข้าหาพม่าโดยใช้ความร่วมมือทางทหารเป็นตัวเชื่อมถือเป็นการต่อยอดแบบปกติจากความร่วมมือภาคประชาชนมาแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นการปรับดุลยภาพในเขตอิทธิพลของจีน

นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า ปกติแล้วสหรัฐสนับสนุนความร่วมมือทางการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคืออย่าทำอย่างข้ามหน้าจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การเข้าสานสัมพันธ์ทางทหารกับพม่าควรมีเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่ทหารต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย คุณ Matthew Smith แห่ง หน่วยงาน Human Rights Watch กล่าวว่า ทหารพม่ายังคงกดขี่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนกลุ่มน้อย

เขากล่าวว่า ดูเหมือนว่าจะมองโลกในแง่ดีเกินไปที่จะคิดว่า ทหารพม่าขณะนี้จะกลายเป็นทหารอาชีพเพียงแค่เพราะว่าทางการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศที่มีระบบการทหารแบบทันสมัย ซึ่งคุณ Smith กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางบวกเกี่ยวกับการปรับปรุงที่จะนำไปสู่ความโปร่งใสและการเอาผิดได้ในหมู่ทหารพม่า

โปรดติดตามรายละเอียดจากคลิปเรื่องนี้ในรายการข่าวสดสายตรงจากวีโอเอ

รายงานโดย Danielle Bernstein /เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท
XS
SM
MD
LG